'คราฟต์' แค่ไหน ถามใจดู

'คราฟต์' แค่ไหน ถามใจดู

เมื่อกิจกรรมปั้นดิน ปักผ้า ย้อมคราม เพนต์สีน้ำ ทำสบู่ ได้กลายพันธุ์สู่ 'The new mass' คำถามถึงการคราฟต์อย่างมี 'คุณภาพ' จึงเกิดขึ้นตามมา

ถ้างานอดิเรกจำพวกปักผ้า ถักนิตติ้ง ปั้นเซรามิก ไปจนถึงงานอาร์ตแขนงอื่นๆ อยู่ใต้ร่มของคำว่า 'Crafts' นอกจากการ 'ทำมือ' ที่ถือเป็นใจความหลัก ภายใต้ร่มเดียวกันนั้นยังประกอบด้วยความยาก ความละเมียด ละเอียด ดิบ มีความเฉพาะตัว ฯลฯ อยู่ในความคิดของคนทั่วไป

แต่รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่ใส่ใจใน 'อัตลักษณ์' ใครๆ ก็อยากแตกต่าง เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่กระแสอินดี้ สู่วิถีฮิปสเตอร์ ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการจาก The niche สู่ The new Mass

งานคราฟต์ก็เช่นกัน จากที่เคยว่ากันด้วย 'ทักษะ' การสั่งสมความชำนาญ ก็เริ่มถูกตัดทอนให้สะดวกมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้คน โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ รูปแบบการใช้ชีวิต 'กึ่งสำเร็จรูป' ของผู้คนส่วนใหญ่ที่เน้นรวดเร็ว แต่ไม่ลึกซึ้ง และนำมาสู่ 'ปรากฏการณ์เวิร์คชอป' ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปรากฏการณ์ 'สังคม 10 วิ'

"งานคราฟต์กลับเข้ามาสู่ผู้คนในรูปของ 'กิจกรรม' ก่อนลงมาอีเวนต์ในนามของ 'เวิร์คชอป' เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ มีความซิมเปิลมากขึ้น ไม่เน้นให้คนทำเป็นจริงๆ แต่เพื่อเป็นประสบการณ์สำเร็จรูปที่พอทำแล้วก็ถ่ายรูป แชร์บนเฟซบุ๊ค ตรงจุดนี้ได้กลายเป็นเป้าหมายที่ลูกค้าของบริษัทเราเองก็เรียกร้องมากขึ้นให้มีเวิร์คชอปในอีเวนต์ เพราะมันเกิดการแชร์ต่อได้" พันธวิศ ลวเรืองโชค นักออกแบบนิทรรศการ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อะโพสโทรฟีเอส กรุ๊ป จำกัด อธิบายถึงปรากฏการณ์เวิร์คชอปที่เพิ่มจำนวนขึ้นในฝั่งของอีเวนต์

"การฟังเพลงจากการเล่นแผ่นเสียง เมื่อก่อนมันจะต้องมีพิธีรีตองมาก แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา การฟังแผ่นเสียงก็เริ่มลดลง ย้ายมาสู่เทป ซีดี แล้วก็สตรีมมิ่ง ตามลำดับ แต่ทีนี้ พอมันถึงจุดสูงสุดของการฟังง่ายๆ แล้ว คนก็วกกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ แผ่นเสียง เพียงแต่การตีกลับในครั้งนี้ มาในรูปของกิจกรรม ไม่ใช่แค่การฟังเพลง" เขายกตัวอย่างการกลับมาของแผ่นไวนิลที่กลายมาเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน

ขณะที่เทคโนโลยีเคยพัดพาการผลิตอย่างประณีตให้ตกขอบไปด้วยการผลิตในปริมาณที่มาก และราคาที่ถูกลง วันนี้เทคโนโลยีก็พัดเอาสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมา ด้วยความง่าย และสะดวกในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร

"เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันให้เกิดการผลิตในลักษณะที่เรียกว่า mass customized ได้ ซึ่งมันตอบโจทย์คนในวันนี้ ที่ต้องการคราฟต์เพื่อแสดงตัวตน เขาไม่ได้คาดหวังว่า คราฟต์จะเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของชีวิต เพียงแต่ต้องการทำแล้วแชร์สู่สังคม" พันธวิศ อธิบาย

จึงไม่น่าแปลกใจที่ทิศทางของการผลิตชิ้นงานในสายคราฟต์ยังแรงไม่ตก และมีผู้เล่นเข้ามาสู่วงจรคราฟต์ๆ หลายบทบาทมากขึ้น ทั้งฝั่งองค์กรธุรกิจที่หยิบงานคราฟต์มาเป็นกิมมิคของงานอีเวนต์ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยก็พยายามสร้างสรรค์งานที่มีลักษณะของ Co-creation ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เช่นจะซื้อน้ำหนึ่งแก้ว แค่สั่งแล้วจ่ายเงินยังไม่พอ แต่จะต้องดีไซน์ฉลาก หรือเลือกส่วนผสมในแบบของตัวเองอีกด้วย

