ดึงญี่ปุ่นศึกษาไอซีดี 2 แห่ง

ดึงญี่ปุ่นศึกษาไอซีดี 2 แห่ง

"อาคม"เปิดทางญี่ปุ่นศึกษาสร้างไอซีดีเชียงรากน้อย-อมตะนคร หนุนเส้นทางรถไฟสายเศรษฐกิจอีส-เวสต์ คอร์ริดอร์ รองรับขนส่งสินค้าระดับเอสเอ็มอีเพิ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ด้านระบบรางเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ ช่วงพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และฉะเชิงเทรา-มาบตาพุด

จากที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้เข้ามาทดลองการขนส่งสินค้าทางรางด้วยตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ขนาด12ฟุต ในเส้นทางระหว่างสถานีชุมทางหนองปลาดุก จ. ราชบุรี สู่สถานีบางซื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถใช้บริการขนส่งสินค้าทางรางในขนาดเล็กได้

โดยจากการทดลองเดินรถในช่วงที่ผ่านมา ทางไจก้าจึงเสนอว่าหากไทยต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ควรจะต้องมีการจัดสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) เพิ่มเติม จำนวน 2 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากฝั่งภาคตะวันตก และภาคเหนือเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง โดยการศึกษาเบื้องต้นที่ประเมินเห็นศักยภาพในการพัฒนาไอซีดีจุดแรกคือบริเวณ อ.เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และจุดที่สองคือบริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมากโดยเฉพาะโรงงานของญี่ปุ่น และยังมีความต้องการในการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้ญี่ปุ่นก็ประเมินว่าจะต้องสร้างไอซีดีเพื่อเป็นจุดแยกสินค้าเพิ่มเติมในแนวเส้นทางรถไฟสายนี้ จากเดิมที่ไทยมีอยู่แล้ว 1 แห่งคือไอซีดีลาดกระบัง แต่ภายในที่ประชุมฝ่ายไทยก็เสนอไปด้วยว่าอยากให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างไอซีดีเพิ่มเติมพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบว่าพื้นที่ที่เป็นแนวเส้นทางรถไฟและมีศักยภาพเพียงพอ จะพัฒนาเป็นไอซีดี เช่น จ.อุดรธานี และ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งอาจจะเป็นไอซีดีขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก”

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังขอให้ญี่ปุ่นศึกษาการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มเติม ระยะทาง 50 กิโลเมตร (กม.) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเส้นทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องวิ่งเข้ามายังสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากในอนาคตบริเวณสถานีกลางบางซื่อจะเน้นให้บริการขนส่งคนโดยสารเท่านั้น ดังนั้นเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ หากสามารถปรับแนวเส้นทางออกไปยังแหลมฉบังได้โดยตรงก็จะลดระยะเวลาในการขนส่ง ทั้งนี้ แนวเส้นทางที่จะปรับคาดว่าจะเริ่มจาก อ. เชียงรากน้อยผ่านไปยังบริเวณคลอง 21 จ.ฉะเชิงเทรา และมุ่งตรงไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

อย่างไรก็ดี ในประเด็นของการลงทุนขณะนี้ได้มอบให้ญี่ปุ่นไปพิจารณารูปแบบการลงทุนและการบริหาร โดยเบื้องต้นเสนอให้ศึกษาการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท คือ 1.บริษัทที่ทำการขาย และการตลาด ซึ่งส่วนนี้แนวทางจะให้บริษัทญี่ปุ่นมาลงทุน ทำการหาลูกค้า และจะขอให้มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมทุนอยู่ด้วยแต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไม่ถนัดในการทำการตลาดหาลูกค้า และ 2.บริษัทบริหารการยกตู้คอนเทนเนอร์กับบริหารไอซีดี ส่วนนี้ ร.ฟ.ท.จะถือหุ้นหลัก และเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุน ซึ่งคาดว่าข้อสรุปในประเด็นต่างๆ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. นี้

ส่วนโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ได้หารือกับญี่ปุ่นล่าสุดใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟชินคันเซน พร้อมทั้งจะต้องทำการแยกระบบรางออกจากรางรถไฟเดิมที่มีอยู่ โดยแผนการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งได้เร่งรัดให้ทางญี่ปุ่นเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในเดือน ต.ค- พ.ย.นี้ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณารูปแบบการลงทุนในปี 2560 และก่อสร้างโครงการในปี 2561

สำหรับตัวโครงการพบว่าจะมีผลตอบแทนทางการเงินค่อนข้างต่ำซึ่งจะใช้ ระยะเวลาประมาณ 50 ปีในการคืนทุน ส่งผลให้ไทยขอให้ทางญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีและการพัฒนาเมืองเพื่อเพิ่มผลตอบแทน

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท