อดีตซีอีโอ “ไลน์” ชี้โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติวีดิโอ

อดีตซีอีโอ “ไลน์” ชี้โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติวีดิโอ

คนรุ่นใหม่ติดคลิป ผนึกสตาร์ทอัพไทยดันแพลตฟอร์มใหม่​ “ซี ชาแนล”

อดีตซีอีโอแอพแชทยอดนิยม ชี้กระแสฮิตสมาร์ทโฟนดันโลกเคลื่อนตัวสู่ยุคปฏิวัติวีดิโอ คนรุ่นใหม่ติดคลิป ผนึกสตาร์ทอัพไทยดันแพลตฟอร์มใหม่​ “ซี ชาแนล” เจาะไลฟ์สไตล์ผู้หญิง-ฮิตถ่ายคลิป พร้อมแนะมือใหม่ทำธุรกิจต้องมีความเชื่อ-อย่าท้อง่าย

นายอากิระ โมริกาวา ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) ซี ชาแนล และเป็นซีอีโอคนแรกของไลน์ คอร์ปอเรชั่น เผยในงานเทคซอร์ส ซัมมิท ว่า ความแพร่หลายและขีดความสามารถของสมาร์ทโฟน ประกอบกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ส่งผลให้ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติวีดิโอกลายเป็นยุคของการเชื่อมโยงการสื่อสารและแพร่หลายโดยใช้สมาร์ทโฟน

ชี้คนรุ่นใหม่สื่อสารวีดิโอมากขึ้น
นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มจะสื่อสารด้วยวีดิโอมากขึ้น เป็นการสื่อสารแบบปิดหรือไม่ระบุชื่อที่จะเห็นได้จากกระแสนิยมแอพพลิเคชั่น เช่น สแนปแชท, อินสตาแกรม และเพอริสโคป ซึ่งเป็นบริการให้แชร์คลิปสั้นๆหรือบริการแพร่ภาพสดที่ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น

ส่วนโซเชียล มีเดีย ทั่วไปกลายเป็นช่องทางสื่อสารข้อมูลสำหรับวงกว้างมากกว่า

“ตอนที่ไลน์เปิดตัวขึ้นก็เริ่มกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่แคบลง เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล จากเมื่อก่อนคนจะนิยมส่งอีเมลมากกว่า แต่พอมีไลน์ คนก็ใช้ไลน์ส่งข้อความหากัน ซึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้ไลน์ส่งข้อความกันถึง 1,000 ข้อความต่อวัน”

อดีตผู้บริหารไลน์ยังระบุว่า ในยุคโมบาย อีร่า ผู้คนใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์มือถือหรือสมาร์ทโฟนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งชมวีดิโอ อ่านบทความ ข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะการนิยมเสพสื่อออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ เช่น การดูคลิปสั้นๆบนมือถือ และยังเริ่มเห็นแนวโน้มของการดูวีดิโอบนโซเชียลฯ เช่น เฟซบุ๊ค และอินสตาแกรมมากกว่าจะเปิดเข้าไปดูบน แพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ

นายโมริกาวา คาดว่า พัฒนาการขั้นต่อไปของการสื่อสารวีดิโอคือ “แชทบอท” ที่ผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการประมวลผลบิ๊กดาต้า ซึ่งเริ่มได้รับความนนิยมแพร่หลายในภาคธุรกิจใช้เป็นช่องทางสื่อสารใหม่กับลูกค้า และเกิดขึ้นแล้วบนโซเชียล มีเดียหลักๆ อย่างเฟซบุ๊ค ไลน์ และกิก (Kik) และเริ่มมีธุรกิจนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้น เช่น เซโฟร่าใช้คลิปวีดิโอแนะนำวิธีแต่งหน้าให้กับลูกค้า และคาดว่าจะเป็นรูปแบบที่เติบโตมากในช่วง 3-5 ปีจากนี้

แนะต้องมีพาร์ทเนอร์ที่ดี
อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นอดีตซีอีโอไลน์ พบว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีคือ การมีพาร์ทเนอร์ที่ดี โดยเฉพาะการทำธุรกิจข้ามพรมแดนที่มีความแตกต่างของตลาด และจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจตลาดท้องถิ่นดีเข้ามาร่วมงาน และการปรับให้เข้ากับความต้องการของตลาดในแต่ละท้องถิ่น

โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยังมีกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันที่สตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการใหม่ควรต้องทำความเข้าใจ นอกจากนี้ก็ควรต้องดูจังหวะเวลา และความพร้อมของตลาดด้วยก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันในเอเชียถือว่ามีความพร้อมทั้งสมาร์ทโฟน และการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายมากขึ้น
“ก่อนจะทำไลน์เมื่อ 5 ปีก่อน ผมก็เริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลเหมือนกูเกิล แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนเริ่มทำไลน์ ตอนแรกๆที่ทำในญี่ปุ่นก็ยังไม่ฮิตมาก จนค่อยๆมาเติบโตในไทยทุกวันนี้”

นายโมริกาวา ยังแนะว่า สำหรับสตาร์ทอัพอาจจะเป็นธุรกิจที่เจอกับปัญหามาก แต่ก็ต้องมีความเชื่อของตัวเองว่าตัวเราสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆได้ เพราะส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่มักจะทำงานหนัก แต่ก็ท้อถอยกับอุปสรรคง่าย

ผนึกอุ๊คบีเปิดซีชาแนลในไทย
อดีตซีอีโอไลน์ยังใช้โอกาสนี้จับมือกับ "อุ๊คบี” สตาร์ทอัพรายใหญ่ในไทยประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ “ซี ชาแนล (C Channel)” อย่างเป็นทางการในไทยตามหลังเปิดตัวในญี่ปุ่น ปีที่ผ่านมาในฐานะสตาร์ทอัพ และได้เงินสนับสนุนรอบแรกแล้ว 4 ล้านดอลลาร์

นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด เผยว่า บริษัทวางบทบาทของ “ซี ชาแนล”เป็น “ไลฟ์สไตล์ วีดิโอ แมกาซีน” เน้นคนรุ่นใหม่และเป็นคลิปเปอร์ (ผู้สร้างสรรค์คลิปวีดิโอ) จากคนทั่วไป และเป็นวีดิโอ ที่เหมาะกับการแสดงผลบนสมาร์ทโฟนในแนวตั้ง เพื่อสะดวกต่อการดูบนสมาร์ทโฟนภายใน 1 นาที

หลังเปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นกลางปีที่ผ่านมามีกระแสตอบรับดีมาก มียอดวิวคลิปถึง 100 ล้านครั้งต่อเดือน จาก 4 หมวดหลัก คือ คลิปทำอาหาร, แต่งหน้า, ทำผม และไลฟ์สไตล์ โดยหมวดอาหาร, การทำผม ได้รับความนิยมสูงสุด

นอกจากนี้ยังพบว่าคอนเทนท์ส่วนใหญ่บนซีชาแนล 92% สร้างสรรค์ด้วยสมาร์ทโฟน ส่วนที่เหลือ 8% ทำจากพีซี และมีบล็อกเกอร์​หรือเน็ตไอดอลในญี่ปุ่นแล้วราว 100 คน
ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์คลืปผ่านซีชาแนล และซีคาเมร่า ดาวน์โหลดได้จากแอพสโตร์ และเพลย์ สโตร์ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งเว็บ (cchan.tv), แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน รวมถึงโซเชียล เน็ตเวิร์คต่างๆ

ส่วนในไทยเริ่มเปิดตัว 2 เดือนมียอดกดไลค์เฟซบุ๊ค 2.3 ล้านไลค์ เริ่มมีลูกค้าไทด์อินโฆษณาแล้วหลายราย

"วีดิโอที่ได้รับความนิยมนำมาเผยแพร่จะเน้นคุณภาพเพื่อให้เกิดการไลค์และแชร์ต่อ ”

สำหรับอุ๊คบี ได้เริ่มปรับตัวจากผู้ให้บริการอีบุ๊คเป็น “ผู้ให้บริการชุมชนออนไลน์แบบยูสเซอร์ เจเนอเรท คอนเทนท์” หรือผู้ใช้ร่วมกันสร้างคอนเทนท์ที่ครบถ้วนที่สุดในไทยปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 มียอดดาวน์โหลดแอพแล้ว 6.5 ล้านคน และผู้ใช้งานแอคทีฟเฉลี่ย 3 ล้านคนต่อเดือน มีครีเอเตอร์แล้วกว่า 5 หมื่นคน _ มีสำนักงาน 4-5 ประเทศ มีคนใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆของอุ๊คบีเฉลี่ย 22 นาทีต่อวัน ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโซเชียล มีเดียอื่นๆ