ยิ่งเมื่อได้กำลังหนุนอย่างตลาดนัดแนวอาร์ต (Flea market) ที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งพันธวิศ เล่าว่า เขาและทีมงานได้ลองเก็บข้อมูลดูถึงรูปแบบกิจกรรมที่แต่ละตลาดสร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดขาย และพบว่า หนึ่งในจุดขายที่ทุกตลาดต้องมี คือ "เวิร์คชอป"

ขณะที่ฝั่งคราฟต์ สตูดิโอ หรือ เมคเกอร์ สเปซ ที่กำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ใครๆ ก็อยากเข้ามาลงทุนนั้น ก็จำเป็นต้องเปิดตลาด ขยายฐานลูกค้าด้วยเวิร์คชอปเก๋ๆ เพื่อเรียกลูกค้าให้เข้ามาลิ้มรสของการคราฟต์ว่า ไม่ยากเย็นอย่างที่คิด ทั้งหมดจึงเป็นแรงเสริมต่อกันและกัน

"เวิร์คชอปเข้าไปอยู่ในทุกๆ คอมเมอร์เชียลสเปซ ไม่ใช่แค่ตลาดแล้ว ห้างสรรพสินค้าก็มี ร้านค้า หรือโปรดักต์ก็ทำ โดยเวิร์คชอปเป็นการให้ Stunt Experience เป็น Exclusive Experience ที่ทำแล้วไม่เหมือนใคร แถมยังได้ของกลับบ้าน ที่สำคัญ คือ ได้แสดงถึง personality ของคนนั้นๆ และยังพุ่งตรงไปที่โซเชียลได้ทันที เมื่อสร้างของที่เป็นของตัวเองเสร็จก็โชว์" เขาเอ่ย

ยุคทอง 'คราฟต์ สเปซ'

การเปิดพื้นที่เพื่อกิจกรรมคราฟต์ๆ ทั้งในรูปของรีเทล สตูดิโอ หรือ โคเวิร์คกิ้งสเปซ ที่เพิ่มมากขึ้นยืนยันถึงขาขึ้นของงานคราฟต์ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การปรับตัวของร้าน บีทูเอส ที่สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ในชื่อ THINK SPACE B2S

สมชัย ถาวรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีทูเอส จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ 'จุดประกาย' ถึงการลงทุน 400 ล้านเพื่อร้านในรูปแบบใหม่ว่า สืบเนื่องจากพฤติกรรมของคนสมัยใหม่ ที่ใช้เวลากับสื่อดิจิทัลค่อนข้างมาก ทำให้ผู้คนต้องการความผ่อนคลายมากขึ้น และมีความเป็น Personalization บริษัทฯ จึงเอาอินไซต์ดังกล่าวมาปรับปรุง

"บีทูเอส ให้ความสำคัญกับส่วนของอาร์ต, คราฟต์ และดีไซน์ มากขึ้น โดยเราทำตัวเองให้มีความเป็น Third place ด้วย ชวนคนมาสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้มีการลงมือทำ เพราะเทรนด์โลกก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในจุดนี้ แม้กระทั่งผู้ชายเอง ยังเอากางเกงยีนส์มาตกแต่ง หรือไม่ก็ชอบอยู่กับบ้าน แต่งบ้าน นอกจากนี้ เทรนด์ของการดัดแปลงประยุกต์ใช้สิ่งของที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ให้เกิดงานใหม่ ในแบบที่เรียกว่า Upcycling ก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกัน"

นอกจากนี้ ยอดขายหนังสือกลุ่มไลฟ์สไตล์ และ DIY รวมถึงสินค้ากลุ่มสเตชันนารีที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องของบีทูเอส ยังเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ทำให้เขาเชื่อว่า "เดินไม่ผิด"

"เทรนด์ของการทำงานคราฟต์ที่คนจะไม่นั่งทำอยู่ที่บ้านคนเดียว แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นชุมชนมากขึ้นเราจึงต้องการเป็น เมคเกอร์ สเปซ ให้คนที่สนใจมาใช้พื้นที่ของเราในการทำงาน นอกจากนี้ก็มีแผนจะจัดกิจกรรมเวิร์คชอปต่อเนื่องมากขึ้น ในร้านบีทูเอสสาขาหลักๆ ไม่ใช่เฉพาะที่ อีสต์วิลล์เท่านั้น" สมชัยเอ่ย

ไม่ต่างกันกับบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อย่าง แสนสิริ ที่เพิ่งเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์ "ฮาบิโตะ" ที่สุขุมวิท 77 ก็ได้มีความร่วมมือกับโคเวิร์คกิ้งสเปซชื่อดังอย่าง "ฮับบา" เปิดเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซที่เสริมด้วยพื้นที่เวิร์คชอป อาทิ ห้องปั้นเซรามิก, ห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม, เมคเกอร์สเปซ และ ห้องฉายหนัง ในชื่อว่า "ฮับบาโตะ"

