นักวิชาการไทย-อาเซียนทลายกำแพงความรู้'พิพิธภัณฑ์'รับศตวรรษ21

นักวิชาการไทย-อาเซียนทลายกำแพงความรู้'พิพิธภัณฑ์'รับศตวรรษ21

หนึ่งในสามหลักการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสิบประเทศต่างมีจุดเด่นและรากฐานที่เชื่อมโยงกัน

ล่าสุด  สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือศูนย์สปาฟา,คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย   จัดงานประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ (Museum Forum 2016) ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2559 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน

งานนี้ ได้ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกระบวนการทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ มุ่งส่งเสริมให้บุคลากรในวงการพิพิธภัณฑ์ไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเปิดโลกทัศน์การสร้างสรรค์  ต่อยอดการพัฒนาองความรู้ด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ พร้อมปรับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไทยให้มีความเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนของพิพิธภัณฑ์ในยุคปัจจุบัน มิได้รองรับเพียงการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ยังขยายบทบาทสู่การพัฒนาการศึกษาของประชาชน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของวงการพิพิธภัณฑ์ไทยคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการถ่ายทอดประสบการณ์อันหลากหลาย มีความน่าสนใจ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้แนวคิด “Museum without Walls” หรือพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีกำแพง ไร้พรมแดน เกิดขึ้นเพื่อทลายกำแพงด้านวัฒนธรรมในอาเซียน ที่นำจะไปสู่ความเข้าใจถึงรากฐานศิลปวัฒนธรรมร่วมของคนอาเซียน  ภายใต้หัวข้อการบรรยายดังต่อไปนี้

                1) มรดกทางวัฒนธรรมกับการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล (Cultural Heritage at Your Fingerprints in The Mobile-first World) โดยคุณเคสเนีย ดุคฟิลด์ คาร์ยาคีน่า ผู้จัดการด้านยุทธศาสตร์นโยบายสาธารณะ สถาบันวิจัยกูเกิล นำเสนอแนวทางการอนุรักษ์และการเรียนรู้วัฒนธรรม ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนในยุคศตวรรษที่ 21 พร้อมสะท้อนมุมมองที่ว่า โลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของความเท่าเทียมที่เปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าถึงมรดกวัฒนธรรม และศิลปะจากทั่วทุกมุมโลกได้ตลอดเวลา โดยช่วยลดข้อจำกัดทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ได้ เพียงอาศัยปลายนิ้วสัมผัส

                2) การประยุกต์ใช้วัฒนธรรมไร้รูปสู่กระบวนการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์ (Using Intangible Cultural Heritage to Move Beyond the Museum) โดยคุณธารา กูจาเดอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนลาว แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้กรอบคิดเรื่องวัฒนธรรมไร้รูปของยูเนสโก โดยมุ่งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย เก็บรวบรวมฐานข้อมูลวัฒนธรรมไร้รูป อาทิ นิทาน ตำนาน ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการกำหนด เนื้อหา วิธีนำเสนอ การนำชม อันก่อให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในตนเอง       

                3) โปรแกรมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Museum Program for The Alzheimer's: Pilot Project in National Museum of Indonesia) โดยคุณเอนดริยาตี ระหะยู อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย บรรยายถึงโครงการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงจาการ์ตา นำเสนอา พิพิธภัณฑ์ควรเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกลุ่มที่เคยชินอย่างกลุ่มเยาวชนได้ โดยในโครงการนี้ ผู้ศึกษาใช้จารึกโบราณเป็นสื่อในการเรียนรู้ให้กับกลุ่มตัวอย่าง และได้รับผลตอบกลับที่น่าสนใจ

                4) แนวคิดพิพิธภัณฑ์ไร้กำแพงกับการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ตามข้อแนะนำของยูเนสโก (Potential contribution of Museums without Walls in implementing the UNESCO Recommendations on Museums) โดย ดร.เซือง บิ๊ก แฮค หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมแห่งสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ประเทศไทย ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญ และบทบาททางสังคมของพิพิธภัณฑ์ในฐานะองค์กรที่จะผนึก บูรณาการ ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้สามารถเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมหาศาลของสังคมได้  รวมถึงจะช่วยสร้างความเป็นพลเมือง และสะท้อนอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม ผ่านการประชุมสามัญของยูเนสโกเมื่อปี 2015 ว่าด้วยการปกป้องคุ้มครอง การส่งเสริมงานด้านพิพิธภัณฑ์และวัตถุที่เกี่ยวข้อง

                5) การให้การศึกษาเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมแห่งสิงคโปร์แก่เยาวชนรุ่นใหม่ผ่านช่องทางพิพิธภัณฑ์ (Singapore’s Little Treasure Project) โดยคุณอัสมา เอลเลียส ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ด้านการศึกษาและชุมชนจากคณะกรรมการมรดกแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ แสดงตัวอย่างการทำงานนอกกำแพงพิพิธภัณฑ์ ผ่านแนวคิดและการดำเนินงานในการให้การศึกษาเรื่องมรดกวัฒนธรรมแก่เยาวชนสิงคโปร์ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ สิงคโปร์ ที่มุ่งสร้างพื้นฐานความเข้าใจในมรดกและความเป็นชาติให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การผลักดันให้โรงเรียนใช้เส้นทางมรดกวัฒนธรรม ในการเรียนการสอนนอกห้องเรียน การนำนิทรรศการที่มีเนื้อหาเน้นเรื่องพหุวัฒนธรรม ไปจัดแสดงตามที่สาธารณะต่างๆ

                6) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างและดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง: ผ่านกรณีตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ทันตวน (Community Involvement in Making Museum Exhibitions: A Case Study of Thanh Toan Museum) โดยคุณเหงวี่ยน ดึ๊ก ตัง เจ้าหน้าที่สำนักงานยูเนสโก ฮานอย ประเทศเวียดนาม นำเสนอเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ทันตวน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในประเทศเวียดนามที่ชุมชนเป็นผู้ก่อตั้ง  มีส่วนร่วมในการตีความเนื้อหา พัฒนานิทรรศการ ให้คำแนะนำหน่วยงานภาคีภายนอก ร่วมออกแบบ ร่วมตัดสินใจ และจัดโปรแกรมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวชุมชน ร่วมกับผู้ร่วมพัฒนาพิพิธภัณฑ์จากภายนอกอย่างยูเนสโกเวียดนาม              

                7) 70 ปีหลังจากแนวคิดของอองเดร์ มาลโรซ์ ที่เป็นแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้เกิดพิพิธภัณฑ์ไร้พรมแดน (70 Years after Malraux's Museums without Walls: Its Inspiration and Resonance to Museum Practice in The Philippines) โดย ดร.อนา มาเรีย เธเรซ่า พี. ลาบราดอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเทศฟิลิปปินส์

งานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ ก็ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาอันเข้มแข็ง ที่อาจจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้กว่า 5,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากสถานที่เหล่านี้ได้รับการผลักดันและพัฒนาโดยบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์ผู้มีกรอบแนวคิดในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย