สำเนียงท้องถิ่นโกอินเตอร์ฯ

สำเนียงท้องถิ่นโกอินเตอร์ฯ

วิวาทะบนความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัยที่น่าจับตามากที่สุดในเวลานี้

 เหตุเกิดเมื่อปีที่แล้ว ในห้องประชุมของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง ที่ดูแลงานด้านศิลปวัฒนธรรม

ภายในห้องสี่เหลี่ยมแห่งนั้น ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2-3 ท่าน และนักดนตรีกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปยื่นเอกสารขอการสนับสนุนงบประมาณเดินทาง (ตั๋วเครื่องบิน) จำนวน 200, 000 บาท (รวม 5 คนเฉลี่ยคนละ 40,000 บาท) เพราะพวกเขาได้รับเชิญให้ไปแสดงในเทศกาลดนตรีฤดูร้อนที่ยุโรปในเมืองต่างๆ หลายสิบงานด้วยกัน

หัวข้อสนทนาสั้นๆ พอจับสาระได้ดังนี้

 “เวลาไปแสดง พวกคุณแต่งตัวอย่างไร อัตลักษณ์ของความเป็นไทยอยู่ไหน แล้วคนดูจะรู้ได้อย่างไรว่า คุณคือคนไทย”

  “ถ้าเราไม่สามารถสนับสนุนเงินช่วยค่าเดินทางได้ พวกคุณยังคิดจะไปกันอีกมั้ย”

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะนัดหมายพบผู้ใหญ่เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์อันดีงามของการไปเผยแพร่ดนตรีไทยในต่างแดน ทว่า แม้จะได้รับโอกาสนั้น ก็ยังไม่มีเงินช่วยเหลืออยู่ดี แต่วงดนตรีวงนั้น ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าต่อ ด้วยการกัดฟันไปโชว์ในยุโรปนานร่วม 2 เดือนในปี 2015

เหนืออื่นใด พวกเขาแสดงต่อหน้าผู้ชมตัวจริง ในอีเวนท์ทางดนตรีที่เกิดขึ้นจริงๆ มิใช่ “อีเวนท์จัดฉาก” อย่างที่หน่วยงานภาครัฐนิยมทำกัน เวลาพานักดนตรีนักแสดงไปโชว์ในต่างแดน

วงดนตรีที่เรากำลังพูดถึง คือ วง “เดอะ พาราไดซ์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์” (The Paradise Bangkok Molam International Band) ซึ่งนับจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้ พวกเขาตอกย้ำความสำเร็จในการนำ “สำเนียงท้องถิ่นโกอินเตอร์ฯ” อีกครั้ง ด้วยการปักหมุดได้แสดงบนเวทีหลักของเทศกาลดนตรีกลางแจ้ง ที่ได้ชื่อว่า “ใหญ่ที่สุดในโลก” นั่นคือ “กลาสตันบัวรี” ในประเทศอังกฤษนั่นเอง

 

-1-

 ปี 2016 “เดอะ พาราไดซ์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์” เริ่มต้นทัวร์ปี 2016 เมื่อ 27 พฤษภาคม 2016 ที่เมืองบูคาเรสต์ โรมาเนีย พวกเขาใช้เวลาทัวร์ในยุโรปอีกหลายเมืองด้วยกัน โดยมีเวทีWest Holts Stageของเทศกาล Glastonbury Festival เป็นไฮไลต์สำคัญ กำหนดแสดงในวันศุกร์ที่24มิถุนายน 2016ที่ผ่านมา

West Holts Stageนับเป็นหนึ่งในเวทีหลักของเทศกาลดนตรีชื่อดังนี้ โดย เดอะ พาราไดซ์ บางกอกฯ ได้ร่วมเวทีกับศิลปินหลากหลาย อาทิ เช่นEarth, Wind & Fire / James Blake / Underworld / Gary Clark Jrและอีกมากมาย

