ผุดท่าเรือสำราญสมุย เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวภาคใต้

ผุดท่าเรือสำราญสมุย เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวภาคใต้

กระแสนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้าไทยกว่า 32 ล้านคนปีนี้ ทำให้รัฐบาลหันมาจริงจังกับการพัฒนา“ท่าเรือ”เพิ่มศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว

ล่าสุดมีรัฐบาลประกาศความพร้อมการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญในฝั่งอ่าวไทย ปักหมุดที่ “เกาะสมุย” จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือภาคใต้ฝั่งตะวันออก คู่ขนานไปกับภูเก็ตในฝั่งอันดามัน โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA จากนั้นดำเนินการเปิดประกวดราคาหาเอกชนผู้ลงทุนและก่อสร้างภายในปี 2560

จุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือฝั่งอ่าวไทยให้รับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น จะช่วยเสริมให้ภาคใต้สามารถรองรับตลาดเรือสำราญได้ครบเส้นทาง และทุกฤดูกาล เนื่องจากภูมิอากาศของฝั่งอันดามันและอ่าวไทย มีความเหมาะสมในการเดินเรือในช่วงเวลาที่ต่างกัน ปัจจุบันภูเก็ตเป็นจุดแวะพักสำคัญของเรือขนาดใหญ่ และมีมารีน่าของภาคเอกชนรองรับต่างชาติที่นำเรือมาจอดพำนักเพื่อการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่หากเป็นช่วงมรสุม ต่อไปก็จะมีทางเลือกในการล่องเรือไปยังฝั่งอ่าวไทยได้

การขยับตัวดังกล่าว สอดคล้องกับกลยุทธ์ของประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “ตลาดคุณภาพ” เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับเรือสำราญมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง โดยงานวิจัยของ “ทูเดย์ บิสสิเนส รีเสิร์ช แอนด์ อีโคโนมี แอดไวเซอร์” หรือ บีอาร์อีเอ ระบุว่า ในฤดูกาลเดินเรือปี 2557/2558 ตลาดเรือสำราญ 35 จุดหมายสำคัญทั่วโลก มีมูลค่า 3,160 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 23.6 ล้านคน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น เกิดการจ้างงานในเส้นทางเดินเรือ 7.5 หมื่นคน และยังพบว่าการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวยังเติบโตกว่า 30% เมื่อจอดพักในแหล่งท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับฤดูกาลเดินเรือก่อนหน้านี้ด้วย

ขณะที่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า ปี 2558 ไทย มีตลาดเรือสำราญจากทั่วโลก 5 แสนคน ทำรายได้ 3,500 ล้านบาทต่อปี

จุฑาพร กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันท่าเรือหลายแห่ง เช่น ท่าเรือ อ่าวมะขาม จ.ภูเก็ต หรือ ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (ครุยส์) ได้ แต่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวเทียบกับสิงคโปร์หรือฮ่องกง แต่ ททท. ก็พยายามเกาะกระแสตลาดนี้เพื่อรักษาอัตราเติบโต โดยจะเข้าร่วมงานเทรดโชว์สำหรับตลาดเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยวรายการใหญ่ทั้งฝั่งอเมริกา ได้แก่ งานซีเทรด ครุยส์ โกลบอล ที่ฟลอริด้า และงานโบ้ทโชว์รายการสำคัญที่สุดของยุโรป ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ เยอรมนี

“ตลาดเรือสำราญยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในยุโรป สามารถขยายไปยังกลุ่มนอร์ดิก อาทิ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ได้ เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของประเทศเหล่านี้ผูกพันอยู่กับเรืออยู่แล้ว และไทยมีความเหมาะสมในสภาพอากาศ"

การมีท่าเรือยังช่วยตอกย้ำจุดหมายทางทะเลชั้นนำของภาคใต้ด้วย โดยสถิติปี 2557 จากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ภาคใต้ดึงดูดเงินมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเป็นที่นิยมสูง และยังมีการใช้จ่ายในพื้นที่สูงกว่า 5.05 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยปี 2555-2557 อยู่ที่ 30% แต่หากเจาะจงเฉพาะที่ สุราษฎร์ธานีเติบโตใน 3 ปีดังกล่าว 32.71%

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ทริป 12,132 บาท เป็นรองเพียงแค่ กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ที่ 12,454 บาท โดยรายได้ของภาคใต้ 70% ยังมาจากการพึ่งพิงตลาดต่างชาติเป็นหลัก