ต่วย’ตูน กับภารกิจฮามีสาระ “เชื่อว่าคนอ่านยังไม่ทิ้งเรา”

ต่วย’ตูน กับภารกิจฮามีสาระ “เชื่อว่าคนอ่านยังไม่ทิ้งเรา”

ทวนกระแสอาการถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยก้าวย่างที่มั่นคงของนิตยสารและพ็อกเกตบุ๊คฉบับคลาสสิก

กันยายน พ.ศ. 2559 นิตยสาร และ พ็อกเกตบุ๊ค ต่วย’ตูน จะมีอายุครบ 45 ปีบริบูรณ์ โดยฉบับกันยายนที่จะถึงนี้ ถือเป็นก้าวแรกของปีใหม่ - ปีที่ 46 หลังทำความรู้จักกับผู้อ่านเกือบครึ่งศตวรรษมาอย่างต่อเนื่อง

สาระในอารมณ์ขันของนิตยสารเล่มนี้ดำเนินมาอย่างราบรื่นในภาพรวม... ส่วนหนึ่งเพราะผู้อ่าน (พวกเขาเรียกมันว่า ‘แฟนานุแฟน’) ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศต่างสนับสนุนมาโดยตลอด ขณะที่อีกหลายส่วนบอกกันว่า นี่คือหนังสือที่สะท้อนบุคลิกคนไทยที่ยากจะหาใครเหมือน

ไล่ตั้งแต่ความสนุกบนหน้าปก ความขำแบบมีสาระ การนำเสนอเรื่องแปลกๆ กระทั่งนักเขียนยังมีหลากหลาย ตั้งแต่รัฐมนตรีจนถึงนักโทษในเรือนจำ ฯลฯ ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านี้ตอบโจทย์ธุรกิจนิตยสารแบบเฉพาะกลุ่มให้ยังพอไปได้

เรื่องมันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น และควรดำเนินพล็อตแบบเดิมไปเรื่อยๆ หากเมื่อปลายปีก่อนไม่มีการเสียชีวิตของ ลุงต่วย - วาทิน ปิ่นเฉลียว ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรกต่วย’ตูน ในเวลาเดียวกับที่วงการนิตยสารเริ่มเคยชินกับคำว่า “นิตยสารหลายฉบับทยอยปิดตัว”

  เมื่ออดีตและปัจจุบัน กำลังถูกผสมเป็นเรื่องของอนาคต ‘จุดประกาย’ จึงนัดหมายกับ ดล ปิ่นเฉลียว ทายาทคนสำคัญซึ่งควบตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการ บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด และ ประลองพล เพี้ยงบางยาง บรรณาธิการหนุ่ม มาพูดคุยถึงทิศทางต่อไปในขวบปีใหม่ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสื่อสิ่งพิมพ์สักเท่าไรนัก

 

อยากให้ช่วยเล่าถึงบรรยากาศการทำงานตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาหลังลุงต่วยเสียชีวิต

  ดล : ทุกคนรู้สึกเสียใจ แต่ระหว่างที่ลุงต่วยรักษาตัวมานาน เราก็ได้วางทีมงานที่ทำหน้าที่แทนแล้ว ในส่วนของนักเขียนยังไม่มีอะไรเปลี่ยน จะมีก็แต่เรื่องการตัดสินใจของนิตยสาร จากที่เป็นลุงต่วยคนเดียวตัดสินใจเองทั้งหมด ตอนนี้จะมี 3 คนหลักๆ คือผมซึ่งจะดูภาพรวม คุณอุดร จารุรัตน์ อดีตบรรณาธิการ ที่ปรึกษาอาวุโส และคุณประลองพล ซึ่งจะดูรายละเอียดของการผลิต ส่วนเรื่องเนื้อหาต่วย’ตูน ยังเป็นเช่นเดิม เรามีแกนหลักคือเรื่องบันเทิง เพราะมองว่าสมัยนี้คนมีความเครียดสูง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อยากจะหลบหนีความเครียดเข้าหาความบันเทิง และเราก็เปรียบเสมือนเพื่อนที่จะอยู่ในเวลานั้น