ปิย์นาท กรัดศิริ โชติกเสถียร มือเบสแห่งวง เดอะ พาราไดซ์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนลแบนด์ (มือกีตาร์วงอพาร์ตเมนต์คุณป้า) บอกเล่าว่า จากการทัวร์ในปีนี้ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้กันและกันมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีปัญหาในเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย หรือมุมมองทางดนตรีแต่อย่างใด

แม้ในวง จะมีหมอแคน หมอพิณ มือเบส และมือกลอง ที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน แต่พวกเขาได้ข้ามผ่านเงื่อนไขเหล่านั้นมาแล้ว และสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลจากการเดินทางไปในเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบที่ใหม่สดในการทำเพลง จนกลายมาเป็นอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อว่า Planet Lam ซึ่งบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดออกวางขายในเดือนตุลาคม ศกนี้

ในห้วงเวลาใกล้ๆ กัน กับการอุบัติขึ้นของ เดอะ พาราไดซ์ บางกอกฯ ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ศิลปินเลือดอีสาน อย่าง รัสมี เวระนะ และความเป็น “อีสาน โซล แจ๊ส” ของเธอ ก็ได้สร้างสีสันให้แก่วงการเพลงไทยร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย ไม่เพียงแค่รางวัลคมชัดลึกอวอร์ดที่เธอได้รับเมื่อต้นปี แต่การแสดงสดของนักร้องสาวคนนี้ ก็ยังเรียกความสนใจจากมิตรรักแฟนเพลง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อย่างเหนียวแน่น และกำลังมีฐานแฟนเพลงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

ตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่ง คือการได้รับเชิญจากโปรโมเตอร์ต่างประเทศให้ไปโชว์ฝีมือไม้ลายมือการแสดงสดในต่างแดน เช่นเดียวกันกับวง เดอะ พาราไดซ์ บางกอกฯ นั่นเอง นับเป็นการก้าวสู่เวทีโลกของบทเพลงสำเนียงท้องถิ่น ชนิดที่หน่วยงานทางวัฒนธรรมของภาครัฐเอง ยังไม่สามารถสร้างกระแสได้มากขนาดนี้มาก่อน

พรเทพ เฮง นักวิจารณ์ดนตรีแถวหน้าของไทย วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่า

“สำหรับหน่วยงานภาครัฐ มีแค่ชุดความคิดเรื่องการอนุรักษ์แช่แข็งของเก่าที่มีสุนทรียศาสตร์อยู่ชุดเดียว รวมถึงขาดความเข้าใจและวิสัยทัศน์เรื่องดนตรีที่สามารถผสมผสานและมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย จากของเก่าแบบเทรดิชั่นหรือคลาสสิกไทย ให้วิวัฒน์สู่ความร่วมสมัย”

“(ภาครัฐ)ไม่มีนักบริหารและนักจัดการทางวัฒนธรรมตรงนี้ หรือให้การสนับสนุน ถึงมีก็ทำแค่อีเวนต์ผ่านเลยไป ไม่มียุทธศาสตร์ระยะสั้นหรือยาวเพื่อความยั่งยืน ทั้งที่ดนตรีร่วมสมัยเหล่านี้ เป็นทุนวัฒนธรรม(ของเราเอง)ที่ต่างชาติทำไม่ได้ เพราะคือเรื่องจิตวิญญาณเก่ากับใหม่ที่ผสมผสานกันเป็นความร่วมสมัย โดยเชื่อมผู้คนในรุ่นต่างๆ ในสังคมผ่านดนตรีและบทเพลงเหล่านี้”

 

-2-

ท่ามกลางวิวาทะว่าภาครัฐควรส่งเสริมสนับสนุนศิลปินไทยอย่างไร ในการก้าวออกบนเวทีโลก ในลักษณะของการส่งออกทางวัฒนธรรมนั้น นักวิชาการทางด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.คมธรรม ดำรงเจริญ แสดงความเห็นอย่างแสบๆ คันๆ ว่า