อุทัย แสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าถึง แนวคิดตั้งต้นว่า ปกติ บริษัทฯ ทำคอมมูนิตี้มอลล์ก็เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าของบริษัทเอง แต่สำหรับที่เอกมัย เนื่องจากเห็นศักยภาพในทำเล โดยเฉพาะพื้นที่ในลักษณะของ โคเวิร์คกิ้ง สเปซ จึงเกิดความร่วมมือกับ HUBBA เพื่อใช้พื้นที่ 2 ชั้นของอาคารสร้างฮับบาโตะขึ้น

"แต่ที่นี่ เราเน้นการสร้างงานศิลปะด้วย เพราะสำหรับตัวแสนสิริเองมีความชัดเจนเรื่องไลฟ์สไตล์ และงานคราฟต์อยู่แล้ว ที่ผ่านมา เรามีการร่วมมือทำงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นระยะๆ แล้วเราก็เห็นทิศทางว่า งานอาร์ต และงานคราฟต์กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น เราจึงกิจกกรมเวิร์คชอปให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอหรืออย่างการจัดเซลส์อีเวนต์ก็เช่นกัน ที่เรามักจะใส่กิจกรรมเวิร์คชอปเหล่านี้ลงไปด้วย เช่น จัดดอกไม้ หรืองานดีไซน์อื่นๆ"

คราฟต์แล้วไปไหน

ระหว่างกระแสงานคราฟต์กำลังดีวันดีคืน ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่บ้างว่า การเติบโตที่เกิดขึ้นนั้น จะ "ดี" ต่อแวดวงงานคราฟต์ และชาวคราฟต์(แท้ๆ)จริงหรือไม่ โดยเฉพาะการขยับจากคราฟต์บ้านๆ ขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในวงล้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า

นรฤทธิ์ หอมรังสฤษดิ์ ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ DOODDOT นิตยสารออนไลน์ที่นำเสนอเนื้อหาไลฟ์สไตล์ กินดื่มเที่ยว ให้ความเห็นถึงโอกาสเติบโตของงานคราฟต์ในบ้านเราว่า "สำหรับฝั่งผลิต ก็มีทั้งสินค้า อาหาร เซอร์วิสต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีคุณภาพในระดับอินเตอร์ สแตนดาร์ด เรามีเด็กไทยที่ทำงานเครื่องหนังได้พรีเมียมมากๆ เรามีกาแฟพรีเมียม ผมคิดว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราคือผู้นำ แต่คนกลุ่มนี้ มีแต่ทางลึกไม่ได้มีความกว้าง ถ้านายทุนอยากจะเอาเงินมาลงให้ พวกเขาอาจตกใจและตั้งรับไม่ทัน มันเลยทำให้คราฟต์ยังคงอยู่ในกลุ่มเล็กๆ" เขากล่าว

พร้อมเสริมว่า ในระดับนานาชาติ งานคราฟต์ หรือ สินค้านอกกระแส ถือว่ามาแรงมาก

"ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งชื่อดังอย่าง Kickstarter จะเห็นว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของไอเดียเจ๋งๆ บนนั้น คือ โปรดักต์เด็กแนว หรือสินค้านอกกระแสทั้งหลาย แต่ย้อนมาดูบ้านเรา ด้วยความที่งานคราฟต์มันใหม่มากๆ มันเลยทำให้คราฟต์กลายเป็นแค่เครื่องมือสร้างความหวือหวา แต่ไม่ได้แสดงถึงคุณค่าที่แท้จริง เช่น ฟู้ดทรัคเคยฮิตมากในช่วงหนึ่ง อีเวนต์ไหนๆ ก็ต้องหาฟู้ดทรัคมาลง ก็เริ่มเข้าสู่การแข่งขัน และตัดราคา เจ้าไหนราคาถูก เจ้าของงานก็จะจ้างมา ทั้งๆ ที่อาจไมได้ดูคุณภาพของสินค้าเลยก็ได้

อีกประเด็นคือ งานคราฟต์ของบ้านเรามีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ อาหารอย่าง 'เมี่ยงคำ' มันเป็นอะไรที่โคตรคราฟต์ แล้วยังต้องเอ็กซ์พีเรียนซ์ด้วยตัวเองอีกด้วย จะใส่เครื่องแค่ไหนก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน มันคือ คราฟต์แมนชิปที่ฝรั่งเห็นแล้วร้องว้าว แต่เรา (คนไทย) กลับเห็นแล้วเฉยๆ แวลูว์ของงานคราฟต์มันเลยไม่เกิด"

"คราฟต์ในระดับฉาบฉวย" จึงเป็นสิ่งที่เขากังวลว่า อาจจะเข้ามาแทนที่ หรือบิดเบือนภาพแท้ๆ ของงานคราฟต์ตัวจริงไป พร้อมกันนี้ ยังมองว่า "นักลงทุน" ถือเป็นตัวแปรสำคัญหากจะวาดอนาคตให้กับงานคราฟต์

เพราะงานคราฟต์จะเกิดเป็นธุรกิจได้จริงหรือไม่นั้น นักลงทุนต้องมองเห็นคุณค่าและยอมลงทุนกับ “ทักษะ” ที่คนกลุ่มนี้มี