ประลองพล : ในอดีตยุคก่อตั้ง เราเริ่มด้วยความหรรษาเป็นหลัก และมีสาระประกอบ ผ่านมาอีกระยะหนึ่ง เราก็เริ่มใช้สาระนำ แล้วก็ใช้ความบันเทิงแทรก แต่พอยุคปัจจุบันเรามองว่าคนมีความเครียดสูง อยากอ่านอะไรที่สนุกผ่อนคลาย มีความสุข จึงกลับมาเน้นเรื่องบันเทิงเป็นหลัก แน่นอนว่าความบันเทิงสำหรับเราเอง จะไม่ใช่บันเทิงที่ไม่มีแก่นสารอยู่แล้ว

 

ทุกวันนี้กลุ่มคนอ่านต่วย’ตูนคือใคร

  ดล : เราเคยวางไว้เป็นครอบครัว คือ เด็กอ่านได้-ผู้ใหญ่อ่านดี แต่ก็กลับมามองใหม่ว่า ถ้าเราทำครอบจักรวาลน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี จึงคิดกันว่าควรโฟกัสเป้าหมายกันไปเลย ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงปรับให้มันชัดเจนขึ้น และสอดคล้องไปทั้งหมดทั้งการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ การเรื่องเรื่องที่ชอบและสนใจ

 

แต่กลุ่มคนเหล่านี้อายุมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะมีผลต่อไปในอนาคตหรือไม่

  ดล : กลุ่มคนเหล่านี้มีมากกว่า 6 ล้านคน และขณะนี้เราประเมินว่า สามารถเข้าถึงได้ 1% จากทั้งหมด คือคนกลุ่มนี้ รู้จักต่วย’ตูน เคยอ่านต่วย’ตูน และซื้อมาเป็นเจ้าของ แต่เหลืออีก 99% ที่อาจยังได้อ่าน เราคิดว่ามันขยายต่อไปได้ จึงทำการตลาดที่แพร่กระจายในแนวระนาบ แทนการลงล่างหรือขึ้นข้างบน ผมมองว่าถ้า Cover หลายช่วงอายุ พยายามจะจับกลุ่มใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเหมือนเหวี่ยงแห ซึ่งการเหวี่ยงแห มันก็สุ่มเสี่ยงที่คนกลุ่มใหม่จะไม่ชอบ ขณะที่กลุ่มเก่าอาจไม่ถูกใจอีก จึงชัดเจนไปเลย อย่างเนื้อหาหลักๆ ก็เน้นไปเลยว่าเป็นบันเทิง เรื่องตลก วิถีชนบท วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ทำให้คนอ่านหวนนึกถึงอดีต จะเรียกว่าเน้นเรื่องที่มัน Nostalgia (การระลึกถึงความสุขในอดีต) ก็ได้

ปัจจุบัน คนมันเครียดไง สิ่งที่อยู่ในใจของคน จึงเป็นเรื่องอดีตสมัยที่เรามีความสุข สมัยที่ข้าวไม่ได้ยาก หมากก็ไม่ได้แพง รถไม่ติดเช่นปัจจุบันนี้ เมื่อไรที่วงเสวนาคนอายุ 40 เราก็จะพูดถึงเรื่องแบบนี้ แล้วมีความสุข เป็นความรู้สึก Nostalgia เราจึงพยายามนำเสนอตรงนี้ และจุดแข็งคือเรามีนักเขียนที่มีตัวตนจริงในสมัยนั้นมาเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง นี่คือต้นทุนที่เรามี

ประลองพล : ต่วย’ตูน จะมีเรื่องที่มันออกแนวย้อนยุค-ย้อนอดีต ไปในสมัยที่รุ่นอาวุโสยังเป็นเด็กอยู่เสมอ เรื่องจะนำคนอ่านไปสู่วัยที่มีความสุข สมัยเป็นเด็กที่มีความสุข และความพิเศษของต่วย’ตูน คือมีนักเขียนที่อยู่ในยุคนั้นจริงๆ ไม่ใช่การค้นหาข้อมูลมาเรียบเรียงใหม่ อย่างถ้าเป็นเรื่องบันเทิง ก็จะมีคนอย่าง คุณอารีย์ นักดนตรี ซึ่งเป็นนางเอกคนแรกๆ ในยุคต้นกำเนิดคืออุตสาหกรรมละครและบันเทิงในประเทศไทยมาเขียนให้ หรือถ้าเป็นเรื่องในแวดวงราชการ ก็จะมีคุณอนันต์ แจ้งกลีบ (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา มุกดาหาร หนองคาย และเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งท่านก็จะรู้เรื่องวงการราชการดีมาก มีประสบการณ์ไต่เต้ามาจากข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งเครือข่ายนักเขียนของต่วย’ตูน เช่นนี้ถือเป็นจุดแข็งที่มีต้นทุนต่างจากสื่ออื่น ซึ่งอาจรายงานจากการค้นข้อมูลเอกสาร ที่ขาดความลึก ขาดความรู้สึก

หรืออย่างเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชนบท เราก็จะมีชาวนา ชาวไร่ มีคนทำประมง หรือคนหลากหลายอาชีพที่มีประสบการณ์จริงมาเขียนให้ และแม้พวกเขาจะไม่ใช่นักเขียนอาชีพ แต่เราก็เปิดโอกาสให้เขาส่งต้นฉบับเข้ารับการพิจารณา และที่ผ่านมา ต่วย’ตูน ก็เคยมีนักเขียนทุกระดับจริงๆ ทั้งระดับนายกรัฐมนตรีหรือเป็นนักโทษในเรือนจำก็เคยเขียนให้ต่วย’ตูน

ดล : ผมมองว่านี่เป็นวิถีชีวิตของคนไทย ถึงจะอยู่ในสังคมเมืองก็จริง แต่พื้นฐานคนไทยจะได้รับเรื่องราวเหล่านี้มาทั้งนั้น ยิ่งถ้าสังคมเมืองมันอิ่มตัว คนก็จะกลับมาโหยหาอดีตหรือธรรมชาติมากขึ้น อย่าว่าแต่คนสูงอายุเลยนะ แม้แต่วัยรุ่นที่ทำงานออฟฟิศ ทุกคนมีความหวังอยากมีที่เล็กๆ ทำการเกษตร อยากไปสัมผัสธรรมชาติที่วันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ไม่มีโอกาสได้พบเจอเลย

 

ความเป็นจริงอีกด้านคือช่วงเวลาไม่กี่เดือนนี้ มีการปิดตัวของนิตยสารจำนวนไม่น้อย ต่วย’ตูน คิดอย่างไร ต้องเจอคำถามประเภทที่ว่า “ยังอยู่ได้ใช่ไหม” บ้างรึเปล่า

  ดล : เจอประจำ (หัวเราะ) เราจะถูกถามเสมอว่า ยังอยู่ได้ยังไง สำหรับผมเองมองว่า วิกฤติครั้งนี้ มันมีหลายสาเหตุนะ ทั้งปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมอะไรได้ยาก อย่าง เศรษฐกิจ การเมือง การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต ก็ต้องยอมรับ ส่วนปัจจัยภายในที่มันเป็นจุดอ่อนในกระบวนการผลิต ทั้งคนเขียน คนออกแบบ โรงพิมพ์ สายส่ง ร้านค้า ผมมองว่าสามารถพัฒนาช่วยกันได้ อย่างครั้งหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ ผมอยากอ่านหนังสือล่องไพร เดินไปร้านหนังสือ ถามพนักงานว่ามีหนังสือล่องไพรไหม เขาตอบห้วนๆ ว่า “ไม่มี” แล้วไงล่ะ มันก็จบ