“ถ้ามองว่าทั้ง 2 กลุ่ม คือ วง(ดนตรีที่นำเสนอ)สำเนียงท้องถิ่น กับองค์กรภาครัฐ พยายามก้าวข้ามพรมแดนประเทศไทยออกไป ทั้งคู่ก้าวออกไป แต่ก็ขึ้นฝั่งหรือพยายามขึ้นฝั่งกันคนละที่”

“การก้าวสู่อินเตอร์ของวงเหล่านี้ เป็นในลักษณะการก้าวไปสู่ผู้ฟังเฉพาะกลุ่มมากๆ ในขณะที่ สิ่งที่ภาครัฐผลักดันนั้น เป้าหมายเป็นในลักษณะวงกว้างกว่า ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าหมอลำ หรืออื่นๆ จะใหญ่ได้เท่า แทงโก , บอสซา แต่ก็น่าจะเกิดกลุ่มคนฟังจำนวนหนึ่งแต่เฉพาะกลุ่มมากๆ ในต่างแดน”

“ยังไงก็ปล่อยให้รัฐไทยสนับสนุน ร้อยมาลัย แกะผลไม้ หรือโขนต่อไป เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของรัฐไทยจริง คือเป็นของรัฐ ไม่ได้เป็นของคน”

ด้าน ชุมชน สืบวงศ์ อาจารย์ นักดนตรี (แซ็กโซโฟน/แคน) กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาดนตรีวิทยา ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเสนอในอีกมุมมองว่า

“ส่วนตัวผมเห็นว่า สุ้มเสียง สำเนียง ลีลาของเพลงท้องถิ่นอีสาน ทั้งที่เป็นเพลงบรรเลง และเพลงขับร้อง (ลำ) นั้น มีความไพเราะ มีเสน่ห์ ความสนุกตื่นเต้นเร้าใจหลากหลายอารมณ์ ตามแต่ศักยภาพของนักร้องนักดนตรี ด้วยองค์ประกอบทางดนตรีที่สำคัญของจังหวะ การประสานเสียง และการด้นสด”

“ผมคิดว่า การผลักดันให้สู่ความเป็นสากลสามารถทำได้ เพราะตอนนี้เรามีสถาบันที่เปิดสอนเรื่องนี้ มีผู้รู้ผู้ชำนาญที่มีความสามารถ มีศักยภาพสูงตามท้องถิ่นอยู่มากมาย แต่ไม่มีโอกาสหรือว่าชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเพชรแท้ที่มีประสบการณ์ที่เรียนรู้สืบทอดต่อๆ กันมาแบบมุขปาฐะ แบบครูพักลักจำ”

“จากประสบการณ์ที่เคยไปโชว์ต่างประเทศ ทุกๆ ครั้งที่ได้โชว์เพลงอีสาน สุ้มเสียงนี้ ลีลาอารมณ์เพลงอย่างนี้ มันดึงดูดคนจริงๆ ไม่ใช่แค่ต่างชาติ แม้กระทั่งคนไทยภาคอื่นๆ หลายคนพอได้ยินได้ฟังซาวด์แบบนี้ก็จะคล้อยตาม สีสันของการรวมวงก็น่าจะมีส่วนไม่น้อย เพราะเป็นวงดนตรีที่มีดีด สี ตี เป่าครบ มีความหลากหลายของโทนคัลเลอร์ หลากสี และแต่ละสีของเครื่องนั้นๆ ก็สามารถทำได้หลากหลายอารมณ์ ทั้งสนุก ทั้งเศร้า ครบรส”

นักแคน อย่าง ชุมชน สืบวงศ์ ตอกย้ำเสน่ห์ของสำเนียงเพลงท้องถิ่น ก่อนทิ้งท้ายว่า

“คอนเน็คชั่นการเข้าถึงงานอีเวนท์ในระดับสากลได้นั้น จะเป็นสิ่งดีที่เปิดทางให้คนรุ่นใหม่คนรุ่นหลังได้เดินต่อไป ผมคิดว่าหน่วยงานทางภาครัฐที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย น่าจะเข้ามาช่วยในเรื่องงบประมาณหรือการจัดการส่งเสริมในเรื่องนี้ให้แผ่ขยายออกไปสู่ตลาดสากล”

 

-3-

โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ยุทธศาสตร์ในการผลักดันงานวัฒนธรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย ในยุคสมัยที่ไทยกำลังเห่อกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำแคมเปญต่างๆ ออกมาดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ในเวลาเดียวกัน อาจจะลืมไปว่า วัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์นั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเขตแดนเดิมๆ อีกต่อไป และต้องการการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจน ดังมุมมองของ พรเทพ เฮง ต่อพัฒนาการของเทคโนโลยีในเรื่องนี้

“ผมว่ายุคนี้เป็นยุคที่แบ่งคนฟังที่ชัดเจนมากกว่า เพราะตลาดเพลงได้จำแนกกลุ่มไปตามการตลาดเรียบร้อยแล้ว จากกลไกธรรมขาติของยุคดิจิทัล ที่คนสามารถเข้าถึงการฟังเพลงไม่ต้องผ่านตัวกลาง คือช่องทางสื่อของค่ายเพลงแบบแมสยุคแอนาล็อก รวมถึงมีการส่งข่าวแบ่งปันหรือแชร์ในหมู่รสนิยมคนรสนิยมเดียวกัน จึงมีคอมมูนิตี้ที่ชัดเจน ต่างจากยุคแอนาล็อก ทั้งที่ดนตรีหรือบทเพลงแบบเวิร์ลด์บีทมีมาตั้งแต่ยุทศวรรษที่ 80 ภายใต้การปลุกกระแสของPeter Gabrielแห่งวงGenesisที่สถาปนาWomad สร้างเวิร์ลด์มิวสิคให้มีรสใหม่ร่วมสมัย จากเทรดิชั่นมิวสิค หรือดนตรีประเพณีนิยมในแต่ละประเทศ”

“ในไทย ก็เคยมีความพยายามจาก ทอดด์ ทองดี หรือนักร้องสายสยามกลการที่นำเพลงI Will Surviveมาร้องแบบหมอลำ แต่มาเร็วไปหน่อย แน่นอนกระแสจาก เดอะ พาราไดซ์ บางกอกฯ ก็มีส่วนเสริมอย่างมาก เพราะของไทย ถ้าไปดังเมืองนอกมา คนไทยจะเห่อและตื่นเต้น แต่โดยพื้นฐานของเขาก็ดี และมีการวิวัฒน์ทางดนตรีอยู่แล้ว”

 ศักดิ์สิทธิ์ ราชรักษ์ ประธานหลักสูตรดนตรีและธุรกิจบันเทิง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า

“ประเด็นแรก เราปฏิเสธเรื่องกระแสไม่ได้ เพราะตอนนี้กระแสมาจริงๆ ด้วย trendโลกตอนนี้ สังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างมีคุณค่า และมี storyที่มาที่ไป ข้อได้เปรียบของวัฒนธรรมเพลงอย่างหมอลำของเราสะท้อนผ่านมุมมองความเป็นvery thaiไม่ว่าจะเป็นตัวโน้ตที่เป็นแบบเฉพาะRhythmที่มีความสนุก รวมทั้งเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นให้ร่วมสมัย จึงทำให้เกิดความน่าสนใจกับชาวต่างชาติ”

“สอง-ประเด็นด้านความยั่งยืน ผมมองว่าเป็นไปได้สูง แต่อาจจะต้องบูรณาการพัฒนาพร้อมกันทั้ง 3 ส่วน คือ ด้านการนำเสนอเพลงให้บูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ , การผลักดันเรื่องการศึกษา งานวิจัยเพลงท้องถิ่นที่มีมากมายให้เป็นในเชิงนวัตกรรม ประสมpop cultureและ ส่งเสริมแหล่งชุมชนดนตรีท้องถิ่นต้นน้ำให้มีความสำคัญ พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นชุมชนวัฒนธรรมดนตรีบ่งชี้ด้านภูมิศาสตร์ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นภาพร่วมกัน ผมเชื่อว่าเราจะมีMusic brand identityที่ชัดมากและมีคุณค่าสุดๆ”

ผลลัพธ์จาก เดอะ พาราไดซ์ บางกอกฯ นับเป็น “กรณีศึกษา” ที่น่าสนใจในเวลานี้ เพราะหลังจากนำเสนออัตลักษณ์อีสาน ความเป็นสำเนียงท้องถิ่นไปข้ามปะทะสังสรรค์กับความเป็นอินเตอร์ จนกระทั่งได้สังเคราะห์ให้เกิด “สิ่งใหม่ๆ” ขึ้นมา ดังที่ ปิย์นาท โชติกเสถียร สมาชิกวงสรุปปิดท้ายว่า

“จากความเป็นคนเมืองและคนอีสาน เราก้าวข้ามปัญหาพวกนี้ไปแล้ว และเป็นที่เข้าใจได้ว่า เราไม่สามารถที่จะเล่นเพลงหมอลำแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง”

“ดังนั้น พอมาถึงจุดนี้ เรากำลังสนุกในการบอกเล่าเรื่องราวจากโลเกชั่นต่างๆ ที่พวกเขาเดินทางไป เราเก็บเกี่ยวสีสันดนตรีต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้ ได้ปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมดนตรีและกลิ่นอายอื่นๆ ทำให้ซาวด์ดนตรีในชุดที่ 2 แม้จะมีกลิ่นอายของความเป็นหมอลำ หรือความเป็นอีสาน แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีความร่วมสมัย เราเติมซินธ์และความเป็นอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปด้วย เพื่อบอกเล่าถึงการเดินทางของเรา”

 

 

 

ล้อมกรอบ

 

จาก ‘หมอลำ’สู่World Music

 

ในโลกของ “เวิลด์มิวสิค” (world music)ย่อมมีสำเนียงเพลงท้องถิ่นปรากฏในบทเพลงเสมอ เพราะนั่นคือองค์ประกอบที่เด่นชัดในการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมนั้นๆ โดยแต่ละสำเนียงเพลงท้องถิ่น ย่อมบ่งบอกถึงที่มา,ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม และความเป็นชาติพันธุ์

 สำเนียงเพลงที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงมอญ สำเนียงพม่า สำเนียงลาว สำเนียงแขก สำเนียงจีน หรือสำเนียงญี่ปุ่น ซึ่งบางส่วนนั้น ปรากฏอยู่ในเพลงไทยเดิมมาแต่โบราณกาล เป็นการรับเอาสำเนียงต่างด้าวมาใช้ในวัฒนธรรมไทย ขณะที่ในโลกกว้างของดนตรีนั้น ยังมีสำเนียงเพลงท้องถิ่นอื่นๆ เช่น สำเนียงเพลงแอฟริกันผ่านจังหวะโพลีริธึ่ม สำเนียงเพลงคิวบาบนชีพจรเต้นรำแบบต่างๆ สำเนียงเพลงไอริช สก็อตช์ ที่ใกล้ชิดกับความเป็นเคลติก และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

 ศิลปินเพลงได้รับแรงบันดาลใจจากสำเนียงเพลงท้องถิ่นมานานแล้ว ดวอชาร์ค เคยประทับใจเพลงโฟล์คอเมริกัน จนประพันธ์The New World Symphonyขึ้นมา หรือบทเพลงที่มีกลิ่นอายแรกไทม์ ของ เดอบูซ์ซี แม้กระทั่งการนำซิตาร์ เครื่องดนตรีอินเดียมาใช้ ในบทเพลงของศิลปินร็อค เดอะ บีเทิลส์ เป็นต้น

เพราะในความเป็นจริงนั้น ดนตรีมิได้ตีกรอบหรือจำกัดตัวเองในแนวทางหรือสไตล์หนึ่งสไตล์ใดอย่างตายตัว ยิ่งด้วยเงื่อนไขที่โลกเล็กลง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความกระหายที่จะได้สัมผัสและผสมผสานสุ้มเสียงใหม่ๆ ที่แตกต่างหลากหลายก็ยิ่งดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงดนตรีร่วมสมัย สำเนียงเพลงท้องถิ่น จึงกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าติดตาม ขึ้นอยู่กับว่าการสร้างสรรค์ผลงานนั้นๆ จะมีความงดงามลงตัวเพียงใด

บางครั้ง สำเนียงเพลงท้องถิ่นยังก้าวออกมาอยู่เบื้องหน้าอย่างโดดเด่น โดยไม่จำเป็นต้องผสมผสานหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขหลายประการด้วยกัน ดังกรณีของบทเพลงหมอลำ และเพลงลูกทุ่งของไทย ที่กำลังได้รับความสนใจในหมู่นักฟังทางยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อหลายปีก่อน‘ดีเจมาฟท์ไซ’หรือในชื่อจริงว่า ณัฐพล เสียงสุคนธ์ เป็นคนที่คัดสรรเพลงหมอลำและเพลงลูกทุ่งจากยุค60-70sที่มีอัตลักษณ์เด่นชัด ในรูปแบบของอัลบั้มรวมเพลง (compilation)ไปนำเสนอในกลุ่มนักฟังรุ่นใหม่ในยุโรป ด้วยการแนะนำว่า นี่คือThai Funky Musicจากนั้น เขาพัฒนาต่อ เพื่อให้ชื่อของ‘หมอลำ’ (molam)เป็นชื่อเรียกสำเนียงเพลงท้องถิ่นที่ว่านี้ ด้วยหวังจะสร้างความเข้าใจและสร้างการยอมรับในวงกว้าง ดังการเรียกแนวเพลง สกา (ska)หรือ เร้กเก้ (reggae)ตามสำเนียงเพลงท้องถิ่นของจาไมกานั่นเอง

ต่อจากอัลบั้มรวมเพลง ดีเจมาฟท์ไซ หันทำวงดนตรีขึ้นใหม่ ในนามThe Paradise Bangkok Molam International Bandโดยมี21st Century Molamเป็นอัลบั้มแรกที่เรียกเสียงฮือฮาในหมู่คนฟังและนักวิจารณ์ จนกระทั่งสามารถพาวงดนตรีหมอลำร่วมสมัยวงนี้ ตระเวนแสดงดนตรีในยุโรปอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี และสร้างฐานแฟนเพลงใหม่ๆ ขึ้นมา

 ด้วยจังหวะกรู้ฟที่มีชีวิตชีวา แนวทำนองท้องถิ่นที่ลื่นไหล บ่งบอกถึงสีสันความเป็นท้องถิ่นอย่างชัดแจ้ง กับทักษะทางดนตรีอันจัดเจนของนักดนตรีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ผนวกด้วยไอเดียในการเรียบเรียงดนตรีให้มีความร่วมสมัย โดยสามารถสื่อสารกับคนฟังได้อย่างไร้พรมแดน จึงทำให้วงหมอลำวงนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ของสำเนียงเพลงท้องถิ่นขึ้นมา

ไม่แน่นักว่าในอนาคต เราอาจจะได้พบอัตลักษณ์ทางดนตรีของคนไทยอีสาน กลายเป็นสำเนียงเพลงท้องถิ่นที่คนทั้งโลกรู้จักรับรู้ เฉกเช่นเดียวกับเพลงรูปแบบอื่นๆ ที่มนุษยชาติได้สัมผัสและชื่นชม.