GREEN ขอเวลาตั้งไข่

GREEN ขอเวลาตั้งไข่

พลังงานทดแทน & อสังหาริมทรัพย์ งานสร้างอนาคตที่ดี บมจ.กรีน รีซอร์สเซส 'ประทีป อนันตโชติ' ยกมือการันตี พร้อมเดินหน้าเต็มกำลัง

'ปล่อยสินเชื่อ แก้หนี้ 30 ปี' 

ทว่าวันนี้อดีตนายแบงก์ในวัยเกษียณ 'ประทีป อนันตโชติ' ขอเปลี่ยนบทบาทเป็นนักธุรกิจ ด้วยการนั่งประจำตำแหน่ง รองประธานกรรมการ บมจ.กรีน รีซอร์สเซส หรือ GREEN (ชื่อเดิมบมจ.เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ACD) ตามคำเชื้อเชิญของประธานกรรมการบริษัท 'พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช' ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยทำงานแบงก์

ก่อนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นำทีมโดย 'ไต้ ชองอี' 'กรวรรณ ใจวันดี' 'ภัทรภร ลิมปนวงศ์แสน' และ พิสุทธิ์ วิริยะเมตตากุล (ทายาท 'ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล' เจ้าของโรงพยาบาลวิภาวดี) เป็นต้น จะเข้ามารื้อโครงสร้างธุรกิจใหม่ยกแผง ในช่วงปลายปี 2556

ด้วยการผันตัวเข้าสู่แวดวงอสังหาริมทรัพย์และพลังงานทดแทน ผ่านการเทคโอเวอร์คอนโดมิเนียม ตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม และซื้อหุ้นบริษัท โอริน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม ออริจินส์ บางมด-พระราม 2

ในอดีตองค์กรแห่งนี้เคยดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สันทนาการ ภายใต้ชื่อ บมจ.ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ หรือ MME ของ 'เสี่ยโต้ง-กมล เอี้ยวศิวิกูล' เมื่อก่อนหลายคนอาจเคยได้ยินความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 'ชัยสิทธิ์' กับ 'เสี่ยโต้ง' หลังสิบกว่าปีก่อนเคยเปิดคลินิกความงามร่วมกัน

หลังการเข้ามาของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ และก่อนบริษัทจะเปลี่ยนชื่อได้ไม่นาน ราคาหุ้น ACD ถูกมือดีกระชากราคา จากระดับกว่า 1 บาท พุ่งพรวดไปยืน 12 บาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน

เหตุการณ์ในครานั้นสร้างความงงงวย!! ให้เหล่าทีมบริหาร 'หุ้นขึ้นได้อย่างไร สตอรี่ก็ไม่มี ผลประกอบการก็ติดลบ' หุ้นใหม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน
หลายคนคาดคะเนว่า อาจเป็นฝีมือ 'พระอาจารย์พ.' ที่ขณะนั้นกำลังลากหุ้นพร้อมกันถึง 4 ตัว....

'ช่วงตั้งไข่ ไม่จำเป็นอย่ากู้เงิน ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ถ้ารู้จักใช้เครื่องมือทางการเงินให้เป็นองค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืน' อดีตนายแบงก์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกเช่นนั้นกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' 

ก่อนจะเข้ามาทำงานในบริษัทแห่งนี้ในปี 2557 ชีวิตมุนษย์เงินเดือนของ 'ประทีป' โลดแล่นอยู่ในวงการบัตรเครดิตการ์ดมากว่าสิบปี งานแห่งแรกเกิดขึ้นในบริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด หลังเรียนจบคณะบัญชี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

จากนั้นก็เข้ามาฝังตัวอยู่แบงก์กรุงศรีอยุธยา ในปี 2530 ผ่านมา 2 ปี ผู้ใหญ่สั่งให้ย้ายสายไปนั่งตำแหน่งผู้จัดการสาขาราษฎร์บูรณะ สาขาสุดท้ายในวงการแบงก์ คือ ศรีนครินทร์

โจทย์แรกที่ต้องเร่งมือทำใน GREEN คือ ล้างขาดทุนสะสม 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2560 ด้วยการนำส่วนต่างจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) มาล้างขาดทุนสะสม...

๐5 ปี 20 เมกะวัตต์ แผนโซลาร์ฟาร์ม

'ประทีป' เล่าว่า จากนี้บริษัทจะมีรายได้หลักมาจาก 2 ส่วน คือ พลังงานทดแทน และอสังหาริมทรัพย์ น้ำหนักส่วนใหญ่อาจถูกเทไปทางพลังงานทดแทน สอดคล้องกับแผนธุรกิจใน ปี 2560 ที่ต้องการเห็นสัดส่วนรายได้รวม 60:40 ตามลำดับ ก่อนจะเด้งขึ้นสู่ระดับ 70% ในปีถัดไป ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าจะดำเนินการ ภายใต้บริษัทย่อย 'เอซีดี เอ็นเนอร์ยี่'

เป้าหมายของธุรกิจไฟฟ้า คือ ต้องมีกำลังการผลิตในมือเฉลี่ย 5-7 เมกะวัตต์ ภายในปี 2559 ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาเอ็มโอยูกับบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิเข้าทำสัญญากับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 1 จำนวน 2 เมกะวัตต์ (แอบบอกชื่อพันธมิตร)

หากไม่มีอะไรผิดพลาด บริษัทจะเข้าถือหุ้นส่วนหนึ่ง เพื่อร่วมกันทำโซลาร์ฟาร์ม ก่อนจะขอซื้อทั้งหมดในอนาคต

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างดีลกับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ผ่านการคัดเลือกของสหกรณ์การเกษตรจำนวน 5 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองบริษัทแสดงความจำนงชัดเจนว่า ต้องการพันธมิตรร่วมลงทุน เพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอต่อการทำโปรเจค ซึ่งการลงทุนก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มค่อนข้างจะใช้เงินสูงเฉลี่ย 1 เมกะวัตต์ 50 ล้านบาท

ล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญาเอ็มโอยูกับบริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรมย่านปากน้ำ เบื้องต้น อยู่ระหว่างศึกษาการเปลี่ยนรูปแบบกำจัดขยะ จากแบบกลบฝังเป็นแบบเผา หากผลศึกษาพบว่า “คุ้มค่า” อาจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อซื้อเตาเผา เรื่องนี้อาจเคาะได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2559
ขณะเดียวกันบริษัทดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขอต่อใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า จากการเผาขยะอุตสาหรรม หลังใบอนุญาตหมดอายุไปในปี 2555 หากทางการอนุมัติอาจจับมือกันก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่สูงเท่าไหร่นัก แค่หลับสิบล้านบาท แต่โครงการจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ขึ้นไป เรื่องที่ดินไม่ต้องห่วงบริษัทแห่งนี้มีที่พื้นที่กว่า 500 ไร่

'กำลังคุยกับเจ้าของโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จังหวัดศรีสะเกษ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 30 ล้านบาท เขาอยากขาย หากผลศึกษาคุ้มค่าก็อาจซื้อ'

เบื้องต้นวางกรอบเงินลงทุนในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่ระดับ 800 ล้านบาท นักลงทุนไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเงิน ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ประมาณ 250 ล้านบาท และยังมีเงินจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญ GREEN - W2 อีกประมาณ 120 ล้านบาท

ที่สำคัญองค์กรแห่งนี้แทบไม่มีหนี้ สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้สิน ณ วันที่ 30 มิ.ย.2559 ที่อยู่ระดับ 112 ล้านบาท ฉะนั้นหากจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากสามารถกู้แบงก์ได้อีก เราตั้งใจจะกู้เงินมาทำโครงการพลังงานทดแทนเพียง 20% ของมูลค่าโครงการเท่านั้น

'ภายใน 5 ปีข้างหน้า ต้องมีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์ม 20 เมกะวัตต์ แต่ภายในปี 2560 บริษัทต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นให้ได้ก่อน หลังหยุดจ่ายเงินปันผลมากแล้ว 12ปี'

๐เร่งระบายสต็อกเก่า

รองประธานกรรมการ เล่าแผนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ฟังว่า ตามแผนไม่ต้องการหาโครงการใหม่ เพราะต้องการระบายของเก่าให้หมดก่อน ปัจจุบันมีโครงการอยู่ในมือ 2 แห่ง คือ โครงการคอนโดมิเนียม ตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม และโครงการคอนโดมิเนียม ออริจินส์ บางมด-พระราม 2

ในส่วนของโครงการตักสิลา มีทั้งหมด 4 ตึก ตึกละ 75 ห้อง รวม 300 ห้อง หลังซื้อมาด้วยเงิน 140 ล้านบาท (เฉลี่ยมูลค่าตึกละ 32 ล้านบาท) ตั้งใจจะรีโนเวทใหม่ทั้งหมด หวังอิงกระแสตลาดเออีซี ตามโรดแมพของรัฐบาลชุดเก่า

แต่เดินหน้าได้ไม่นาน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคอีสานซบเซา ไม่คึกคักเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แถมยังถูกซ้ำเติม จากภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ทำให้ลูกค้ากู้เงินแบงก์ไม่ผ่าน หลายราย ประกอบกับช่วงนั้นโครงการมีปัญหาเรื่องผู้รับเหมา ทำให้ไม่สามารถปิดการขายได้ภายในปี 2558