จากนั้น ผมเดินไปอีกเจ้าถามคำถามเดียวกัน แต่คำตอบเป็นอีกอย่าง คือเขาตอบว่าไม่มีเหมือนกัน แต่พนักงานขายเขาแนะนำหมดว่า มีอะไรทดแทนได้ “พี่ลองเรื่องอื่นไหม สนุกเหมือนกัน หรือจะเอานักเขียนคนเดียวกันแต่ละคนล่ะเรื่อง” ก็ว่ามาเป็นฉากๆ สรุปวันนั้นผมเลยหิ้วกลับมาเต็มเลย มันคงเป็นแบบเดียวกับที่ภรรยาผมเดินเข้าร้านเครื่องสำอางเพื่อต้องการซื้อลิปสติกเพียงแท่งเดียว แต่ BA.( Beauty Adviser) ทั้งแนะนำ ทั้งให้ลอง กลับมาบ้านทีไรเครื่องสำอางจึงเต็มถุง

ส่วนต้นน้ำ คือคนเขียน มันต้องพิจารณากันว่าเราได้นำเสนอเรื่องที่ธรรมชาติคนอ่านต้องการหรือไม่ พัฒนาตัวเองในเชิงข้อมูลให้คนอ่านอยากติดตามหรือไม่ ที่ว่ามานี้ผมกำลังตั้งคำถามว่าเราได้พัฒนาตัวเองที่จะอยู่ต่อไปได้หรือยัง

ส่วนต้นทุนการผลิต ทั้งค่าพิมพ์ ค่ากระดาษ ผมมองว่ามันมีผลน้อยมาก ถ้าเป็นหนังสือที่เน้นยอดขาย คำถามคือทำอย่างไรให้หนังสือมียอดพิมพ์สูง มันก็หมายถึงว่าเราทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ แต่เอาคนอ่านเป็นที่ตั้งแล้วสร้างสรรค์มันออกมา ถ้าทำในสิ่งที่เขาอยากอ่าน แล้วมันไม่แพง ผมว่าเขาก็ซื้อ

 

แต่เนื้อหาแบบที่นิตยสารมี คนอ่านก็หาฟรีได้ในอินเทอร์เน็ต ?

  ดล : ผมมองว่าในโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อข้อมูลที่เยอะก็กลายเป็นว่าทุกคนปล่อยออกมาได้ แล้วมันจะมีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือ สุดท้ายแล้วเขาจะกลับมาอ่านหนังสือที่มีกระบวนการกลั่นกรองอยู่ แต่ต้องเป็นอะไรที่เขาอยากอ่านด้วยนะ

ประลองพล : เนื้อหาแต่ละประเภทต่างกัน อย่างนิตยสารที่ได้รับผลกระทบจากอินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเพราะเนื้อหาอย่างแฟชั่น หรือเทรนด์ใหม่ๆ ที่คนหาดูจากอินเทอร์เน็ตได้ แถมยังหลากหลายกว่า แต่แนวของต่วยตูน เรามองกันว่าในอินเทอร์เน็ตยังไม่มากนัก และคนอ่านของเรา ซึ่งเป็นอาวุโส ยังสะดวกกับการอ่านเรื่องยาวๆ ผ่านกระดาษ มากกว่าผ่านจอ หรือสมาร์ทโฟน หนังสืออย่างต่วยตูนยังเป็นที่ต้องการ เรายังเน้นตัวหนังสือโตๆ อ่านง่ายๆ ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายอยู่

 

แล้วงบโฆษณาของสิ่งพิมพ์ที่ลดน้อยลงไป มีผลกับ ต่วย’ตูน ขนาดไหน

  ดล : แทบจะไม่มีผล เราอยู่ได้ด้วยยอดขายล้วนๆ อาจจะแบ่งเป็นระบบสมาชิกสักร้อยละ 10 ที่เหลือคือยอดขายบนแผง การสั่งซื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ มันถือว่าประคองตัวได้ ในขณะที่เราต้องพัฒนาหนังสือตัวเองอยู่ตลอด ที่ผ่านมา เราไม่ได้เน้นโฆษณาเลย จะมีโฆษณาก็ที่คนอ่านที่รู้สึกผูกพันกับเรา ติดต่อเข้ามาเองเพื่อขอลงโฆษณา

