สัตว์รับบาป ธรรมชาติรับกรรม!

สัตว์รับบาป ธรรมชาติรับกรรม!

แม้ว่า ‘บาป-บุญ’ จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ข้อเท็จจริงมีเพียงหนึ่งเดียวที่การปล่อยสัตว์สะเดาะเคราะห์สร้างผลกระทบทั้งสัตว์และสิ่งแวดล้อม

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเพิ่งผ่านพ้นไป นอกจากจะเป็นนาทีทองของการเข้าวัดทำบุญ ยังเป็นช่วงพีคสุดที่สัตว์บางชนิดจะต้องรับหน้าที่เป็น ‘ตัวแทน’ การสะเดาะเคราะห์ แต่ฉากสุดท้ายกลายเป็น ‘ตัวตาย’

            การปล่อยนกปล่อยปลา (และสัตว์อื่นๆ) ฝังรากลึกในคติความเชื่อของสังคมไทยมานาน จากงานวิจัยหัวข้อ “ปล่อยสัตว์ ทำบุญฤๅสร้างบาป” ศึกษาโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปี 2554 ระบุว่า...นานมาแล้ว เจ้าอาวาสผู้มีญาณพิเศษทำนายดวงชะตาราศีได้แม่นยำ เผอิญไปพบกับสามเณรกำลังกวาดลานวัด แล้วสังเกตเห็นว่าสามเณรมีสีหน้าหมองคล้ำจึงถามวัน เดือน ปีเกิด เพื่อสำรวจดวงชะตาให้ ปรากฏว่าดวงสามเณรไม่ดีนักจะอายุสั้น สมภารจึงแนะนำให้กลับไปเยี่ยมบุพการีในวาระสุดท้ายของชีวิต ระหว่างเดินทางกลับบ้านนั้น สามเณรผ่านทุ่งนาแล้วเห็นปลาในหนองน้ำกำลังจะตายเพราะความแห้งแล้ง จึงเกิดความรู้สึกสงสาร เลยค่อยๆ เอามือช้อนปลาทีละตัวไปปล่อยที่ลำคลองใหญ่ พร้อมพูดในใจว่า “ข้าให้อิสระแก่เจ้า ขอให้เจ้ามีชีวิตยืนยาวต่อไป”

            หลังจากเยี่ยมญาติพี่น้องเสร็จ สามเณรเดินทางกลับมายังวัด เมื่อสมภารเห็นใบหน้าที่ผ่องใสไม่หมองคล้ำเหมือนเดิม จึงสอบถามความเป็นมาว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างละเอียด เมื่อทราบว่าไปปล่อยปลามาแล้วสามารถต่อชะตาชีวิตได้ ข่าวลือเรื่องนี้จึงสะพัดไปทั่วหมู่บ้านและกลายเป็นความเชื่อสืบต่อมาถึงทุกวันนี้

ซัคเกอร์ก็คือซัคเกอร์

            “ปล่อยปลาดำราหู หมายถึงสะเดาะเคราะห์” เป็นข้อมูลที่ค้นเจอไม่ยากในเว็บไซต์ดังหลายแห่ง สะท้อนความเชื่อที่คนไทยถูกเป่าหูว่าปลาชนิดนี้คือเครื่องมือสะเดาะเคราะห์ชั้นดี ด้วยชื่อที่ถูกปรุงแต่งให้เกี่ยวพันกับสิ่งลี้ลับ ทั้งที่จริงแล้ว ‘ปลาดำราหู’ มีอีกชื่อที่ไม่เท่เอาเสียเลย เพราะมันคือ ‘ปลาซัคเกอร์’ บางครั้งเรียก ‘ปลากดเกราะ’ หรือ ‘ปลาเทศบาล’ แม้จะชื่อไทยๆ ว่าปลาเทศบาล แต่ทางการกลับเร่งกำจัดออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ สวนทางกับกระแสทำบุญหัวปักหัวปำที่บ้าจี้ปล่อยปลาชนิดนี้ลงแม่น้ำลำคลอง จนแอดมินเพจ Big Trees ต้องออกมาโพสต์ด่วนๆ ว่ากระแสปล่อยปลาซัคเกอร์ที่เอามาตั้งชื่อขลังๆ เป็นการหลอกพวกอยากทำบุญสำเร็จรูป แต่ผลกระทบกลับร้ายแรงมากต่อระบบนิเวศ

            “...ปลาซัคเกอร์นี่มันไม่ใช่ปลาท้องถิ่นในไทย ศัตรูทางธรรมชาติจึงแทบไม่มีเลย ประเด็นคือเมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะแพร่พันธุ์เร็ว แถมจะไปดูดไข่ (อาจรวมลูกปลาตัวเล็กๆ มากๆ) ที่ปลาท้องถิ่นในไทยวางไว้ขยายพันธุ์ พอซักพักปลาท้องถิ่นแบบไทยๆ อย่างปลากระดี่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวายก็จะสูญพันธุ์ไปหมด กระแสหลอกกันทำบุญ แต่กลับเป็นบาปหนักมาแรงมาก เจอแล้วต้องช่วยกันรีบแจ้งจับด่วน”

            สอดคล้องกับข้อมูลที่อธิบดีกรมประมง ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบายว่ามีความเชื่อในสังคมว่าปลาซัคเกอร์คือปลาดำราหู ผู้ปล่อยจะได้โชคลาภ ซึ่งความเชื่อนี้ส่งผลให้มีผู้ใจบุญหลายคนยอมจ่ายเงินซื้อปลาชนิดนี้แล้วนำไปปล่อยหวังสะเดาะเคราะห์สร้างบุญ แต่นี่คือความเชื่อที่ผิดเพราะปลาซัคเกอร์ไม่ใช่ปลาดำราหู ส่วนปลาราหูจริงๆ คือปลากระเบนชนิดหนึ่ง ผู้ที่ซื้อปลาซัคเกอร์ไปปล่อยแทนที่จะได้บุญกลายเป็นสร้างบาปมากกว่า

            “ปลาเหล่านี้สร้างปัญหาให้ระบบนิเวศ ทางกรมประมงขอให้เลิกปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ผ่านมากรมประมงในฐานะผู้ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง บางครั้งมีประชาชนนำสัตว์น้ำต่างถิ่นมาปล่อย ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องระบบนิเวศของสัตว์น้ำ โดยได้เร่งแก้ไขมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำปลาซัคเกอร์มาวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การออกระเบียบข้อกำหนดการจัดการสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงอันตรายของสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมถึงจัดกิจกรรมให้คนที่มีปลาซัคเกอร์ในครอบครองหรือจับได้ ไม่ต้องการเลี้ยง นำมาแลกเป็นพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยหรือปลาสวยงามแทน”

นกน้อยในกรงกรรม

            ภาพนกตัวน้อยถูกขังในกรงแคบ นอกจากให้ความรู้สึกถึงการไร้อิสรภาพแล้วยังเรียกความสงสารจนต้องควักเงินซื้อนกในกรงน้อยนั้นมาปลดปล่อย ภาพนกบินหนีตายสู่ฟ้ากว้างคงทำให้หลายคนอิ่มเอมใจพร้อมกับรู้สึกว่าได้บุญเหลือเกิน

            แม้คำโฆษณาชวนเชื่อว่า ปล่อยนก ทำให้หมดทุกข์หมดอุปสรรค ราบรื่น มีความสุขความเจริญ โชคดี มีโอกาสใหม่ๆ ได้เริ่มชีวิตใหม่ที่ดี แต่มั่นใจแล้วหรือว่าอิสรภาพที่มอบให้นกเหล่านี้คือการให้ชีวิตจริงๆ

            เริ่มกันที่จุดเริ่มต้นก่อนที่นกจะมาถูกจองจำในกรงไม้เล็กๆ...

            ณ ท้องทุ่งต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย นกกระจาบ นกกระติ๊ด ซึ่งเป็นนกที่หากินเมล็ดข้าวและเมล็ดพืชตามทุ่งนากำลังหากินตามปกติ แต่ไม่ทันตั้งตัวพวกมันก็ตกอยู่ในวงล้อมของตาข่ายผืนใหญ่ที่กลุ่มคนล่านกนำมาดัก หลังจากนั้นนกเหล่านี้จะถูกนำไปขังรวมในกรงใหญ่เพื่อแยกขายต่อไป โดยแบ่งใส่กรงเล็กกรงน้อย มีปลายทางคือวัดวาอาราม แต่ระหว่างทางมีนกต้องตายจากการขนส่งจำนวนมาก

            นอกจากพฤติกรรมของคนเหล่านี้จะโหดร้ายในแง่ศีลธรรม ในแง่กฎหมายคนพวกนี้นับเป็น ‘มิจฉาชีพ’ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าสงวนระบุว่านกป่านกทุ่งทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน ห้ามมีไว้ครอบครอง ซื้อขาย ยกเว้นเพื่อการวิจัย ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

            แต่ด้วยค่าที่การบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างหย่อนยาน มิหนำซ้ำคนซื้อที่หวังทำบุญอย่างง่ายก็มีมากจนกระทั่งผู้กระทำผิดยอมเสี่ยงที่จะละเมิดกฏหมายรวมทั้งละเมิดชีวิตของสัตว์อื่น ซึ่งปัญหาการดักจับนกเพื่อขายเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาจำนวนนกทุ่งในภาคกลางประเทศไทยลดลงอย่างมากและรวดเร็ว ส่งผลให้นกที่เคยมีมากก็กลายเป็นหายากและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากอีกด้วย โดยเฉพาะนกที่ตกเป็นเป้าหมายการจับมาขายเพื่อสะเดาะเคราะห์ เช่น นกกระจาบธรรมดา (Baya Weaver), นกกกระจาบอกลาย (Streaked Weaver ), นกกระจาบทอง (Asian Golden Weaver), นกกระติ๊ดแดง (Red Avadavat), นกกระติ๊ดตะโพกขาว (White-rumped Munia), นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia) รวมไปถึง นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Yellow-breasted Bunting) นกอพยพที่เมื่อก่อนเคยพบเป็นจำนวนมาก ทว่าปัจจุบันแทบไม่มีให้พบเห็น

เต่าบกตกน้ำ

            คนมักจะหวังให้ตัวเองมีชีวิตยืนยาว แต่กับเต่าที่ธรรมชาติสร้างให้พวกมันอายุยืน มันอาจไม่ชอบใจก็เป็นได้เมื่อต้องกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอายุมั่นขวัญยืนเมื่อคนต้องการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาโดยการ ‘ปล่อยเต่า’

            หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเต่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่นเดียวกับนกทุ่งที่ห้ามครอบครอง ห้ามซื้อ-ขาย และยิ่งไปกว่านั้นคือการไม่รู้จักประเภทเต่านำมาซึ่งผลลัพธ์คือความตายของสัตว์สี่เท้าหลังตุง

            แม้จะเป็นเต่ามีกระดอง ก็ใช่ว่าเต่าทุกชนิดจะว่ายน้ำได้ เพราะเต่าแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ เต่าบกและเต่าน้ำ แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าเต่าบกย่อมต้องดำรงชีวิตบนบก พอคนเข้าใจผิดนำเต่าบกไปปล่อยในน้ำ เต่าเหล่านั้นจะจมน้ำตายสถานเดียวเนื่องจากพวกมันว่ายน้ำไม่เป็น ทั้งการล่าเพื่อนำมาขาย ทั้งการนำไปปล่อยอย่างไร้วิจารณญาณ ทำให้ปัจจุบันประชากรเต่าบกซึ่งเป็นสัตว์ป่าเหลือน้อยมาก

            ผศ.ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บอกถึงความแตกต่างระหว่างเต่าน้ำกับเต่าบกไว้ดังนี้

เต่าน้ำ มีพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้วเท้าช่วยให้ว่ายน้ำได้ มีผิวหนังที่เรียบและชุ่มชื้น นอกจากนั้นยังชอบกินสัตว์มากกว่าพืช เช่น ปลาตัวเล็ก หอย

            ส่วน เต่าบก ว่ายน้ำไม่ได้เนื่องจากขาของมันไม่มีพังผืดยึดติดกัน เคลื่อนไหวช้า แต่ปีนป่ายเก่งเนื่องจากมีขาที่แข็งแรง ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ กระดองโค้งสูงมาก มีหัวที่อ้วนใหญ่ มีเกล็ดชัดเจน ส่วนขาไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว จึงไม่สามารถใช้ว่ายน้ำ แต่จะมีอุ้งเท้าที่มีเล็บแข็งแรงและใหญ่มาก

            และใช่ว่าการปล่อยเต่าน้ำจะถูกต้องเสมอไป เพราะหากเป็นน้ำลึกมาก หรือน้ำสกปรกมาก เต่าน้ำก็เต่าน้ำเถอะ...ไม่รอดเหมือนกัน

ปลา (ไม่) ไหล

            แม้กระแสปล่อยปลาซัคเกอร์จะมาแรงมากในช่วงนี้ แต่ถ้าจัดอันดับกันจริงๆ ‘ปลาไหล’ คือแชมป์ประจำกลุ่มสัตว์รับกรรมที่คนนิยมปล่อยสะเดาะเคราะห์ นั่นก็เพราะความหมายที่คนแต่งแต้มเข้าไปให้สอดคล้องกับชื่อของมัน

            ในงานวิจัยหัวข้อ “ปล่อยสัตว์ ทำบุญฤๅสร้างบาป” ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าเหตุผลที่ปลาไหลได้เป็นขวัญใจมหาชนสัตว์สะเดาะเคราะห์เพราะคนเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตลื่นไหล เงินทองไหลมาเทมา ความทุกข์ไหลออกไป

            แต่การปล่อยปลาไหลบริเวณแม่นํ้าหน้าวัดนั้น อาจไม่ได้ช่วยชีวิตสัตว์หรือได้บุญจริง เนื่องจากธรรมชาติของปลาไหลชอบอยู่บริเวณลำห้วย หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีดินโคลนดินเลนให้มุด นอกจากนี้ยังชอบสภาพน้ำนิ่งๆ ไม่ไหลแรงมาก

            ดังนั้นเมื่อคนซื้อปลาไหลหน้าวัดแล้วปล่อยทิ้งลงกลางแม่น้ำ ปลาไหลจะอยู่นิ่งเพราะทนความแรงของกระแสน้ำไม่ไหว แล้วพยายามว่ายหลบมายังริมตลิ่ง สุดท้ายก็โดนกลุ่มผู้ค้าจับมาขายซ้ำใหม่ได้อย่างง่ายดาย

          ทำบุญครั้งต่อไปอาจต้องไตร่ตรองแล้วว่าจะยังทำตาม ‘ค่านิยม’ ที่กลายเป็น ‘ฆ่านิยม’ อีกหรือเปล่า มิเช่นนั้นจากได้บุญ คุณอาจได้บาป!