นักศึกษาป.โท 'มฟล.' ขอใช้ม.44 เรียกเงินคืนจากมหา’ลัย

นักศึกษาป.โท 'มฟล.' ขอใช้ม.44 เรียกเงินคืนจากมหา’ลัย

นักศึกษาป.โท นิติฯ มฟล. ร้อง "ดาว์พงษ์" ขอใช้ ม.44 เรียกค่าเสียหายจากมหา’ลัย เหตุจัดสอนไม่ตรงมาตรฐาน ขาดคุณสมบัติสมัครผู้ช่วยผู้พิพากษา

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เข้ายื่นหนังสือ ต่อพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ขอใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กับ มฟล.

นายสุรไกร สนองญาติ หนึ่งในตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต กล่าวว่า มฟล.ได้เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2548 มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 9 รุ่น ประมาณ 80 คน แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.)มีมติไม่รับรองปริญญาโท ทางกฎหมายนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ของ มฟล. เนื่องจากหลักสูตรการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558 จึงทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาขาดคุณสมบัติไม่มีสิทธิ์ เข้าสมัครคัดเลือกและทดสอบความรู้ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2558 ได้ โดยทาง กต.ได้แจ้งกับนักศึกษาว่า หากต้องการมีสิทธิสมัคร เพื่อสอบคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา จะต้องลงเรียนในหลักสูตรดังกล่าวใหม่ทั้งหมด เพราะหลักสูตรที่เรียนจบมา ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)กำหนด

“ที่ผ่านมา สกอ.ได้มีหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดตั้งแต่ปี2548 แต่ มฟล.กลับไม่ปรับปรุง ปล่อยให้นักศึกษาเรียนจนจบและถูกตัดสิทธิในการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เพราะหลักสูตรไม่เป็นไปตามาตรฐาน ที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้เสียหายได้ ติดต่อไปยังอธิการบดี และคณบดี เพื่อขอให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่มหาวิทยาลัยก็ส่งเพียงเจ้าหน้าที่มาเจรจาว่าจะเยียวยา โดยให้โอนย้ายหน่วยกิต และให้เรียนเพิ่ม ซึ่งพวกผมไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ เพราะการดำเนินการจัดการสอนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบ และไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยได้สอบถามไปยัง กต.และสกอ.แล้วหรือยัง และหากให้ไปเรียนเพิ่มจริง ผมก็คงไม่เรียนที่ มฟล.แล้ว เพราะไม่มั่นใจ ตอนนี้อยากให้ มฟล.ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่เรียนไปทั้งหมด ซึ่งผมและกลุ่มผู้เสียหายรายอื่น ๆ เคยทำหนังสือให้มฟล.ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่ได้ทาง มฟล.ปฏิเสธ” นายสุรไกร กล่าว

นายสุรไกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนและผู้ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว จึงได้ทยอยฟ้องศาลแพ่ง ยังศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อันเกิดจากการที่ มฟล.ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของสกอ. ทำให้ผู้จบการศึกษาได้รับความเสียหาย แต่คิดว่า ขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะล่าช้า จึงมายื่นหนังสือขอให้รัฐมนตรีว่าการศธ. ใช้อำนาจม.44 ให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว