สลักดุน

สลักดุน

งานฝีมือเชิงช่างที่ว่าด้วยการตอกให้ยุบลง สลักให้เกิดมิติ ย้ำลายเส้น ดุนให้นูนขึ้น และอีกหลายขั้นตอน

คนซึ่งมีอายุประมาณหนึ่งคงเคยเห็น ‘ขันน้ำ’ และ ‘พาน’ ที่มีลวดลายงดงามที่บ้างก็นูนขึ้นมา บ้างก็ยุบลึกลงไป ลวดลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นงานฝีมือช่างที่เรียกว่าการ สลักดุน คือการใช้เครื่องมือตอกลงบนแผ่นโลหะและดุนให้สูงเพื่อให้เกิดลวดลายตามต้องการ

“หลายครั้งที่เคยมีการจัดแสดงนิทรรศการฝีมือช่างไทย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยเรื่อง ‘สลักดุน’ และนำผลงานสลักดุนมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมอย่างใกล้ชิดมากกว่า 350 ชิ้น” เผ่าทอง ทองเจือ กล่าวในพิธีเปิดนิทรรศการ สลักดุน ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งมีครูผู้มีทักษะฝีมืองานสลักดุนในภูมิภาคต่างๆ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า

“จุดประสงค์ของงานฝีมือ ‘สลักดุน’ ทำเพื่อ 3 สิ่งเท่านั้น” บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ฯ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง กล่าวและว่า โดยงานฝีมือลักษณะนี้เกี่ยวเนื่องใน 3 ลักษณะ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์,พระพุทธศาสนา และ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

“เครื่องทรงพระมหากษัตริย์ทำด้วยทองคำ...โลหะมีค่า ในพระศาสนาไปดูได้ที่ปลียอดองค์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช นั่นก็หุ้มด้วยทองคำ พระธาตุลำปางหลวงก็หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก สลักลวดลายเป็นดอกดวงต่างๆ สุดท้ายในในชีวิตประจำวัน ก็มีมากมาย” บุญชัย อธิบายเพิ่มเติมพร้อมกล่าวถึงความหมายของคำว่า ‘สลักดุน’ ไว้ดังนี้

คำว่า สลัก กับ ดุน เป็นกิริยาที่ต่างกัน

‘สลัก’ คือ การใช้เครื่องมือย้ำลงไปให้เกิดลายเป็นมิติ
แต่ ‘ดุน’ คือ การตอกออก

‘สลักดุน’ เป็นงานฝีมือหมวดหนึ่งของงานช่างไทย อยู่ใน ‘ช่างสิบหมู่’ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คุณบุญชัยกล่าวและว่า

“แต่ถ้าสืบค้นย้อนขึ้นไปเราค้นพบงานศิลปกรรมแขนงนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ขุดพบตามลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำลพบุรี อายุ 1800 ปี มีการใช้เครื่องประดับที่เป็นเปลือกหอย เอาโลหะเงินทำเป็นกำไล แต่ไม่มีลวยลาย แต่มีจิ้มเป็นรูปไข่ปลา ในพิธีฝังศพมีแผ่นเงินปิดตา ทำด้วยทองคำกับเงินเป็นรูปดวงตา นั่นคือการดุนที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พอกำไลเปลือกหอยหัก ก็ใช้สำริดไปเกาะ ใช้เงินไปหุ้ม ให้ต่อเชื่อมกัน แม้แต่ในยุคอียิปต์โบราณก็มีแล้ว มหาสมบัติของตุตันคาเมน สี่พันกว่าปี แต่ในอุษาคเนย์บ้านเรา ไทย ลาว พม่า กัมพูชา ล้วนมีราชสำนัก ฉะนั้นงานสลักดุนที่เกิดขึ้นมาบ่งบอกว่าราชสำนักสร้างสรรค์เพื่อใช้ในราชสำนักของตนเอง ซึ่งมีลวดลายต่างกัน แล้วจึงค่อยๆ แพร่ออกนอกวังหลวง”

คุณบุญชัยกล่าวถึง ความแตกต่างของลวดลายสลักดุนในแต่ละประเทศที่แวดล้อมประเทศไทย ไว้ดังนี้

“เอกลักษณ์ลายสลักดุนพม่ามีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ‘สกุลรัฐฉาน’ สลักเป็นเรื่องราว เรียกเรื่องราว สลุงม่าน (ม่าน คือ พม่า) เป็นภาพนูนสูง ต้องใช้เนื้อเงินบริสุทธิที่สูงจริงๆ คือ 98% ขึ้นไป ลายหน้าภาพบ่งบอกเครื่องทรงเครื่องแต่งกายของผู้มีบรรดาศักดิ์ในราชสำนักมัณฑะเลย์”

“ล้านช้าง หรือ ‘หลวงพระบาง’ สำคัญที่สุดคือของใช้ในวังหลวงของเจ้ามหาชีวิต เป็นเครื่องเงิน เครื่องคำ(ทองคำ) เครืองยศ การหุ้มโลหะเงิน-ทองคำบนฝักดาบ เครื่องใช้ เช่น ขัน(พาน) ลวดลายนูนเด่นเช่นกัน เช่น ลายเครือวัน(ลายเถาวัลย์) ลายดอกขี้เฟื้อ(ขี้เมฆ) ลายงูซวง(นาค) ลายนกเจ่า(ลายหัวนก)”

“ช่างสลักดุนในราชสำนักพนมเปญก็ไม่น้อยหน้าประเทศใด พระแท่นราชบัลลังก์ในพนมเปญหุ้มด้วยทองคำ พระโกศทรงมงกุฎของอดีตกษัตริย์เจ้ากรุงกัมพูชาสร้างด้วยทองคำ เอกลักษณ์เทียบเคียงศิลปะเขมร 15 ยุค อายุเป็นพันปี เครื่องเงินเขมรปัจจุบันยึดลวดลายจากปราสาทหินนครวัดและปราสาทบายน เป็นลายกนกผักกูด ลายดอกประจำยาม ลายเฟื่อง”

ในประเทศไทย ‘งานสลักดุน’ ปรากฎอยู่ในทุกภูมิภาค แต่ละภาคมีเชิงช่าง-สกุลช่าง แฝงตัวอยู่ในแต่ละท้องถิ่น สืบทอดรูปลักษณ์งานจากบรรพบุรุษและชาติพันธุ์

ดิเรก สิทธิการ ครูศิลป์ของแผ่นดินศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ซึ่งเชี่ยวชาญงานหัตถกรรมโลหะ-สลักดุน ภาคเหนือ กล่าวว่า งานสลักดุนของภาคเหนือได้รับอิทธิพลจาก ‘ช่างฝีมือ 12 ปันนา’ ซึ่งพญามังรายเมื่อครั้งแรกสร้างอาณาจักรล้านนาได้นำช่างเหล่านี้ไปไว้ที่เชียงใหม่ย่าน ‘วัวลาย’ เห็นได้ชัดจากความสวยงามของ ‘วัดศรีสุพรรณ’ หลังจากได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ด้วยงานโลหะสลักดุนเป็นลวดลายตามพุทธประวัติ

“อีกรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์งานสลักดุนภาคเหนือ คืองานขัน หรือ ‘สลุง’ คล้ายบาตรพระ แต่เล็กกว่า ดุนเป็นลายพื้นเมือง เช่น ลาย 12 นักษัตร ลายดอกพ่าย(ดอกกระถิน) ลายดอกตาสับปะรด” ครูดิเรก กล่าว

ขณะที่งานสลักดุนภาคใต้ สืบทอดงานฝีมือจาก ‘ช่างบุ’ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

“ช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก ช่างอยุธยาแยกย้ายลงใต้ด้วย มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ถ่ายทอดงานฝีมือสลักดุนให้กับช่างถมของเมืองนคร” ธีรชัย จันทรังษี นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ ผู้เชี่ยวชาญงานดุนโลหะ-สลักดุน ภาคใต้ กล่าวและว่า เดิมเอกลักษณ์งา่นฝีมือ ‘ช่างถมเมืองนคร’ คือการ ‘จาม’ ใช้เหล็กแหลมจาม หรือ ‘เขียน’ ลงบนโลหะ ยังไม่มีการดุนให้ลอยออกมา

สำหรับภาคอีสาน งานสลักดุนทางอีสานเหนือ เช่น นครพนม หนองคาย ส่วนใหญ่ช่างสืบสายมาจากเวียงจันทน์ ขณะที่อีสานใต้ได้รับอิทธิพลจากกัมพูชา เช่น การทำ ‘ปะเกือม’ เพื่อประกอบเป็นเครื่องประดับ พบมากในจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์

ภาคกลาง “ยุคสุโขทัยพบงานสลักดุนจากพระพุทธรูปที่พิมพ์ด้วยหน้าทอง พระลีลาที่ข้างในเป็นเนื้อว่านแล้วหุ้มด้วยเครื่องเงิน เครื่องสำริดยุครุ่งเรืองจริงๆ คืออยุธยา พบตัวอย่างเครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ กรุวัดมหาธาตุ พบพระพิมพ์พระดุนสลักด้วยทองคำ ผอบบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ไม่นับที่สูญหายจากการถูกลักขโมย” บุญชัย ยกตัวอย่าง

คุณบุญชัย เล่าด้วยว่า ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกทัพไปเวียงจันทน์ กวาดต้อนช่างฝีมือเข้ามาในราชสำนักสยามเป็นจำนวนมาก ในเวลานั้นช่างไทยในราชสำนักแบ่งเป็น 3 หมวด คือช่างทหารมหาดเล็กประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ช่างหลวงสิบสองท้องพระคลัง และช่างเชลย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานฝีมือ เมื่อเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้มีการสร้าง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ เพื่อพระมหาราชครูถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเหล่านี้ตกแต่งอย่างสวยงามโดยมีงานฝีมือสลักดุนเข้าไปประกอบ

ชิ้นงานสลักดุนที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ สลักดุน ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นของสะสมส่วนตัวของ เผ่าทอง ทองเจือ ซึ่งได้รับการทาบทามจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ให้นำมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เชิงช่างแขนงนี้ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักและร่วมอนุรักษ์

ปัจจุบันผู้สืบทอดงานฝีมือสลักดุนยังคงมีอยู่ แต่น้อยเต็มที

ครูดิเรกกล่าวว่า ขณะนี้ตนเองได้เปิดบ้านที่ถนนวัวลาย เชียงใหม่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการดุนโลหะให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ นอกจากลูกชายที่ร่วมสืบทอด ก็มีลูกศิษย์อีก 10 คน และมีสองคนที่ดูว่าจะเอาจริงทางงานด้านนี้

ขณะที่คุณธีรชัยกล่าวว่า กรมศิลปากรพยายามสืบทอดงานสลักดุนเช่นกัน ด้วยการเปิด 'ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่' ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ต.ศาลายา จ.นครปฐม

“งานฝีมือเชิงช่างไทยบางอย่างเกือบสูญหายไปแล้ว เช่น งานคร่ำเงิน-คร่ำทอง” คุณบุญชัยกล่าวและว่า แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงฟื้นฟูกลับมาไว้ด้วย งานศิลป์แผ่นดิน เช่นเดียวกับงาน ‘สลักดุน’ และงานประณีตศิลป์ไทยทุกแขนงที่ทรงอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญ

ฝากเป็นสมบัติแผ่นดิน..ให้ลูกหลานไทยได้ชมได้ศึกษาสืบไป

--------------------------------------

นิทรรศการ ‘สลักดุน ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม-4 กันยายน 2559 ณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ เวลา 09.00-16.00 น. ปิดทำการวันจันทร์และวันอังคาร ไม่เสียค่าเข้าชมเฉพาะในส่วนนิทรรศการสลักดุน

--------------------------------------

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร