เอกชนจี้รัฐออกนโยบายพิเศษหนุน “สตาร์ทอัพ”

เอกชนจี้รัฐออกนโยบายพิเศษหนุน “สตาร์ทอัพ”

“ศุภชัย” แนะรัฐสร้างแรงจูงใจ หรือผลตอบแทนพิเศษ หนุนสตาร์ทอัพช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

“ศุภชัย” แนะรัฐสร้างแรงจูงใจ หรือผลตอบแทนพิเศษ หนุนสตาร์ทอัพช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ออกมาตรการลดภาษี เปิดทางสตาร์ทอัพไทยต่างประเทศตั้งออฟฟิศในไทย ยกต้นแบบ สิงคโปร์ มาเลย์ ไทยดูเป็นแนวทาง ด้าน “ดีแทค” ชี้ต้องสร้างดีเอ็นเอ อินโนเวชั่นเริ่มจากในองค์กร พร้อมเดินหน้าหนุนสตาร์ทอัพหน้าใหม่ “กรณ์” จี้รัฐต้องออกมาตรการให้ชัดหนุนสตาร์ทอัพ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวภายในงาน “เทคซอร์ส ซัมมิท” ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทุกด้าน ปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) ที่เข้มแข็ง และจะมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง การสร้างอุตสาหกรรมโดยรวมให้มีสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นในตลาด สิ่งจำเป็นคือการสร้างสภาพแวดล้อมให้มีอีโคซิสเต็มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้องค์กรใหญ่ๆในประเทศต้องช่วยกันขับเคลื่อน

สตาร์ทอัพจะมีผลอย่างมากต่อการสร้างนวัตกรรมในยุคที่ใช้เทคโนโลยีและการกำหนดนโยบายที่จะเป็นดิจิทัลอีโคโนมีในประเทศ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการแชร์องค์ความรู้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาช่วยลดขั้นตอนการทำงานในหลายๆอุตสาหกรรมลงได้ ประเทศไทยเองถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดรับวัฒนธรรมอื่น ดังนั้นจึงง่ายต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการผลักดันจากสตาร์ทอัพ

แนะรัฐให้สิทธิประโยชน์จูงใจสตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อช่วยผลักดันสตาร์ทอัพในประเทศ คือการมีสิทธิประโยชน์ จูงใจในด้านภาษี เช่นการตั้งออฟฟิศของสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างชาติ การมีส่วนลดด้านภาษีกับกองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอล หรือฟันด์ หากมีการเข้าไปลงทุนให้เงินสนับสนุนกับสตาร์ทอัพดังกล่าว ซึ่งแนวทางเหง่านี้ส่วนตัวคิดว่าไม่น่ายากเท่าไร เพราะไทยสามารถดึงเอารูปแบบของการสร้างอุตสาหกรรมในต่างประเทศ จากสิงคโปร์ และมาเลเซียได้

“ไทยเรามีศักยภาพแทบจะทุกด้านแล้วในความคิดของผม ดังนั้นการร่วมมือกันของเอกชนในประเทศเอง คือช่วยการหว่านเมล็ดพันธุ์ออกไปให้ไกลนอกต้น เพราะถ้าอยู่ใต้ต้นใต้เงาก็จะไม่เติบโตได้ ซึ่งหากช่วยกันเราจะมีป่า เป็นอีโคซิสเต็มไม่ใช่แค่ต้นไม้ใหญ่ต้นเดียว” นายศุภชัย กล่าว

กลุ่มทรูได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพมาโดยตลอด ภายใต้โครงการ“ทรู อินคิวบ์” ซึ่งเป็นโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ก้าวเป็นผู้ประกอบการธุรกิจตัวจริง สามารถสร้างระบบนิเวศน์สมบูรณ์แบบที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม มีการให้เงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพมาโดยตลอด ส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งกองทุนด้วย

“กรณ์” แนะรัฐกำหนดแนวทางหนุนใช้ชัด
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า ภาครัฐควรมีการกำหนดแนวทางใดออกมาบ้าง ซึ่งเรื่องสตาร์ทอัพนั้น ขอยกตัวอย่างภาคการเกษตร ซึ่งเกษตรกรไทยในแต่ละปีการผลิตผลผลิตออกมาสู่ตลาดในปริมาณเท่าเดิม หรือบางครั้งก็มากกว่าเดิม โดยที่ไม่รู้ว่าตลาดมีดีมานด์อย่างไร รู้เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะมีการรับประกันสินค้าในอนาคต

ดังนั้น ความสำคัญของเทคโนโลยีจึงอยู่ที่ตรงนี้ คือให้เกษตรกรใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างรู้เท่าทัน นำไปประยุกต์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง

ดีแทคสร้างดีเอ็นเอ“อินโนเวชั่น”
นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า สิ่งที่ดีแทคจะสามารถผลัดดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่นั้นต้องเริ่มจากข้างในจากพนักงานของดีแทคทั้งกว่า 5,000 คนออกไปภายนอก และถือเป็นผลดีซึ่งอยู่ในเทเลนอร์ กรุ๊ป ไปสู่ตลาดลูกค้าของเทเลนอร์กว่า 200 ล้านคน ที่มีอยู่ทั้ง 13 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ดีแทคจะดึงเอาดีเอ็นเอของบุคลากรภายในออกมาเป็นการบริการสู่ภายนอก

ทั้งนี้ การสร้างสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมนั้นดีแทคให้การสนับสนุนนักลงทุนหน้าใหม่จากโครงการ ดีแทคแอคเซอเลอเรท ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 แล้ว ดีแทคให้ความช่วยเหลือในเรื่อง Retail Commerceและ Cloud Source ช่วยผลักดันให้เงินทุนสนับสนุนและหานักลงทุน raise fund ให้ในระดับโลก พร้อมสนับสนุนให้สามารถเปิดตลาด พร้อมกับการสนับสนุนในเชิงพาณิชย์

สิ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนทีมที่ร่วมโครงการในแต่ละปีที่ผ่านมาอย่างจริงจังด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ พร้อมช่วยทำตลาดทั้งในประเทศและในระดับโลก ด้วยศักยภาพของเทเลนอร์ กรุ๊ปที่ดำเนินงานอยู่ใน 13ประเทศทั่วโลก พร้อมช่วยหาเงินทุนสนับสนุน ด้วย Connection กับ VC ระดับโลกที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนกับทีมที่ดีแทคแอคเซอเลอเรทบ่มเพาะขึ้นมา รวมทั้งการจัดสถานที่ทำงานที่ Co working spaceให้เหล่าสตาร์ทอัพภายในตึกดีแทค

นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมให้กับบริษัท ดีแทคให้ความสำคัญจากภายใน ซึ่งในปีนี้ดีแทคกำหนดเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำและเป็นแบรนด์ที่ลูกค้านึกถึงในการดำเนินชีวิตยุคดิจิทัล ซึ่งจะเน้นการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นสตาร์ทอัพในหมู่พนักงาน โดยการขับเคลื่อนให้เกิดความรู้สึกเป็น ‘ผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneur)’

ทั้งนี้ ดีแทคมีโปรแกรม “Ignite Incubator” ชวนพนักงานสร้างนวัตกรรมในรูปแบบเดียวกับดีแทคแอคเซอเลอเรท โดยทีมที่มีไอเดียที่ดีที่สุดจะมีเวลา 3 เดือนในการทำงานสตาร์ทอัพสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบ และพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์จริงให้ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน การสร้างบรรยากาศการทำงานที่เน้นความร่วมมือและเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม