‘สมพงษ์’จี้รัฐเร่งออกกฎหมายลูกปฏิรูปการศึกษา

‘สมพงษ์’จี้รัฐเร่งออกกฎหมายลูกปฏิรูปการศึกษา

“นักวิชาการ”เร่งรัฐบาลออกกฎหมายลูกด้านการศึกษา หลังร่างรธน.ผ่านประชามติ เป็นแม่บทเดินหน้า“ปฏิรูป”

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชการการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เพิ่งผ่านการทำประชามติ ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษามากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา เห็นได้จากคำปรารภว่าต้องใช้การศึกษาเป็นตัวเปลี่ยนแปลงพลเมืองและประเทศ มีการมองเป้าหมายประเทศในเรื่องคุณภาพการศึกษา 

อย่างเช่น คุณลักษณะของเด็กไทย หรือหน้าตาของเด็กที่เกิดใหม่ในอนาคตควรมีความรู้ ความสามารถ ทักษะเช่นไร เป็นศูนย์กลางในการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่โครงสร้างการศึกษาเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เนื้อหาการปฏิรูปการศึกษา ปรากฏอยู่ใน 3 มาตรา ทั้งมาตรา 54 มาตรา 258 และมาตรา 261 ซึ่งโดยรวมมีเนื้อหาที่สำคัญ 5 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย 1.หน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษา 12+2 = 14 ปี 2.การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากความยากจน เช่น การจัดตั้งกองทุน 

3.การแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องในนโยบาย ด้วยการกำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมาย ข้อเสนอแนะ และบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 4.การปฏิรูปการเรียนการสอน เช่น การเรียนตามความถนัด 5.ระบบผลิต คัดกรอง การบริหารงานบุคคลครู เช่น ปัญหาการวิ่งเต้นเพื่อขอโยกย้าย รวมถึงการช่วยเหลือครูที่ยากจน

2ปีที่ผ่านมาปฏิรูปการศึกษา“สอบตก”

นอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ในแง่การแก้ปัญหาหลายเรื่อง เช่น การยุบบางหน่วยงาน การแก้ปัญหาทุจริต การเข้าแก้ปัญหาในองค์กรต่างๆ ด้วยมาตรา 44 ที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะด้านถือว่าสอบผ่าน แต่หากมองในแง่การปฏิรูปการศึกษายืนยันว่า ยังสอบไม่ผ่าน

"การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา เรายังไม่เคยมีคณะทำงานที่จะผลักดันให้งานปฏิรูปขับเคลื่อนไปได้อย่างแท้จริง รวมทั้งกฎหมายสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ยังไม่เคยประกาศให้มีผลบังคับใช้เลยสักฉบับเดียว"

ส่วนกฎหมายสำคัญอย่าง แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญยังไม่ออกมา 

ผลักดันวาระแห่งชาติ-ตั้งซูเปอร์บอร์ด

นายสมพงษ์ กล่าวว่าหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้ว ประเทศมีงานสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่อง 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.รัฐบาลจะต้องทำรายละเอียด ความชัดเจน ในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่เฉียบคมและชัดเจน พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ หลัง 2 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

2.สปท. กับ สนช. จะต้องพยายามผลักดันออกกฎหมายลูกที่มาความสำคัญๆ ให้ได้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ กฎหมายการจัดตั้งกองทุนการศึกษา เนื่องด้วย การออกหมายลูกที่จำเป็นนั้นมีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ที่บังคับใช้ด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาที่สำคัญ ที่บังคับใช้ในอดีต กลับก่อปัญหา นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ซึ่งมีเนื้อหาเน้นโครงสร้าง ขณะที่เนื้อหาปัจจุบันเราเน้นที่ตัวเด็กให้เป็นศูนย์กลาง 

ตั้งกรรมการสานความต่อเนื่อง

สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าเป็นเรื่องที่ 3 คือ การตั้งคณะกรรมการอิสระ หรือซุปเปอร์บอร์ด ให้ได้ภายใน 60 วัน เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะ ดูแล กำกับแผนการศึกษาแห่งชาติให้มีความต่อเนื่อง และให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายและทิศทางการศึกษา ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศจะต้องสานต่อการทำงานเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

รวมไปถึงเรื่องที่ 4 ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด ที่เรียกว่า “คณะกรรมการขับเคลื่อน” เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลอย่างจริงจัง

 ทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่ามีลักษณะการเป็นวาระแห่งชาติ มีการออกกฎหมายลูก กรรมการระดับนโยบาย และกรรมการระดับขับเคลื่อน เป็น 4 กลุ่มงานที่มีความสำคัญและต้องทำให้ปรากฏชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

ต้องเร่งออกพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

นายสมพงษ์ กล่าวว่าเนื้อหาการปฏิรูปการศึกษาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ครอบคลุมประเด็นอย่างเพียงพอที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้สามารถยกระดับขึ้นมาได้ เช่นแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ด้วยการกำหนดการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ฟรี 14 ปี ยังมีซุปเปอร์บอร์ดคอยกำกับ ให้เกิดความต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับเด็กมากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงจะต้องแก้ปัญหาระบบครูอีกด้วย

แต่ทั้งหมดนั้นกฎหมายลูกที่สำคัญฉบับหนึ่ง ก็คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดการยึดโยงปัญหา 5 ประเด็นที่กำหนดแนวทางไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความจำเป็นที่เราต้องเร่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ ล้มกฎหมายเดิมทั้งฉบับทิ้งไป อย่าไปลอก หรือ นำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี 2542 มาปรับปรุงแก้ไขเพราะมีแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

"พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ต้องการวิพากษ์อย่างเป็นสาธารณะ คณะกรรมการร่างกฎหมายก็ควรเป็นกลุ่มบุคคลในวงการ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษา ไม่ใช่ระบบพรรคพวก"