แบงก์ชาติแทรกแซงค่าบาท หวั่นแข็งค่าเร็ว

แบงก์ชาติแทรกแซงค่าบาท หวั่นแข็งค่าเร็ว

แบงก์ชาติแทรกแซงค่าบาท หวั่นแข็งค่าเร็วกระทบภาคธุรกิจ-เศรษฐกิจ แนะบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ชี้มีโอกาสปรับทิศทางได้รวดเร็วตามการฟื้นตัวศก.โลก

ค่าเงินบาทไทยยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยวานนี้ (16 ส.ค.) เปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนแข็งค่าจนแตะระดับสูงสุดของวันที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับแข็งสุดค่าในรอบ 13 เดือน โดยเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าจนหลุดกรอบ 35 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.2559 และแม้จะเกิดเหตุระเบิดในหลายจังหวัดทางภาคใต้ช่วงวันที่ 11-12 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก

การแข็งค่าของเงินบาทมาจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 1.04 แสนล้านบาท ส่วนตลาดบอนด์มียอดซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 3.34 แสนล้านบาท ทำให้ยอดคงค้างการลงทุนสุทธิในตลาดบอนด์ ณ วันที่ 15 ส.ค. อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.33 แสนล้านบาทจากสิ้นปี 2558

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาดีกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาล่าสุด ยังสะท้อนถึงความอ่อนแอ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาเร็ว อาจเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและการปรับตัวของเอกชนและเศรษฐกิจไทย

นายจันทวรรณ กล่าวว่าขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีโอกาสเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจ ไตรมาส 2 ของไทย ที่ขยายตัวมากกว่าที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะมีเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ ในเดือนส.ค.มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยรวมกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก

เผยแบงก์ชาติทุ่มแทรกค่าเงิน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า เงินบาทยังทยอยแข็งค่าต่อเนื่อง แม้ว่า ธปท. จะพยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วจนเกินไป แต่ก็ไม่สามารถพยุงค่าเงินไว้ได้มากนัก

นายจิติพล กล่าวว่า ในระยะสั้นโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องยังคงมี เนื่องจากนักลงทุนในขณะนี้เริ่มเปิดรับความเสี่ยง หันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น อีกทั้งมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่

“เราเห็นชื่อของแบงก์ชาติเข้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า พยายามเข้าซื้อแถวๆ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ลงมา ซึ่งก็ช่วยให้ค่าเงินไม่แข็งค่าเร็วจนเกินไปได้ และจริงๆ แบงก์ชาติ เข้ามาแทรกแซงในตลาดตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าบ้างแล้ว แต่ไม่เยอะเท่ากับครั้งนี้ จะเห็นว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติเองก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

ชี้ค่าบาทแข็งค่ามากกว่าภูมิภาค

นายจิติพล กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ถือว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค มองไปข้างหน้าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในภาวะที่เปิดรับความเสี่ยง(Risk on) ซึ่งมักจะมองหาการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงอยู่

“ต้องบอกว่าตอนนี้เราเริ่มดูดีกว่าคนอื่นมาก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ แม้ระดับการเติบโตจะต่ำกว่าที่อื่นๆ แต่ของเราเริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัว ขณะที่คนอื่นๆ เขายังทรงๆ หรือบางคง แย่ลง ตรงนี้เลยทำให้เราตกอยู่ในเป้าสายตาของนักลงทุน”

นายจิติพล กล่าวว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ทางศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี คาดการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่โอกาสที่จะหลุดกรอบ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ลงมายังมีอยู่มาก เพียงแต่จะไม่เร็วเกินไป เพราะเชื่อว่า ธปท. จะยังคงเข้าแทรกแซงในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 5 ส.ค.2559 พบว่า ตัวเลขสุทธิที่รวมกับยอดซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(ฟอร์เวิร์ธ) อยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ระดับ 1.95 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์

เตือนผู้ส่งออกรายเล็กได้รับผลกระทบ

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากสศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัวถึง 3.5%

นอกจากนี้ รัฐบาล ยังมีนโยบายที่จะเร่งการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐเองก็มีแนวโน้มที่จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้เงินไหลเข้าประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ยังพอรับได้ แม้ว่าจะเป็นระดับที่แข็งค่าเกินกว่าที่ผู้ประกอบการส่งออกคาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็คิดว่า ธปท. คงดูแลอยู่ไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วเกินไป เนื่องจากหากเงินบาทแข็งค่าเกินกว่านี้ จะทำให้ผู้ส่งออกทำธุรกิจหรือส่งออกไปต่างประเทศแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นขณะที่ตลาดมันเล็กลง ซึ่งก็คิดว่าจะทำให้ผู้ส่งออกรายเล็กโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก จากโอกาสที่จะปรับราคาทำได้ยาก รวมทั้งศักยภาพการทำประกันความเสี่ยงก็น้อย

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะยังคงติดลบ 2% เหมือนเดิม