รพ.สธ.ขาดทุนระดับ7 บางแห่งประชาชนได้ยาแค่30%

รพ.สธ.ขาดทุนระดับ7 บางแห่งประชาชนได้ยาแค่30%

กมธ.สธ.เชิญรพ.สธ.ขาดทุนระดับ 7 กระเทาะมูลเหตุ พบ 2 ส่วนหลัก ประชากรน้อย-งบฯน้อย เผยบางแห่งกระเทือนหนัก ประชาชนได้ยาครบแค่ 30%

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา กมธ.สธ.ได้เชิญโรงพยาบาล(รพ.)สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องระดับ 7 คือระดับวิกฤติ จำนวน 7 แห่งมาให้ข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง เบื้องต้นสรุปมูลเหตุของการขาดสภาพคล่องได้ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.รพ.ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ขณะที่โครงสร้างรพ.เป็นระดับเดียวกัน คือ โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) มีประชากรไม่เท่ากันแต่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เท่ากัน และ2.เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ที่จ่ายให้จำนวนประชากร จึงได้รับน้อย เมื่อหักค่าตอบแทนของบุคลกรที่เท่ากับรพ.ระดับเดียวกัน ทำให้มีเงินดูแลประชากรน้อยกว่าและไม่เพียงพอ

“รพ.ที่มาให้ข้อมูลบางแห่งบอกว่าประชาชนได้รับยาครบเพียงร้อยละ 30 คือ ประชาชนได้ยาไม่ครบที่ควรจะได้ เพราะรพ.มีปัญหาเรื่องขากสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่จะใช้เครดิตในการซื้อยา ขณะที่แพทย์ก็ไม่อยากมาอยู่ เจ้าหน้าที่เดิมก็อยากย้ายออก เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากังวลเพราะเป็นสิ่งที่จะกระทบถึงคุณภาพในการให้บริการแก่ประชาชนลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน ทับทมเหมือนกองหิมะ ถ้าหากยังปล่อยไปเรื่อยๆไม่ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นแก้ไม่ได้” นพ.เจตน์กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า กมธ.สธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังสธ.เพื่อให้รู้ถึงปัญหา แต่เข้าใจว่าคงทราบปัญหาดีอยู่แล้ว โดยจะมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง คือ แยกเงินเดือนบุคลากรในรพ.สธ.ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เพราะปัจจุบัน ร้อยละ60อของเงินเดือนจะอยู่ในงบฯนี้ ซึ่งส่วนนี้ป็นข้อเสนอจากรพ.เอง ทั้งนี้ การแยกเงินเดือนออกจากงบฯรายหัวจะทำให้เห็นภาพงบประมาณชัดขึ้น เช่น งบเหมาจ่ายรายหัว 3,000 บาท หากแยกเงินเดือนบุคลากรสธ.ออกไปแล้วจะเหลืองบฯในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาประชาชนจริงๆเท่าไหร่ เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบประมาณจะได้เห็นภาพและเพิ่มเติมงบประมาณต่อไป

ยกตัวอย่าง สถานการณ์ใน 5 โรงพยาบาล ได้แก่ 1.รพ.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา ขาดทุนปี 2557 จำนวน 2.8 ล้านบาท ปี2558 ขาดทุน 6 แสนบาท สาเหตุได้รับงบจัดสรรไม่เพียงพอเพราะประชากรในพื้นที่มีน้อย รายจ่ายบุคคลากรสูง รพ.ไม่ทราบตัวเลขแท้จริงที่สปสช.จัดสรรให้ ขอดูก็ไม่ได้ ข้อเสนอแนวทางในการแก้ไข คือ แยกเงินเดือนออกจากงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า น รพ.ต่างๆสามารถรับรู้เงินที่จะได้รับจัดสรรแท้จริง รพ.ที่ขาดทุนจากประชากรน้อยแต่เจ้าหน้าที่มากจะได้รับเงินเพิ่มขึ้น เสนอให้จัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวแบบขั้นบันได กองทุนย่อยเฉพาะโรคควรมีเท่าที่จำเป็นและมีน้อยที่สุด ใช้จ่ายเบิกข้ามกองทุนไปช่วยเหลือรพ.อื่นได้ เสนอให้มีการร่วมจ่ายเพิ่มจาก30เป็น50บาท และการซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้า เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษหรือบัตรทองช่วยชาติ

2.รพท.พังงา ย้อนหลัง 14 ปีเงินบำรุงลดต่ำลงทุกปี เงินบำรุงคงเหลือ 2.35 ล้านบาทหนี้สินปัจจุบัน 72 ล้านบาท ค่าตอบแทนค้างจ่าย 12 เดือน จำนวน18.38 ล้านบาท สาเหตุเพราะจังหวัดเล็กแต่มีรพท. 2 แห่ง รพช.7แห่ง รพ.พท.เกาะ 10 แห่งและรพ.สต.ถึง 64 แห่ง ปี2559 ส่วนกลางต้องให้เงินช่วยเหลือถึง25 ล้านบาท มีวิกฤตการเงินระดับ 7 พัฒนางานไม่ได้ ค้างจ่ายค่าตอบแทน ค้างจ่ายเจ้าหนี้การค้า โครงสร้างเสื่อมโทรม บุคคลากรขาดขวัญกำลังใจ 3.รพ.สมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า เป็นรพ.ระดับ 60 เตียงแต่บริการจริงมี 121 เตียงทำให้ต้นทุนการจัดบริการเพิ่มขึ้น ปี 2557 ขาดทุน 37.1 ล้านบาท ปี2558 ขาดทุน 26.4 ล้านบาท ปี2559 ขาดทุนในขณะนี้ 32.8 ล้านบาทมีแพทย์ประจำในปัจจุบัน 12 คน ปัญหาจากค่าใช้จ่ายบุคคลากรเป็นสาเหตุหลักประชากรสูงอายุมีมากถึงร้อยละ 23   

4.รพ.อินทร์บุรี เป็นรพท.ขนาด 218เตียง แพทย์ประจำ 9 คนแพทย์ใช้ทุน 8 คน ปี2557ขาดทุน 34.5 ล้านบาท ปี2558 ขาดทุน 7.6 ล้านบาท สาเหตุเพราะประชากรน้อยเพียง39,700 คน ค่าใช้จ่ายสูง มีปัญหาการจัดทำข้อมูลเพื่อเรียกเก็บเงินจากกองทุนต่างๆและถูกหักเงินย้อนหลัง รพ.มีหนี้สะสมมาก ความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อยกว่าการก่อหนี้ ผู้ประกอบการปฏิเสธการส่งสินค้าและบริการ ภาระค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ(แล็ป)ที่อื่นเพราะขาดเครื่องมือ รวมถึง ขาดแพทย์เฉพาะทางจึงต้องตามจ่ายจากการส่งต่อผู้ป่วย สถานการณ์ย่ำแย่ลงเพราะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิอื่นๆหรือที่จ่ายเงินเองถูกส่งไปที่อื่น ทำให้ขาดรายได้จากกลุ่มนี้และภาพลักษณ์ ความเชื่อถือลดลง

และ 5.รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ประชากร 26,000 คน เป็นรพช. จำนวน 30 เตียง มีรพ.สต.6แห่ง ปี2557 กำไร 1,248,047 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 5,945,560 ล้านบาท สาเหตุจากนโยบายปรับเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานสธ.โดยมีการปรับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น การขยายอัตราค่าจ้างให้เทียบเท่าบัญชีเงินเดือนข้าราชการ บุคคลากรเจ็บป่วยเรื้อรังขาดอัตรากำลัง รพ.อยู่ในพื้นที่ประชากรน้อยจึงได้รับงบฯน้อย