สินเชื่อทรง-หนี้เสียพุ่ง แบงก์ลุ้นครึ่งหลังเศรษฐกิจฟื้น

สินเชื่อทรง-หนี้เสียพุ่ง แบงก์ลุ้นครึ่งหลังเศรษฐกิจฟื้น

แบงก์พาณิชย์ประกาศผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก ปรับลดลงกว่า 5% ส่วนใหญ่มาจากภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์

ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศออกมาในงวดครึ่งแรกของปี ปรับลดลงกว่า5% ส่วนใหญ่มาจากภาระการตั้งสำรองที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังปรับลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  

แม้นายแบงก์จะยังคงยืนยันว่าการเติบโตของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลมีอัตราเร่งที่ชะลอตัวลงแล้วเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็ยอมรับว่ายังคงเพิ่มขึ้นได้อยู่  โดยจะเห็นได้ว่างวดครึ่งแรกของปีภาพรวมเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 11.14%เทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา นำโดยธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยที่มีเอ็นพีแเพิ่มขึ้น 25% 21% และ15%ตามลำดับ

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรามการผู้จัดการใหญ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าในงวดครึ่งปีแรกปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองจำนวน 16,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,124 ล้านบาท หรือ 45.59% เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปีแรกของปีก่อน ทำให้อัตราส่วนเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 102.66% ตามนโยบายในการรักษาระดับไม่ให้ต่ำกว่า 100% 

ส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ่นมาจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน ลูกค้า เอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ธนาคารมุ่งเน้นกระบวนการติดตามและปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอย่างใกล้ชิด 

ขณะที่ธนาคารไทยพาาณิชย์แม้จะมีมูลค่าเอ็นพีแอลลดลง2% แต่ได้ตัดสินใจนำกำไรพิเศษจากการกลับรายการสำรองประกันภัยของ SCB Life มาตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสสองจำนวน 8,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.9% จากไตรมาส 2/2558 เพื่อทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 130.0% ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 จาก 109.8% ณ สิ้นปี 2558 และ 122.8% ณ สิ้นไตรมาส 1/2559

ภายใต้ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจ ที่กดดันการสร้างรายได้ จึงเห็นการปรับตัวใยการบริหารต้นทุนเงินฝาก สะท้อนผ่านฐานเงินฝากที่ลดลงในครึ่งแรกของปี ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ปล่อยให้เงินฝากไหลออก โดยธนาคารที่ยังมีการเติบโตของเงินฝาก ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ 3% ธนาคารกสิกรไทย 2.15% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1.5% ธนาคารเกียรตินาคิน 1.6%

ส่วนที่เหลือมีเงินฝากลดลง นำโดยธนาคารกรุงไทยลดลง 2.5% ธนาคารไทยพาณิชย์ 1.04% ส่วนธนาคารขนาดกลางและเล็กนำโดยธนาคารทิสโก้ลดลง 3.9% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ลดลง 2.5% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยลดลง 1.7% ธนาคารธนชาต 1.41% ธนาคารทหารไทย 0.5% 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ฐานเงินฝากที่ลดลง ส่วนใหญ่มาจากการครบอายุของเงินฝากประจำ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงในไตรมาส 2/2559 และกลยุทธ์ของธนาคารในการเพิ่มสัดส่วนบัญชีเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำ

จากกลยุทธ์ของธนาคารในการลดต้นทุนเงินฝาก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนต่ ำส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 62.5% ในไตรมาส 2 จาก 58.0% ในไตรมาส 2/2558 

ขณะที่สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก เพิ่มขึ้นเป็น 99.5% จาก95.3% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2558 สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่จะผ่อนคลายสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเล็กน้อยภายใต้ภาวะที่มีสภาพคล่องจานวนมากในตลาด เพื่อช่วยในการลดต้นทุนเงินฝากของธนาคาร ธนาคารมีนโยบายในการบริหารสภาพคล่องด้วยการจัดหาเงินทุนในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของสินเชื่อในต้นทุนที่ยอมรับได้ 

ด้านการขยายตัวของสินเชื่อในงวดครึ่งแรกของปีนี้ธนาคารพาณิชย์ ยังพอจะประคองฐานสินเชื่อเดิมไว้ได้ โดยภาพรวมแล้วยังเห็นอัตราการเติบโตเป็นบวก แม้จะแค่1%ก็ตาม โดยธนาคารขนาดใหญ่ยกเว้นธนาคารกรุงไทยที่มินเชื่อลดลง 2.67% ธนาคารใหญ่แห่งอื่นมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นทุกแห่ง รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่กระโดดเข้ามาเกาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ได้แล้ว โดยมีฐานสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 4.2% จากสิ้นปีก่อน สูงสุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด  ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น3.24% ธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้น 2% และธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 1.5% ส่วนธนาคารเพิ่มขึ้น 1.8% ซีไอเอ็มบีเพิ่มขึ้น 1.8% และแลนด์แอนด์เฮ้าส์6%

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า สินเชื่อเติบโตสูงถึง 4.2% ครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อที่สมดุล ด้วยสัดส่วนสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่ 57% และสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ 43% โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มสูงขึ้น 5.5% จากความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้น 3.5% และ 2.5% ตามลำดับ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.2% นับเป็นระดับต่ำที่สุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย 

สำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 กรุงศรีฯ คาดว่า เศรษฐกิจยังคงขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตแข็งแกร่ง การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐและการลงทุน ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ กอปรกับการฟื้นตัวของภาคเกษตร ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานดังกล่าว กรุงศรีจึงยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อของทั้งปี 2559 ที่ 5-6%

นอกนี้ ยังพบว่า กลุ่ธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อในสัดส่วนสูง เห็นสินเชื่อหดตัวลงตามตลาดเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังชะลอตัวในขณะนี้ ประกอบด้วยธนาคารธนชาตมีสินเชื่อลดลง 3.66% ธนาคารทิสโก้ลดลง 3.1% และธนาคารเกียรตินาคินลดลง 1.6% แต่ในแง่ของเอ็นพีแอลกลุ่มเช่าซื้อยังมีแนวโน้มลดลงยกเว้นธนาคารเกียรตินาคิน

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน ระบุว่าเอ็นพีแอลครึ่งปีแรกอมีจำนวน 10,662 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 5.8% ณ สิ้นปี 2558 จากหนี้เสียของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 26.4% ในไตรมาส 2 จาก 19.7% ณ สิ้นปี 2558 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ในส่วนของเอ็นพีแอลสินเชื่อเช่าซื้อยังคงปรับตัวลดลง จาก 2.4% ณ สิ้นปี 2558 เป็น 2.1% ณ สิ้นไตรมาส 2 จากมาตรการและการพัฒนากระบวนการภายในอย่างต่อเนื่อง 

ช่วงครึ่งปีหลังต้องลุ้นกันว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้จริงตามการลงทุนภาครัฐ ที่จะช่วยกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ นั่นอาจจะช่วยให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ในแง่เอ็นพีแอลยังต้องใช้เวลากว่าที่การฟื้นตัวจะส่งผลมาถึง เวลานี้นายแบงก์ทั้งหลายหวังได้เพียงว่าจะเห็นเอ็นพีแอลหยุดเพิ่มหรือไปถึงจุดสูงสุดในสิ้นปีเท่านั้นจริงๆ