จับตานักช้อป‘สูงวัย’หนุนอีคอมเมิร์ซโต

จับตานักช้อป‘สูงวัย’หนุนอีคอมเมิร์ซโต

ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรโลกที่มีอายุ 65ปีขึ้นไป จะเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่าตัว และกว่า 2 ใน 3 ของประชากรสูงอายุโลกอาศัยอยู่ในเอเชีย

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเช่นเดียวกับประชากรโลก โดยในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเติบโตเป็น 2 เท่า และไทยจะเป็นประเทศลำดับ3 ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์  

โดยปี 2558 สัดส่วนสูงวัยอยู่ที่ 10% คาดปี 2573 เพิ่มเป็น 19% ของจำนวนประชากรไทย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงวัยตอนต้นส่วนใหญ่ในไทยจะพึ่งพาตนเอง โดยกว่า 90% ของผู้สูงอายุวัย 60-79 ปี สามารถพึ่งพาตัวเองได้ 

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน ‘The New Age of Thais’ ของนีลเส็น ที่บ่งชี้ว่าอายุของ “ผู้ซื้อของเข้าบ้าน” หรือชอปเปอร์ เพิ่มขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมาโดยมี “กลุ่มสูงวัย”จำนวนมากขึ้นที่รับหน้าที่หลักในการซื้อของเข้าบ้าน 

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2553 และปี 2558 พบว่ากลุ่มสูงวัยจำนวนมากขึ้น บอกว่าพวกเขาคือคนซื้อของเข้าบ้าน โดยในปี 2553 สัดส่วนอยู่ที่ 52% ของคนไทยอายุ 64 ปีขึ้นไป ขณะที่ปี 2558 อัตราส่วนได้เพิ่มขึ้นเป็น 61% 

นอกจากนี้กลุ่มสูงวัยยังมีพฤติกรรมเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลแรกในการค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น โดยปี 2553 อยู่ที่ 5% แต่ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 9%

จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่าปัจจุบันกลุ่มสูงวัยเป็นกำลังซื้อหลักของผู้ซื้อสินค้า Grocery หรือของอุปโภคบริโภคในบ้าน ซึ่งเป็นสัดส่วน 70% ของสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 

พฤติกรรมการซื้อสินค้าของกลุ่มสูงวัย พบว่าครอบครัวที่มีผู้สูงอายุนั้นจะซื้อของเกี่ยวกับสุขภาพและอาหารสัตว์เลี้ยงสูงสุด เมื่อเทียบกับการซื้อของเข้าบ้านของครอบครัวทั่วไปเนื่องจากกลุ่มสูงวัยนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมว

ทั้งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยของไทย รวมทั้งการเป็นกลุ่มหลักผู้ซื้อสินค้าของใช้ภายในบ้าน และพฤติกรรมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้สมาร์ทดีไวซ์ ประเภทแทบเล็ต เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคสูงวัยมีแนวโน้มจับจ่ายผ่าน “อีคอมเมิร์ซ” เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ

“กลุ่มสูงวัยในอีก 15 ปีข้างหน้าคือกลุ่มเจนเอ็กซ์ ในปัจจุบัน แตกต่างจากกลุ่มสูงวัยในอดีต เพราะเรียนรู้และใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดี มีกำลังซื้อสูง และต้องการความสะดวกสบายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะของใช้ภายในบ้าน  ถือเป็นอีกกลุ่มกำลังซื้อสำคัญผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต” 

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในอนาคตที่จะเข้ามามีอิทธิพลและมีผลกระทบ ทั้งผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าปลีก รวมทั้งช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มสูงวัย ที่ต้องปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตในอนาคตของธุรกิจต่างๆ

ทั้งนี้ การเตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ คือ “การชนะใจ และชนะที่จุดขายของผู้บริโภคกลุ่มนี้” ซึ่ง การชนะใจ นั้นต้องคำนึงถึงความต้องการเป็นหลัก เช่น ความต้องการด้านสารอาหารและการบำรุงเป็นพิเศษ  ปริมาณของอาหารที่เล็กลงต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และนวัตกรรมที่จะช่วยให้อ่านฉลากสินค้าได้ง่ายขึ้น รวมทั้งแพ็กเกจจิ้งที่เปิดง่ายสำหรับผู้สูงอายุ      