ตอนนี้ปัญหาเรื่องผู้รับเหมาได้ข้อสรุปแล้ว ที่ผ่านมาใช้เงินรีโนเวทเฉลี่ยตึกละ 8-9 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างวางแผนการตลาดใหม่ยกแผง โดยจะหันมาเน้นเจาะกลุ่มสหกรณ์ครู และสมาชิกสาธารณสุข เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ 7.5 แสนบาทต่อยูนิต คาดว่าจะปิดการขาย 280 ห้อง ได้ภายในปีนี้ หลังขายได้แล้วประมาณ 20 ห้อง ฉะนั้นอาจรับรู้ยอดขายจากโครงการนี้ประมาณ 200 ล้านบาท

เขา เล่าต่อว่า สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมออริจินส์ บางมด-พระราม 2 สูง 19 ชั้น จำนวน 371 ยูนิต ซึ่งเป็นของบริษัท โอริน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หลัง GREEN นำเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนไปซื้อหุ้นในบริษัทดังกล่าวต่อจากเจ้าของคนเดิม ก็ได้ทยอยโอนห้องให้ลูกค้าแล้ว 150 ห้อง เหลือขายอีกเพียง 40 ห้อง คาดว่าจะสามารถปิดการขายได้ภายในปีนี้

หากสามารถจบการขายได้ตามแผน อาจได้รับเงินทุนบวกกำไรประมาณ 195 ล้านบาท จากทั้งหมด 620 ล้านบาท เนื่องจากต้องนำเงินบางส่วนไปทยอยชำระหนี้สินกับแบงก์ธนชาต ปัจจุบันเหลือหนี้เพียง 100 ล้านบาท จาก 300 ล้านบาท

จากนี้จะเน้นจับมือกับพันธมิตรหรือเทคโอเวอร์กิจการ เพื่อสร้างการเติบโตที่รวดเร็ว โดยจะเน้นทำอสังหาริมทรัพย์ประเภททาวน์เฮ้าส์ระดับล่าง หรือราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานยังพอมีกำลังซื้อ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้

ขณะเดียวกันยังมีแผนจะไปซื้อสินทรัพย์ จากบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ก่อนหน้านี้มีโอกาสไปดูโครงการทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวมาแล้ว 2 แห่ง แถวปทุมธานีแต่โครงการไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะมีคนอยู่อาศัยแล้วส่วนหนึ่ง ฉะนั้นหากจะเข้าไปดำเนินการรีโนเวทจะทำได้ยาก อะไรที่ต้องรบกับชาวบ้านขอลาดีกว่า

'ไม่รีบขอดูไปเรื่อยๆ ซื้อสินทรัพย์กับ BAM ใช้เงินไม่สูง ซึ่งการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่คุ้มค่าต้องมีกำไรขั้นต่ำต้อง 17%'

สำหรับเรื่องแบรนด์ ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะใช้แบรนด์ ROCCIA แปลว่า หิน ต่อหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนชื่อใหม่

เมื่อถามถึงธุรกิจบริการ เขา ตอบว่า ปัจจุบันมีสองบริษัทย่อยที่เคยดำเนินธุรกิจบริการ แต่ปัจจุบันหยุดดำเนินการชั่วคราวแล้ว นั่นคือ บริษัท กรีน พลัส แอสเซท จำกัด และบริษัท เมดดาลิสท์ วิชั่น จำกัด

ในส่วนของบริษัท เมดดาลิสท์ วิชั่น คงปิดกิจการถาวร แต่บริษัท กรีน พลัส แอสเซท กำลังคิดจะหาโปรเจคใหม่มาใส่ เช่น การให้บริการลดพลังงานกับองค์กรขนาดใหญ่ตามองค์กรต่างๆ อย่างโรงพยาบาล เป็นต้น แต่เรื่องนี้ต้องใช้เงินลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบุคลากรจำนวนมาก ฉะนั้นยังเป็นเพียงความคิด

'ไม่ค่อยออกมาให้ข่าว ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ตรงข้ามทำงานหนักทุกวัน เพื่อหาโปรโจคที่สร้างความคุ้มค่าที่ดีที่สุด ที่ผ่านมาพยายามลดต้นทุนเรื่องบุคลากร จากเดิมเคยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5-6 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือต้นทุนคนเพียง 2-3 ล้านบาท'

นายใหญ่ ทิ้งท้ายว่า เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น GREEN เพราะต้องการลบภาพหุ้นหวือหวา และต้องการสื่อสารต่อผู้ถือหุ้น หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า บริษัทกำลังจะหันมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

*ติดตามอ่านกรุงเทพธุรกิจ Bizweek ได้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเปลี่ยนจากฉบับวันจันทร์ มาเจอกันในทุกวันอาทิตย์ โดยยังคงความเข้มข้นของเนื้อหาข่าว เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน พร้อมเสิร์ฟถึงมือผู้อ่านทุกท่าน!!