‘ปลุก Happy Land’ยักษ์หลับเข้าป้ายมหาชน

‘ปลุก Happy Land’ยักษ์หลับเข้าป้ายมหาชน

เป็นวิศวกรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ผ่านงานอสังหาฯ โครงการหรูมากมาย ก่อนนั่งหัวเรือปั้น’แฮปปี้แลนด์’พาแบรนด์’เอชเคป’สู่ผู้นำโฮมฟิสเข้าป้ายมหาชน

เรากำลังพูดถึง “ภัควัฒน์ สุขเกษม” กรรมการบริหาร สายงานบริหารโครงการ แฮปปี้แลนด์ กรุ๊ป เจ้าตัวย้อนให้ฟังว่า เริ่มชีวิตการทำงานตั้งแต่ยังฝึกงานวิศวกรโยธาปี 3 คุมงานก่อสร้างบิ๊กโปรเจค ดอนเมืองโทลล์เวย์ ให้กับ ศรีนครการโยธา เป็นวิศวกรมืออาชีพตั้งแต่ยังอยู่รั้วมหาวิทยาลัย ในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ

“ระหว่างเรียนปี 4 เรียนไปทำงานไป ลงสนามคุมไซด์งานก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อสร้างโรงพยาบาลไปจนถึงคอนโดมิเนียม”

ในอดีต เขายังเป็นหนึ่งในทีมบริหารโครงการ “กฤษดานคร” อสังหาริมทรัพย์หรูในยุคนั้น นอกจากรับผิดชอบสายงานก่อสร้างตามความถนัดแล้ว ยังพ่วงท้ายด้วยการดูแลสายงานการตลาด กำกับยอดขายและกำไร ให้กับโครงการนี้

กลายเป็นจุดพลิกของวิศวกรคุมงานก่อสร้าง สู่ “สายบริหาร”

บันไดขั้นแรกที่ทำให้เขาได้ปรับทัศนคติเรียนรู้ "ความเป็นผู้นำ” (Leader Team) แม้กระทั่งในขอบข่ายงานที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างงานการตลาด

สำหรับเขาการเริ่มต้นจากเป็นนักฟังที่ดี และนักแสดงความเห็นที่ดี มีทัศนคติที่ดี จะบ่มเพาะให้เกิดการเปิดใจระหว่างทีมงาน ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานได้ไม่ยาก

“การทำหน้าที่ดูภาพรวมโครงการ และเสริมงานใหม่ กลยุทธ์การขายทำให้เรามีทัศนคติ และวิธีการทำงานที่ถูกสอนให้เป็นนักคอมเมนท์ ลงลึกในรายละเอียด เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทัศนคติสำคัญที่ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของทีม”

จุดเปลี่ยนบนสายวิชาชีพวิศวกรเกิดขึ้นอีกรอบ เมื่อโครงการดังกล่าว เกิดกรณีฟ้องร้อง และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทที่รับเฟ้นหานักบริหารอาชีพมือดี (Head Hunter) เสนอชื่อ 2 บริษัทมาให้เขาพิจารณา นั่นคือ ปรีชา กรุ๊ป และ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ด้วยอัตราเงินเดือนไม่ต่างกัน

ทว่า ปรีชา กรุ๊ป เสือปืนไวกว่า เขาจึงตกปากรับคำไปร่วมงานด้วย

ความเนื้อหอม “ชิงตัวมือปืนรับจ้าง” ไม่จบแค่นั้น หลังเข้าไปทำงานกับปรีชา กรุ๊ป ได้ไม่กี่เดือน ฝั่งอนันดาฯ ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ โดย “ชานนท์ เรืองกฤติยา” ซีอีโออนันดาฯ เอ่ยปากชวนเขามาร่วมงานด้วยตนเอง ก่อนที่เขาจะตกปากรับคำ และมีส่วนร่วมทำให้บริษัทแห่งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกเมื่อ 7 ธ.ค.2555

ทว่า หลังจากเลี้ยงฉลองความสำเร็จความเป็นบริษัทมหาชนของอนันดาฯได้ไม่ถึงปี ประจวบเหมาะกับแฮปปี้ แลนด์ ธุรกิจครอบครัว มีแผนรุกธุรกิจอสังหาฯฝั่งตะวันออก โดยมีแลนด์แบงก์แปลงงามอยู่หลายแห่ง ด้วยการเป็น“มือปั้น” โครงการให้กับธุรกิจครอบครัว เป็นงานถนัดของเขา จึงตัดใจจากอนันดาฯมาร่วมเป็นมือปืนรับจ้างใส่กระสุนนัดใหม่ให้กับ แฮปปี้ แลนด์ ในปี 2556

ที่สำคัญเขาเห็นเนื้อในของแฮปปี้แลนด์ ว่าเป็น“เสือซุ่ม” ที่ยังไม่เผยตัวตน บ้างก็ว่าเป็น "ยักษ์ผู้หลับไหล"

แท้จริงแล้วแฮปปี้แลนด์โลดแล่นในโครงการพัฒนาบ้านหรู หลักสิบล้านมากว่า 40 ปี เช่น โครงการแหลมทองพัฒนา ซอยลาซาล เพียงแต่ไม่บอกใครว่าทำอะไร แบรนด์และระบบองค์กรจึงยังไม่ชัด

“แฮปปี้แลนด์ ทำจัดสรรมาก่อน 40 ปีแต่ไม่เคยบอกใคร มาไม่ต่ำกว่า20 โครงการในโซนทั้งรังสิต และสมุทรปราการ ที่ราคาแพงกว่าบ้านทั่วไปยุคนั้น บ้านหลัก10ล้านถือว่าไม่ธรรมดา จึงมีลูกค้าที่อยู่ในมือกว่า2,000ราย ทำให้ผมตัดสินใจมาทำแบรนด์ให้ จากที่คนไม่รู้จักอสังหาฯของแฮปปี้แลนด์ รู้จักแต่ตลาด สวนสนุก"

------------------------------

ชูแบรนด์“ผู้นำ”โฮมออฟฟิศ

ภัควัฒน์ สุขเกษม กรรมการบริหาร สายงานบริหารโครงการ แฮปปี้แลนด์ กรุ๊ป ยังเผยถึงแผนลงทุน 3 ปี (2559-2562) ของแฮปปี้แลนด์ว่า จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยพัฒนาอสังหาฯ ในชื่อแบรนด์ H-CAPE (เอชเคป) ตัวย่อของ Happy Land ก็คือ “พื้นที่แห่งความสุข” กับเป้าหมายพัฒนาบ้านเดี่ยว 25% คอนโดมิเนียม 35% และโฮมออฟฟิส 40%

โดยเฉพาะโฮมออฟฟิส จะเป็นธุรกิจธงนำ ที่มีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งเขามั่นใจว่า H-CAPE จะเป็นผู้นำตลาดได้ไม่ยาก เพราะจากงานวิจัยพบว่า ตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก หลังจากคอนโดและบ้านเดี่ยว เริ่มล้นตลาดในบางทำเล

โดยเป้าหมายของแฮปปี้แลนด์ ต้องการเป็นอสังหาฯที่คุมโซนตะวันออก จากความเชื่อที่ว่า จะเป็นย่านธุรกิจใหม่ (New-CBD) ต่อจากทำเลรัชดาภิเษก

เขายังเล่าว่า ที่ผ่านมาโจทย์ที่ทำให้แฮปปี้แลนด์รุกหนักแบรนด์ H-CAPE Biz (เอช เคป บิส) ที่เปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน 3 โครงการขาดหมดเกลี้ยง เพราะทำสินค้าฉีกตลาด ยอมให้มีพื้นที่ขายเพียง 30% โดยมีพื้นที่จอดรถมากถึง 60% และที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้จอดรถได้ 240 คัน เป็นโฮมออฟฟิส เพื่อการติดต่อทางธุรกิจที่แท้จริง หากเทียบกันสินค้าในตลาดปัจจุบันที่ยังมีจุดอ่อน บ้านแต่ละหลังจอดรถได้เพียง 2-3 คัน

ปีนี้ยังเปิดตัวบ้านเดี่ยวอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย เอช เคป ซีรีน (H-CAPE SERENE) ในย่านสวนสยาม บ้านในพื้นที่สีเขียว ยูนิตละ 5-10 ล้านบาท 250 ยูนิตเนื้อที่ 56 ไร่ มูลค่าโครงการ 1,900 ล้านบาท และ เอชเคป มิเนร่า (H-CAPE MINERA) ในย่านเสรีไทย73 บ้านหรูราคาหลังละ 25 ล้านบาท 22ยูนิต เนื้อที่ 5 ไร่ มูลค่าโครงการ 400 ล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายสำหรับภัควัฒน์ คือการทำให้แฮปปี้แลนด์เติบโตยั่งยืน ในไม่ช้าบริษัทแฮปปี้แลนด์กรุ๊ป จะมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นก่อนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะความเป็นบริษัทมหาชน จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็นแบรนด์น่าเชื่อถือ เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อขยายกลุ่มธุรกิจในอนาคต

กับเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดโฮมออฟฟิส

สิ่งที่เขาเชื่อว่าจะทำให้เอชเคป แตกต่างจากแบรนด์อื่น ยังเกิดจาก การมีบริษัทลูกที่ให้บริการหลังการขาย ซ่อมบ้าน ในแบรนด์ Home Care บริการซ่อมบ้านให้ฟรี หากเกิดจากความผิดพลาดของการก่อสร้าง

ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มธุรกิจรับเหมา คือ บริษัท อาเซียน คอนสตรัคชั่น ในเครือ ถือเป็นข้อได้เปรียบในการพัฒนาต้นทุนการก่อสร้าง และอำนาจต่อรองราคาวัสดุก่อสร้าง บิ๊กโปรเจคสำหรับค่ายแฮปปี้แลนด์ยังมีให้ตื่นเต้นอีก ที่มาพร้อมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซนตะวันออก สายสีส้ม สีเหลือง และสีชมพู เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาฯเชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟฟ้า

โปรดติดตามตอนต่อไป