สำหรับการ “ชนะที่จุดขาย” คือการพัฒนาสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ รวมถึงการคำนึงถึงข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและความปลอดภัยของผู้สูงอายุ  จากข้อมูลพบว่ากลุ่มสูงวัยต้องการบริการจากกลุ่มค้าปลีก เช่น 35% นำสินค้าไปส่งที่รถ , 34% รถเข็นสินค้าไฟฟ้า และ 25% เคาน์เตอร์จ่ายเงินพิเศษ

“ช่วง 5 ปีก่อนนักการตลาดและแบรนด์ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เจาะเซ็กเมนท์ผู้บริโภค ปัจจุบันโฟกัสไปการเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านคนต่อปี แต่การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทย แบรนด์ต้องเตรียมตัวพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มกำลังซื้อหลักในอนาคตเช่นกัน” 

ปี61กลุ่มสูงอายุแซงเด็ก

จากรายงาน ‘The New Age of Thais’  ซึ่งเป็นข้อมูลภาพรวมโครงสร้างประชากรไทย การใช้จ่ายของผู้สูงอายุ และกลยุทธ์ในการเข้าถึงประชากรสูงอายุในไทย 

ปัจจุบันพบว่ากว่าครึ่งของประชากรไทยยังต้องดูแลบุตรหรือประชากรเด็ก จำแนกประเภทของประชากรเป็น 3 กลุ่ม คือ ประชากรไทยที่แต่งงานแล้วและมีบุตร, ประชากรไทยที่แต่งงานแล้วและไม่มีบุตร และประชากรไทยโสด 

ประชากรไทยที่แต่งงานแล้วและมีบุตรนั้นมีจำนวนเกินครึ่ง54.8% และอยู่ในช่วงอายุที่หลากหลายเริ่มตั้งแต่ 20-24 ปีขึ้นไป ขณะที่ประชากรไทยที่ยังโสดนั้นจะเกาะกลุ่มกันอยู่ที่กลุ่มอายุน้อยเป็นหลัก และมีจำนวนเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 29.8%

สัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรไทยเริ่มสร้างครอบครัวตั้งแต่ช่วงอายุ 20-24 ปี และประชากรไทยที่แต่งงานแล้วและมีบุตรได้กลายมาเป็นประชากรหลักในสังคมไทยเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 25-29 ปีเป็นต้นไป 

"กลุ่มที่แต่งงานและมีบุตรส่วนใหญ่ จะกลายเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวตั้งแต่ช่วงอายุ 25-29 ปี และจะค่อยๆ ลดหลั่นความรับผิดชอบไปในอนาคตขณะที่กลุ่มประชากรโสดจะเริ่มเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวในช่วงอายุ 45-49 ปี และ 40% ของคนโสดจะยังคงเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวถึงแม้อายุจะเลย 60 ปีแล้วก็ตาม"

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ หรือปี 2561 ประชากรสูงอายุของไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 18% เริ่มมีปริมาณมากกว่าประชากรเด็กที่ 17%  ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15-59 ปี 65% 

คาดว่าในปี 2568 เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั่วประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่กลุ่มประชากรวัยทำงานจะมีอัตราส่วนที่ลดลงจาก 64% เป็น 61% ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรมีสาเหตุมาจากการที่ประชากรไทยมีบุตรน้อยลงและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

ผลที่ตามมาคือผู้อยู่ในวัยแรงงานต้องรับภาระในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งอัตราการเป็นภาระ หรือ Dependency Ratio จะโอนถ่ายจากเด็กไปที่ผู้สูงอายุ โดยประชากรวัยแรงงานต้องดูแลเลี้ยงดูคนในครอบครัวจำนวนมากขึ้น ในปี 2568 และกว่าครึ่งของคนเหล่านั้นคือผู้สูงอายุ 54% จำนวนเม็ดเงินที่เคยต้องนำมาเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวก็จะถูกแทนที่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์สู่การดูแลผู้สูงอายุ เช่น การดูแลด้านอาหารการกิน, สุขภาพ, ยารักษาและการเดินทาง