ประลองพล : เราไม่ได้ปิดกั้น แต่เราไม่มีแผนกหาโฆษณาเหมือนหนังสืออื่นๆ ไม่มีเอเจนซี่ทำเรื่องนี้ โฆษณาที่ลงก็เป็นสินค้าของคนอ่านเอง รายได้หลักของเราคือยอดขายมากกว่า เราอยู่ได้จากยอดจำหน่าย และอยู่แบบนี้มาตลอด อาจจะเป็นข้อดีข้อหนึ่งในแง่ที่ว่า เมื่อหนังสือปิดตัวลงมาจากค่าโฆษณาที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย พอโฆษณาลดลงเลยลำบาก แต่เราไม่มีผลกระทบ เพราะเราไม่ได้พึ่งระบบโฆษณา

เราเลือกที่จะทำหนังสือเพื่อคนอ่าน รายได้หลักของต่วย’ตูน คือคนอ่านล้วนๆ พิมพ์ในยอดระดับประมาณหนึ่งเพื่อขาย และราคาต้องไม่สูงจนเกินไป บางทีการที่เราไม่เน้นโฆษณาแต่แรก ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีอิสระในการทำนำเสนอ และคาดเดาต้นทุนทั้งหมดได้

 

ยังยืนยันที่จะเป็นนิตยสารรายเดือนต่อไป ?

  ประลองพล : ถ้าพูดถึงการปรับตัวของนิตยสาร มันก็คงจะไปขัดกับความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ อย่างอินเทอร์เน็ต เราก็จะใช้มันเป็นพื้นที่บอกกล่าวกับแฟนหนังสือมากขึ้น เป็นช่องทางจำหน่ายและสร้างฐานสมาชิก ตอนนี้เราทำเว็บไซต์และสร้างแฟนเพจของต่วย’ตูนอยู่แล้ว จากนี้ไปก็อาจจะทำมีกิจกรรมที่ให้นักเขียนพูดคุยกับคนอ่านผ่านเฟซบุ๊คมากขึ้น อินเทอร์เน็ตมันเป็นช่องทางให้เราสื่อสารได้มากขึ้น แต่สื่อหลักเรายังเน้นไปที่สิ่งพิมพ์อยู่ดี ยังไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยน

ดล : ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงสิ่งพิมพ์ตอนนี้ เราก็เฝ้ามองอยู่ ปรับตัวไปเรื่อยๆ ในเชิงเนื้อหา และหากลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ ในเชิงระนาบ เพราะเราเชื่อว่า เมื่ออายุเปลี่ยน ช่วงวัยเปลี่ยน รสนิยมในการเสพสื่อมันก็เปลี่ยน กลุ่มที่เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน พอโตขึ้นมาถึงจุดที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับสิ่งที่เรานำเสนอ จากที่ไม่เคยสนใจ หรือสายตามีปัญหา อ่านแบบอื่นไม่ไหวแล้ว เขาก็จะหยิบของเราไปทดแทน

คือโดยธรรมชาติ มันก็จะมีกลุ่มผู้อ่านที่นิยม อย่างเล่มต่วยตูนพิเศษ เหมือนกันพอเขาโตถึงระดับหนึ่ง เขาก็จะเลิกเริ่มอ่านต่วย’ตูนพิเศษ ไปสู่สารคดีหรือหนังสือวิชาการที่มีความเข้มข้นขึ้น แต่เราก็จะมีเด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมา บางทีอาจเป็นเพราะคนอ่านรู้สึกเห็นใจนะ ถ้านักอ่านหรือที่เรียกว่าแฟนานุแฟนไม่ช่วย หนังสือต่วยตูนก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเราทำเพื่อคนอ่าน ในขณะเดียวกันคนอ่านก็ทำเพื่อเราเหมือนกัน เราเกื้อกูลกันแบบนี้มา 40 กว่าปีแล้ว และผมเชื่อว่าคนอ่านยังไม่ทิ้งเราแน่นอน

 

ระหว่างต่วย’ตูน พ็อกเกตบุ๊ค กับต่วย’ตูน พิเศษอะไรขายดีกว่ากัน

  ดล : มันคงเทียบกันไม่ได้ เพราะทั้ง 2 เล่ม มันคนละกลุ่ม คนละแนว อย่างเล่มพิเศษเน้นสารคดี เรื่องอารยธรรม โบราณคดี ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน มากกว่า ขณะที่เล่มพ็อกเกตบุ๊คเป็นกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปอย่างที่บอก กลุ่มคนในช่วงอายุนี้ เรามองว่าเขามีกำลังซื้อสูง มีเวลาว่าง มีเวลาอ่านเยอะ อย่างในวัยเกษียณ หลายท่านเมื่อไม่ได้ทำงานก็เริ่มเหงา อยากหาอะไรทำเมื่อมีเวลาว่าง ต่วยตูนเราก็สนองได้ เราทดแทนความเป็นเพื่อน ให้นักเขียน-นักอ่าน ใกล้ชิดผ่านตัวหนังสือ เหมือนเพื่อนคุยกัน นักอ่านก็สามารถเขียนหาคนเขียน แซวกันได้ และเราเป็นแบบนี้มาตลอด

 

อะไรคือสิ่งใหม่ของต่วยตูน ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 46

  ดล : เราเพิ่มจำนวนหน้าเพิ่มอีก 16 หน้า ลดภาพสี เพราะจากการสอบถามสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า ระหว่างเรื่องกับภาพ ขอเอาเรื่องมาก่อน ความหนาจาก 240 จะมาอยู่ที่ 256 หน้า ลองคิดดู ถ้าเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊ค ราคาน่าจะอยู่ที่ 200-300 บาท แต่เราขายถูกกว่า ต่อมา คือการจัดวางหนังสือ เราพยายามที่จะออกแบบให้ดูรีแลกซ์ ไม่เครียด ตัวหนังสือใหญ่ คมชัด ขณะเดียวกัน เราก็ไม่เอาเปรียบคนอ่านเพราะถึงจะพิมพ์เต็มหน้า แต่พยายามบรรจุเนื้อหาให้มากที่สุด

ประลองพล : ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เน้นสาระและเรื่องต่างประเทศซึ่งเป็นกระแสนิยมเยอะพอสมควร แต่ปีใหม่นี้ เราจะเน้นการโหยหาอดีต เรื่องธรรมชาติ การผจญภัยมากขึ้น ที่ลดเรื่องวิชาการกับต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมองหาจากอินเทอร์เน็ตได้ไป อย่างเรื่องอาหาร คนอื่นอาจจะนำเสนออาหารหรูๆ ในภัตตาคาร แต่ต่วย’ตูน เราจะมีทั้งอาหารข้างทาง อาหารท้องถิ่น อาหารชาวบ้าน ที่บางคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ หรือแม้แต่ต่างประเทศเราคงไม่พาไปประเทศที่คนอื่นไป แต่จะพาไปที่แปลกๆ ซึ่งไม่ค่อยมีใครได้สัมผัส

นอกจากนี้ เราจะจัดประกวดเรื่องสั้นแนวหรรษา ก็จะมีรางวัลให้กับผู้ชนะ คือหลายครั้งเราคุยกับนักเขียนอาชีพ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า เรื่องตลกเขียนยาก ก็น่าแปลกทั้งๆ ที่เรื่องตลกมันก็อยู่คู่กับคนไทย และเราโหยหามาตลอด เราจึงจัดเวทีขึ้น เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่นักเขียนใหม่ๆ และเป็นเวทีให้คนที่สนใจเรื่องตลก โดยเฉพาะตลกแบบต่วยตูนที่เป็นตลกแบบนุ่มลึก และผลงานที่ได้รับคัดเลือก ก็จะถูกตีพิมพ์ในต่วย’ตูนในโอกาสต่อไป