คมนาคมเคาะรถไฟความเร็วสูงเส้นแรก 'กรุงเทพฯ-ระยอง'

คมนาคมเคาะรถไฟความเร็วสูงเส้นแรก 'กรุงเทพฯ-ระยอง'

คมนาคมเคาะรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกกรุงเทพฯ-ระยอง ด้าน "อาคม" มั่นใจเปิดประมูลปีนี้ ขณะ “สมคิด” สั่งทำแผนทุกเส้นทางเสนอนายกรัฐมนตรี

กระทรวงคมนาคม เตรียมผลักดันรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นเส้นทางแรกที่จะเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาได้ในปีนี้ เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ทั้งแผนรายละเอียดและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟ

โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. ประเมินวงเงินลงทุน 1.52 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งที่สำคัญในการเชื่อมพื้นที่อุตสาหกรรมกับกรุงเทพฯ

นอกจากความพร้อมของภาครัฐแล้ว ทางภาคเอกชนที่แสดงความสนใจลงทุน คือ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร ระบุก่อนหน้านี้ว่ามีความสนใจเข้าลงทุนโครงการนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทาง ที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุน คือ รถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท 2.โครงการความร่วมมือก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินลงทุน 9.46 หมื่นล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมการใช้พื้นที่ตามแนวเขตทางโครงการพัฒนาภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม วานนี้ (1 ส.ค.) ว่าได้กำหนดเวลาดำเนินการหลังจากนี้ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดประเด็นต่างๆให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อสรุปรายละเอียดเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายสมคิด กล่าวว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องการให้หน่วยงานต่างๆ มองโอกาสของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่เพียงพัฒนาโครงการรถไฟเพื่อจัดเก็บรายได้จากการเดินรถ แต่จะต้องพัฒนาพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ และเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

“ในการหารือทางกรมทางหลวง (ทล.) ก็รายงานถึงพื้นที่ภายใต้การดูแลในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งขณะนี้ก็น่าจะมีความพร้อมเริ่มพัฒนาได้ก่อน ซึ่งก็ได้สั่งการไปว่าให้ดูพื้นที่ของหน่วยงานรัฐเป็นหลักก่อน มองการพัฒนาให้ชัดเจนว่าจะทำเป็นอะไร ไม่เพียงแต่มีพื้นที่แล้วพัฒนาเป็นร้านอาหารฟาส์ตฟู้ด แต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนที่เดินทาง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต้องเห็นแล้วอยากจอดลงสถานีนั้นจริงๆ ดังนั้น โจทย์ใหม่ของการพัฒนาครั้งนี้คือต้องมองด้วยว่าพื้นที่ที่มีอยู่รอบสถานีจะต้องพัฒนาให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหญ่ชัดเจน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย”

นายสมคิด กล่าวว่า ต้องการให้เร่งรัดหาข้อสรุปของผลตอบแทนทางการเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนด้วยว่าหากจะลงทุนเข้ามาพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างไร และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ให้ชัดเจน

พิจารณาอีไอเอ5ส.ค.

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เส้นทางที่จะนำร่องดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ก่อนอันดับแรกจะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง เนื่องจากสถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี)ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

นายอาคมกล่าวว่าแผนงานการพัฒนาสถานีในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองค่อนข้างชัดเจน โดยในเบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 4-5 สถานีหลัก อาทิ ลาดกระบัง ศรีราชา และระยอง เป็นต้น

“ส่วนใหญ่พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟจะเป็นที่ราชพัสดุอยู่แล้ว ดังนั้นโจทย์แรกคือจะต้องเร่งนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไร และต้องสรุปผลตอบแทนทางการเงินให้ได้เพื่อเปิดเอกชนเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะร่วมกับกรมโยธาธิการ และผังเมือง ว่าในสถานีควรจะมีองค์ประกอบอะไร เช่นโรงแรม ศูนย์การค้า และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพีพีพีเป็นรายสถานีไปเพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร"

มั่นใจเปิดประมูลได้ทันปีนี้

นายอาคม กล่าวมั่นใจว่าเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพีพีพีแล้ว จะเริ่มต้นขั้นตอนเปิดประกวดราคาได้ทันทีภายในปีนี้ เช่นเดียวกับการเปิดประมูลงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของเส้นทางรถไฟ

นายอาคมยังกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วงอื่นว่าขณะนี้ทำแผนควบคู่ไปด้วย คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะพัฒนาสถานีบ่อฝ้าย สถานีราชบุรี และสถานีเพชรบุรี ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช จะพัฒนาบริเวณสถานีสระบุรี ปากช่อง และโคราช โดยแผนทั้งหมดนี้จะเสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า

เตรียมจัดรูปที่ดินพื้นที่เวนคืน

นายอาคม กล่าวว่า การจัดผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนนอกเหนือจากการพัฒนาที่ดินของภาครัฐ คือ พื้นที่ส่วนที่เวนคืนเข้ามา โดยประเด็นนี้จะต้องศึกษาข้อกฎหมายก่อน และอีกส่วนคือการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการสมัครใจนำพื้นที่เข้ามาร่วมกันจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเอกชนและประชาชนรายนั้นๆ จะยังได้สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สถานะของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางปัจจุบันพบว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง จะถูกนำเข้า คชก.พิจารณาก่อนวันที่ 5 ส.ค.นี้ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดต้องปรับแก้เพิ่มเติมแล้ว แต่คาดว่าระยะเวลาในการเสนอเข้าคณะกรรมการพีพีพีจะดำเนินการพร้อมกันภายในเดือน ส.ค.- ก.ย.นี้

ส่วนโครงการกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็ยังเป็นไปตามแผนโดยจะก่อสร้าง ส.ค.-ก.ย.นี้ ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ ฝ่ายญี่ปุ่นยังเสนอให้ไทยเร่งรัดสรุปรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง ซึ่ง สนข.ก็รับมาดูรายละเอียดแล้ว

“ประเด็นการเวนคืนที่ดิน ที่ประชุมทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอให้จัดรูปที่ดินเพื่อเวนคืนที่ดินให้เป็นแปลงใหญ่ และจัดแปลงใหม่ สร้างถนนตัดผ่าน ออกโฉนดที่ดินใหม่เพื่อแบ่งให้เอกชน และประชาชนเจ้าของที่ดินยังสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้โดยไม่ต้องถูกเวนคืนเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นที่ดินก็จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ก็สร้างประโยชน์ให้กับเมืองได้อีกด้วย”