"ซีทีเอช"แบกหนี้ 2หมื่นล้านปิดฉากเคเบิลทีวี

"ซีทีเอช"แบกหนี้ 2หมื่นล้านปิดฉากเคเบิลทีวี

ซีทีเอช ประกาศยกเลิกบริการเคเบิลทีวี 1ก.ย.นี้ ชี้ผลกระทบภาวะเศรษฐกิจ พบตัวเลข 10 บริษัทในเครือแบกหนี้ 2 หมื่นล้าน

วานนี้ (30 ก.ค.) เว็บไซต์ www.cth.co.th ของ บริษัทซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ประกาศแจ้งลูกค้าว่า "จากสภาวะการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้บริษัทต้องยกเลิกการให้บริการลูกค้า โดยลูกค้าทุกท่าน จะไม่สามารถรับชมช่องรายการต่างๆ ของ ซีทีเอช ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย 2559 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป"

            โดยก่อนหน้านี้ ซีทีเอช ได้ทยอยยกเลิกการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง  คือ เดือน ก.ค. ได้แจ้งยุติบริการจากดาวเทียมไทยคม ระบบเคยูแบนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2559  โดยให้เหตุผลเพื่อประหยัดต้นทุน จึงเลิกเช่าสัญญาณดาวเทียมไทยคม

            เดือน พ.ค.2559  ยกเลิกการออกอากาศนผ่านกล่อง Zip TV และสมาร์ททีวี  ย้อนหลังเดือน มี.ค.2559  ยกเลิกบริการกล่องดาวเทียม พีเอสไอและซันบ็อกซ์   ส่วนเดือน ก.พ.2559  ยกเลิกบริการ "แซท เพย์ทีวี" บนกล่อง จีเอ็มเอ็ม แซท  

             สถานการณ์ล่าสุดของกลุ่มซีทีเอช ที่ประกาศยกเลิกบริการในวันที่ 1 ก.ย.นี้  คือการรับชมบนกล่องดาวเทียม ซีทีเอช ระบบเคยู แบนด์ จากดาวเทียม vinasat ประเทศเวียดนาม ซึ่งซีทีเอช เช่าใช้สัญญาณดาวเทียมให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวี

            ทั้งนี้ หากพิจารณาผลประกอบของกลุ่มซีทีเอช ที่จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กว่า 10 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก คือบริการเคเบิลทีวี เช่น บริษัทเช่าอุปกรณ์เครือข่ายทีวี บริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ต บริษัทโฆษณา อีเวนท์ เป็นต้น พบว่ามีหนี้สินรวมกัน มากกว่า 20,000 ล้านบาท

           มูลค่าหนี้สิน แต่ละบริษัท  เช่น ซีทีเอช เคเบิล ทีวี  2,150 ล้านบาท , ดิจิตอล มีเดีย แอดเวอร์ไทซิ่ง  379  ล้านบาท , ซีทีเอช   เมมเบอร์ 2,751 ล้านมบาท ,ซีทีเอช ฮาร์ดแวร์   1,531 ล้านบาท, ซีทีเอช จำกัด  (มหาชน) สูงสุดคือ 14,195 ล้านบาท

            โดยเฉพาะบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ในปี 2557  แม้จะมีทรัพย์สินเกือบ 10,000 ล้านบาท มีรายได้กว่า 2 พันล้านบาท แต่ก็ขาดทุน ประมาณ 4,455 ล้าบาท

            ปัญหาการดำเนินธุรกิจเคเบิลของซีทีเอช ในช่วงเริ่มต้นดำเนินธุรกิจปี 2555 คือ การคว้าลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาล ปี 2013-2016  ด้วยค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 10,000 ล้านบาท  ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่า ทรูวิชั่นส์ ซึ่งชนะประมูลลิขสิทธิ์ 3 ฤดูกาลก่อนหน้า (2010-2012) ด้วยมูลค่า 2,400 ล้านบาท

             ส่งผลให้ ซีทีเอช มีต้นทุนค่าคอนเทนท์สูงในช่วงเริ่มต้นธุรกิจเคเบิลทีวี  ขณะที่การประกาศแผนขยายฐานสมาชิกตลอด 3 ปีของการถือลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ที่จำนวน 3 ล้านราย ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  คาดมีลูกค้าจากทุกแพลตฟอร์มสูงสุดราว  5 แสนราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมจ่ายเงินเพื่อดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ  

http://www.now26.tv/view/84142