วัคซีนสูงวัย ลดเสี่ยงโรคติดเชื้อ

วัคซีนสูงวัย ลดเสี่ยงโรคติดเชื้อ

คนสูงวัยมักจะเป็นโรคที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

คนสูงวัยมักจะเป็นโรคที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อที่ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง โดย เฉพาะโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคงูสวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวมรวมทั้งโรคบาดทะยัก เพราะภูมิต้านทานต่ำกว่าคนในวัยอื่นๆ

พล.ต.นพ.พีระพัฒน์ วิริยธรรมภูมิ ผู้อำนวยการอาวุโส คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ กล่าวว่า คนสูงอายุมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีความรุนแรงมากกว่า จะสังเกต ได้ว่าผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยเด็ก และวัยทำงาน เมื่อผู้สูงอายุเกิดโรคติดเชื้ออาจจะมีอาการที่รุนแรง และต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า และเสี่ยงต่อภาวะป่วยเรื้อรัง พิการ หรือเสียชีวิตได้ วัคซีนจึงมีความจำเป็น เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะผลกระทบที่ตามมาของผู้ป่วยสูงอายุ คือค่าใช้จ่ายในระยะยาวที่สูงกว่าผู้ป่วยในวัยอื่นๆ รวมถึง เวลาที่สูญเสียไประหว่างการรักษาด้วย จึงจำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อาทิ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ที่จะระบาดในช่วงหน้าฝน ในคนทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง และหายได้เองใน 3-5 วัน


แต่หากเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจจะทำให้มีอาการรุนแรงและพบภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายฤดูฝนถึงช่วง ฤดูหนาว เพราะเชื้อโรคมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ที่ระบาดทุกปี ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจมีอาการไข้ต่ำ ปวด บวม แดง สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบน้ำอุ่น และรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ อาการ จะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน “วัคซีนบาดทะยัก” มีแนวโน้มว่าจะพบในผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานอยู่ประมาณ 10 ปี

ดังนั้นผู้สูงอายุที่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักแล้วควรฉีดซ้ำ โดยฉีดเพียงครั้งเดียวทุก 10 ปี แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักมาก่อน สามารถฉีดเข็มแรกได้ทันที หลังจากนั้นก็ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 เดือน ผลข้างเคียง อาจมีอาการปวด บวม แดง มีไข้ ปวดหัว หรืออ่อนเพลียเกิดขึ้นได้ “วัคซีนปอดอักเสบ” ป้องกันโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อ
สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี และยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อรุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยตัดม้าม ผู้ป่วยตับวายหรือไตวาย ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ วัคซีนป้องกันปอดบวม หรือ วัคซีนนิวโมคอคคัส ฉีดเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไปเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม เข็มแรกแนะนำให้ฉีด ชนิด 13 สายพันธุ์ และเข็มที่สองเป็นชนิด 23 สายพันธุ์ ฉีดห่างกัน 1 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก

โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการตัดม้าม และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น หัวใจวายเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตวาย และโรคตับแข็ง เป็นต้น โดยหลังฉีดวัคซีน อาจมีอาการแดง หรือปวด เป็นผื่นแดงบริเวณที่ฉีด และอาจมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ซึ่งหายได้ภายใน 1-2 วัน ด้วยยาแก้ปวดลดไข้ “วัคซีนป้องกันงูสวัด” เป็นโรคที่พบได้บ่อยและพบอุบัติการณ์มากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ ภาวะปวดเรื้อรัง หรือ post-herpetic neuralgia (PHN) มีอาการปวดเจ็บแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง และอาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดชีวิตในผู้สูงอายุมักพบความรุนแรงกว่าคน ในวัยอื่น วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51.3 โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว จากนั้นไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก


แต่ห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง โดยผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักพบบริเวณที่ฉีด เช่น อาการคัน แดง อาจมีไข้ต่ำๆ แต่จะหายภายใน 2-3 วัน ส่วนวัคซีนไข้เลือดออกเริ่มมีใช้แล้วแต่ยังรอ รายงานผลสำหรับผู้สูงอายุ การพิจารณาการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและเลือกวัคซีนที่เหมาะสม จากข้อดีและข้อเสีย โดยดูจากประวัติสุขภาพ กลุ่มอายุของผู้รับบริการ ประวัติการแพ้อาหารยา สมุนไพร วิตามิน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง