'ซีไอเอ็มบี' รุกใช้ดิจิทัลดันรายย่อย

'ซีไอเอ็มบี' รุกใช้ดิจิทัลดันรายย่อย

"ซีไอเอ็มบี"เผย 3 ปี เดินหน้าลดสาขาเพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หนุนยอดธุรกรรมและฐานลูกค้ายังเติบโต ขณะที่หนี้เสียยังเพิ่มขึ้นแต่อัตราเร่งลดลง

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับยุทธศาสตร์ด้านสาขา ด้วยการเดินหน้าปรับลดจำนวนสาขาลง ทำให้ปัจจุบันจำนวนสาขาจะลดลงจาก 163 สาขา เหลือ 96 สาขา ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงช่องทางการให้บริการอื่นๆ ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจรายย่อยของธนาคารยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของฐานลูกค้า ธุรกรรมและการสร้างรายได้ และในสิ้นปีนี้จำนวนสาขาจะลดลงเหลือ 80 สาขา

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์กองทุนและประกันของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 150 ล้านบาท จากปี 2556 ทั้งปีที่ 108 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 98,119 ล้านบาท จากปี 2556 ทั้งปีที่มี 68,782 ล้านบาท ในส่วนของยอดเงินฝากของธนาคารช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 108,314 ล้านบาท เทียบปี 2556 ที่มี 101,616 ล้านบาท

ขณะที่ฐานลูกค้าบุคคลธนกิจหรือCIMB Preferred เพิ่มขึ้นจาก 25,194 รายในสิ้นปี 2556 มาอยู่ที่ 53,160 รายในสิ้นเดือนมิ.ย.ผ่านมา และจากการมุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทำให้ลูกค้าพรีเฟอร์ของธนาคารมีการถือครองผลิตภัณฑ์ต่อรายเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าที่ถือครองมากกว่า 4 ผลิตภัณฑ์ต่อรายเพิ่มขึ้นจาก 6,317 รายเป็น 6,754 ราย

ครึ่งปีแรกธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่ 6,400 ราย สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7% โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าแตะ 60,000 รายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอด AUM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท ในสิ้นปี

ทั้งนี้ ธนาคารได้หันไปเพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การอนุมัติสินเชื่อบุคคลนอกสถานที่รู้ผลได้ทันที ความร่วมมือกับเอไอเอส ในการพัฒนาดิจิทัลแบงก์กิ้ง ‘Beat Banking’ รวมถึงช่องทางอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและแอพพิเคชั่น ที่ช่วยลูกค้าสะดวก ง่าย และเร็วขึ้น

สำหรับการขยายสินเชื่อรายย่อยปีนี้เชื่อว่าจะเติบโตตามเป้าที่ 12% ดีกว่าภาพรวมตลาดที่คาดสินเชื่อจะเติบโตเพียง 5-6% โดยสินเชื่อรายย่อยครึ่งปีแรกมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 9.5 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% ส่วนในครึ่งปีหลังตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อีกประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างรวมของสินเชื่อบุคคลเพิ่มเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

เขายังกล่าวอีกว่าหลังจากที่เปิดให้ลูกค้าสมัครขอสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางเว็บไซต์ในช่วงปลายปี 2558 และมีผลตอบรับดีเกินคาด ปัจจุบันมียอดสมัครเข้ามา ประมาณ 5,000 รายต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6-7% ของยอดสมัครสินเชื่อบุคคลทุกช่องทาง และธนาคารคาดว่ายอดสมัครสินเชื่อบุคคลออนไลน์จะเพิ่มเป็น 10,000 รายต่อเดือน หรือคิดเป็น 10% ของยอดสมัครทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ และธนาคารกำลังพัฒนาเว็บไซต์สำหรับการขอสินเชื่อบ้านออนไลน์ เพราะเห็นแนวโน้มการเข้ามาหาข้อมูลซื้อบ้านมือสองรวมถึงการหาข้อมูลเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยผ่านเว็บไซต์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเอ็นพีแอลยังคงเพิ่มขึ้น แต่อัตราเร่งเริ่มลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3.2% จาก 3% ในสิ้นปีก่อน โดยในสิ้นปีนี้จะพยายามคุมให้ต่ำกว่า 4%

ส่วนเป้าหมายเงินฝากรายย่อยปีนี้ตั้งไว้ที่ 107,800 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโต 4% จากสิ้นปี 2558 แต่ครึ่งปีแรกมียอดเงินฝากแล้ว 108,314 ล้านบาทสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจรายย่อยในปีนี้ธนาคารตั้งไว้ 900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 800 ล้านบาท​โดยครึ่งแรกทำได้แล้ว 310 ล้านบาท

“ครึ่งหลังธนาคารยังเน้นการขายกองทุนและหุ้นกู้เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และแนวโน้มครึ่งหลังยังมีความผันผวนมากขึ้นโดยเฉพาะเบร็กซิทจะทำให้โอกาสในการลงทุนมีมากขึ้น ครึ่งปีหลังจะออกผลิตภัณฑ์ หุ้นกู้ และ ตราสารอนุพันธ์ มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงาน และ อสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับแนวโน้มตลาดทุนในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกส่วนยอดขายแบงก์แอสชัวรันส์ครึ่งแรกเบี้ยประกันปีแรกเฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน ดีกว่าตั้งเป้าหมายที่ 70 ล้านบาทต่อเดือน”