'พาณิชย์-ผู้ส่งออก'หวั่นข้าวล้น ฉุดราคาขาย

'พาณิชย์-ผู้ส่งออก'หวั่นข้าวล้น ฉุดราคาขาย

“พาณิชย์-ผู้ส่งออก”ห่วงสถานการณ์ข้าวปลายปีเสี่ยงราคาลดลง ชี้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น 20 % เร่งระบายข้าว

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่า ได้รายงานให้ที่ประชุม นบข. ทราบถึงปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐล่าสุดอยู่ที่9.1ล้านตัน เทียบกับสต็อกในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารในปี2557มีอยู่17.76ล้านตัน แต่เกือบครึ่งหนึ่งของสต็อกที่เหลืออยู่เป็นข้าวเสียที่จะต้องขายให้ภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายของ นบข. จะต้องระบายข้าวออกจากสต็อกอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลในเดือน ส.ค. อีก1รอบ เพราะการเปิดประมูล ส.ค. กว่าจะได้ส่งมอบข้าวก็ต้องเป็นเดือน ก.ย. และในเดือน ต.ค.ก็จะมีข้าวใหม่เข้าสู่ระบบแล้ว ดังนั้นถ้าดำเนินการได้ตามแผนนี้การระบายข้าวของรัฐ ก็จะไม่กระทบต่อราคาในตลาด

“บางรอบเอกชนเสนอมาต่ำกว่าราคาตลาด70%ยังมี ซึ่งอยากบอกว่าถ้าจะเสนอราคาต่ำ ก็ไม่ต้องมาเพราะเสียเวลา เพราะเราจะไม่ขายต่ำกว่าราคาตลาด” น.ส.ชุติมากล่าว

นอกจากนี้ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA)ได้ปรับมุมมองจะมีปรากฏการณ์ลานีญาเข้ามาแทน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ที่จะส่งผลให้ปริมาณข้าวที่เข้าสู่ตลาดมีมากกว่าที่คาด

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกห่วงผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูกาลหน้า หรือตั้งแต่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2559/60 คาดว่าผลผลิตจะออกมามากกว่าฤดูกาลที่ผ่านมา 10-20% ส่งผลให้ราคาข้าวจะปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 จนถึงปี 2560 เนื่องจากเกษตรกรมีการเร่งปลูกข้าวทำให้ผลผลิตออกมาจำนวนมาก หลังจากที่ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล และคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับผู้ปลูกข้าวในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย และเวียดนาม ด้วยทำให้ในปีหน้าจะเกิดการแข่งขันทางด้านราคาส่งออกข้าวอย่างรุนแรงตามทิศทางซัพพลายที่จะเข้าสู่ตลาดมาก

"การส่งออกข้าวที่เผชิญการแข่งขันสูง และสงครามราคา จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาข้าวเปลือกในฤดูกาล 2559/60 ของไทยด้วย ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าจะต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาท” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือเกษตรกรควรเป็นมาตรการเข้าไปดูแลโดยตรง เช่น จ่ายเงินตรง หรือ ลดต้นทุนทางการเกษตรด้านต่างๆ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลไกราคา