มูดี้ส์ชี้การเมืองไทย 'เสี่ยงเพิ่ม'

มูดี้ส์ชี้การเมืองไทย 'เสี่ยงเพิ่ม'

"มูดี้ส์" ยกความเสี่ยงการเมืองเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนการลงประชามติร่าง รธน.ใหม่รวมถึงการจัดเลือกตั้ง กระทบความเชื่อมั่นธุรกิจและการบริโภค

มูดี้ส์ยกความเสี่ยงการเมืองเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนการลงประชามติร่าง รธน.ใหม่รวมถึงการจัดเลือกตั้ง กระทบความเชื่อมั่นธุรกิจและการบริโภค แต่การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยว ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยทำให้มูดี้ส์ยังคงเรทติ้งประเทศ คาดจีดีพีปีนี้โต 2.8% ส่วนปี 60 โต 3% ขณะที่บาทแข็งสุดรอบ 4 เดือนที่ 34.82 บาท/ดอลลาร์ ด้านธปท.ชี้เงินนอกไหลเข้าต่อเนื่องจากนโยบายการเงินโลกผ่อนคลาย ชี้บาทแข็งไม่กระทบส่งออกเท่ากำลังซื้อประเทศคู่ค้า

วันที่ 7 ส.ค.นี้จะเป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจและนักวิชาการรวมถึงมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก เริ่มไม่มั่นใจต่อผลของการลงประชามติ และการจัดการเลือกตั้ง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่าบริษัท มูดี้ส์ได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยหลักมาจากลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง รวมถึงเศรษฐกิจโลกชะลอ และความอ่อนแอของการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนในผลการแสดงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว
ขณะที่ฐานะการคลัง ที่เข้มแข็ง และต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำแสดงให้เห็นว่า ไทยมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะและนโยบายการเงินการคลังที่ดี ชี้วัดว่าการคลังยังมีความเข้มแข็งกว่ากลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันแม้ว่าส่งออกจะอ่อนแอ

ทั้งนี้ มูดี้ส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการขยายตัวที่ 2.8% และ 3% ในปี 2560 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2558 เนื่องจากเห็นว่า ไทยยังคงพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกภาคบริการ มากกว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า

ขณะเดียวกันมูดี้ส์ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ และยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ A2 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1 พร้อมทั้งยืนยันเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ Baa1 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1

รมว.คลังไม่ห่วงเงินไหลเข้าไม่กระทบเศรษฐกิจ

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นจำนวนมากว่า หลังจากที่เกิดกรณี Brexit ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงในอันดับต้นของประเทศเกิดใหม่หรือเรียกได้ว่าเป็นบลูชิพของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งการที่นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุนจำนวนมากนั้น และส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่า ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแล

อย่างไรก็ดี ตนมองว่า ระดับเงินที่ไหลเข้าประเทศในขณะนี้ ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ และ ถ้ามองอีกมุม เงินไหลเข้าก็ถือว่า ดีกว่าเงินไหลออก ส่วนจำนวนเงินที่ไหลเข้ามากจนเป็นที่ต้องจับตาจะเป็นจำนวนเท่าใด ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธปท.

ส่วนการเคลื่อนไหวเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐวานนี้ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินไหลเข้าตลาดหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมาแล้ว 15 วันติดต่อกัน และตั้งแต่ต้นปีนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิราว 8 หมื่นล้านบาท

บาทแข็งค่าสุด 4 เดือนที่ 34.82

นักค้าเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดที่ 34.84-34.86 บาทต่อดอลลาร์ โดยระดับดังกล่าวแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่มีมาตรการ QE เพิ่มเติม โดยจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ธปท.ชี้บาทแข็งไม่กระทบส่งออก

ขณะที่นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟด จะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้ง บีโอเจ ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม แต่เงินทุนที่ไหลเข้า ไม่ได้เข้าเฉพาะประเทศไทย เพราะเป็นการเข้ามาทั้งภูมิภาค

“คงไม่เฉพาะไทยที่เข้ามา เพราะเป็นอะไรที่หลายประเทศก็เผชิญเหมือนกัน ในเรื่องความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็เป็นประเด็นที่ตลาดรับทราบไว้บ้างแล้ว จะเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องในตลาดเองก็พยายามดูแลตัวเองในเรื่องนี้เหมือนกัน”นางสาวพรเพ็ญกล่าว

ส่วนเงินทุนที่ไหลเข้ามาและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะส่งผลต่อการส่งออกหรือไม่นั้น นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกน้ำหนักส่วนใหญ่ดูจะเป็นเรื่องความต้องการซื้อจากประเทศคู่ค้ามากกว่า

มองแนวโน้มหลายภาคศก.ขยายตัว

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้า ทั้งยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ยังหดตัวแม้ทิศทางปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวด้วย

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้านั้น เชื่อว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่จากความต้องการภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

“ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจเฉพาะเดือนมิ.ย. แม้ชะลอลงไปบ้าง แต่หลักๆ เป็นผลจากกำลังซื้อที่เร่งตัวขึ้นในเดือนพ.ค. ซึ่งช่วงนั้นมีการออกโปรโมชั่นค่อนข้างมาก มีการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ ทำให้กำลังซื้อเร่งตัวขึ้น มาเดือนมิ.ย.จึงชะลอลงบ้าง ถ้ามองไปข้างหน้าหลายๆ ภาคเศรษฐกิจ ยังมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น”