ทอม…ซ่อมไม่ได้

ทอม…ซ่อมไม่ได้

สิทธิทางเพศไม่ใช่ของเสีย หยุดวาทกรรม ‘แก้ทอม-ซ่อมดี้’ คำพูดเล่นๆ แต่มากด้วยอคติและความเกลียดชัง

  เหตุกราดยิงสถานบันเทิงในเมืองออร์ลันโด้ รัฐฟลอริด้า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทำให้ประเด็นเสรีภาพของกลุ่ม LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ถูกพูดถึงอีกครั้ง… แต่เชื่อไหม เมื่อผ่านไปสักพัก มันจะค่อยๆ จางหายไป ต้องรอให้มีปัจจัยใหม่ๆ (ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องร้าย ) ถึงทำให้ได้พูดถึงกันอีก

ไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่ลองนึกถึงความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงรักหญิงที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ กฎหมายการลงโทษหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย เกย์ ทอม ดี้ ฯลฯ ในบางประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเอง รศ. ดร. กฤติยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปว่า แม้ยังไม่มีกฎหมายเอาผิดกับผู้ที่รักเพศเดียวกัน แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหญิงรักหญิง โดยมีทอมเป็นเหยื่อ ถึง 11 คดี ทั้งยังรวมไปถึงการละเมิดทางเพศในหลายระดับที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว

ความรุนแรงที่ว่ามีตั้งแต่การจ้างวานฆ่าแล้วอำพรางศพ ด้วยเหตุที่มีแฟนเป็นผู้หญิง การข่มขืนบุคคลที่รักผู้หญิงด้วยกัน การทำร้ายร่างกายทอม ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้ ล้วนมาจากอคติและความเกลียดชัง (Hate crime)

“ไม่ต้องรู้จักกันมาก่อนก็ได้ แต่ก็พร้อมจะทำร้ายเพราะเหยื่อทำในสิ่งที่เกลียด ไม่พอใจ พวกนี้เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) โดยเฉพาะทอมที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ ที่ปฏิเสธเพศกำเนิด สามารถสังเกตเห็นได้จากการแต่งกาย กิริยาท่าทาง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำค่อนข้างสูง ดังรายงานวิจัยที่ชี้ว่า ในบางโรงเรียน นักเรียนหญิงที่มีลักษณะห้าวๆ คล้ายผู้ชายจะถูกรังเกียจจนถึงมีการตั้ง ‘กลุ่มเกลียดทอม’ ขึ้น”

ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล สมาคมฟ้าสีรุ้ง ที่ทำงานกับกลุ่มเพศทางเลือก สะท้อนประสบการณ์ ในงานเสวนาสาธารณะ “แก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นความรุนแรง” ตอนหนึ่งว่า “กลุ่มทอมคือกลุ่มที่ถูกสังคมกระทำความรุนแรงมากที่สุด และนอกจากความเกลียดชังแล้ว บางกรณียังมีความรู้สึกอื่นเป็นเหตุผลด้วย เช่น คนในครอบครัวยังใช้วิธีการมีเพศสัมพันธ์เพื่อรักษาลูกหลานให้กลับมาเป็นผู้หญิงอย่างที่ต้องการ โดยพวกเขาพร้อมจ้างผู้ชายให้มามีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะคิดว่า การมีเพศสัมพันธ์คือวิธีแก้ปัญหา ไม่ต่างอะไรจากหน่วยงานรัฐที่ขณะนี้ยังไม่มีความรู้จะปฏิบัติตัวอย่างไรกับกลุ่มเพศทางเลือก สถานการณ์ทั้งหมดจึงแสดงถึงความรุนแรงหลายระดับ”

 

‘ทอม’ ซ่อมทำไม

  จะเป็น ‘ทอม’ ที่เคียงคู่กับ ‘ดี้’ หรือเป็นดี้ ซึ่งสุดท้ายกลับมาคบกับผู้ชาย หรือจะเป็นทอมที่ครั้งหนึ่งเคยคบกับผู้ชาย แล้วกลับมารักกับผู้หญิงใหม่ มันคงไม่ใช่ปัญหา

หากแต่ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า เหตุใดสิทธิเรื่องเพศของกลุ่มทอม ต้องกลายมาเป็นความรุนแรง เกิดเป็นวาทกรรม ที่ส่อถึงการคุกคามสวัสดิภาพอีกฝ่าย อย่างที่ว่า เจอของจริงแล้วจะหาย ,รับแก้ทอม-ซ่อมดี้, คืนสตรีสู่สังคม, ฯลฯ

อาทิตยา อาษา นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องวาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้ในสื่อออนไลน์ บอกว่า ในสื่อและสังคมออนไลน์ มีเรื่องเล่าว่าด้วยการซ่อมทอมเต็มไปหมด ทั้งการซ่อมด้วยกายและจิตใจ ซึ่งวิธีการที่นิยมมากที่สุด คือการจับแต่งงาน เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกกลายเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม

สังคมไทยเองจึงยังมอง กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข เป็นเพศสภาวะและเพศวิถีที่ออกนอกลู่ นอกทางจากความเป็นหญิง โดยวิธีการควบคุม ก็คือการสร้างความหวาดกลัวในเรื่องเพศ ด้วยการใช้อวัยวะเพศชายมาเป็นแกนหลักในการควบคุมนั่นเอง

‘แก้ทอม-ซ่อมดี้’ จึงเป็นทั้งแนวคิดและวาทกรรมที่กำหนดควบคุมบุคคลที่มีสรีระเป็นเพศหญิง ไม่ให้มีพฤติกรรม ‘เกินกว่า’ เป็นหญิงแบบอุดมคติ โดยใช้สร้างความหวาดกลัว และแม้จะเป็นการพูดเล่นๆ ให้ดูขำๆ ตลก แต่กลับปนไปด้วยความรุนแรง

“พูดเหมือนกับว่า ทอมเป็นของเสีย ที่สามารถซ่อมหรือว่าแก้ไขให้เป็นปกติได้ โดยการแก้ไขนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องชี้ให้เห็นถึงรสชาติของความเป็นชาย เพราะที่มีคนบอกว่า ทอมเป็นผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ยังไม่เคยมีเพศวิถีแบบชายหญิง คนเลยคิดว่าต้องลองก่อน ต้องรู้รสของความเป็นชายก่อน แล้วก็อยากจะกลับเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม ทั้งที่จริงมันไม่ใช่เลย”

สุพีชา เบาทิพย์  กลุ่มทำทางเพื่อการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย ยืนยันว่า ความเป็นทอมไม่สามารถซ่อมได้ นั่นเพราะตนเองเคยมีแฟนเป็นผู้ชายมาก่อน แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นทอม นั่นเพราะเป็นสิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงไม่ควรถูกตีกรอบกดทับว่า ทอมคือผู้หญิงที่สามารถซ่อมได้ ขณะเดียวกันเมื่อกลุ่มทอมโดนกระทำรุนแรง กฎหมายก็ต้องปกป้องและเสนอทางออกที่เหมาะสม

 

เพศวิถี ลื่นไหลได้

  จากการเก็บข้อมูลระหว่างทำวิทยานิพนธ์ยังพบว่า พื้นที่สาธารณะอย่างสำนักงาน ซึ่งเป็นสังคมเพศชายมักมีพฤติกรรมการพูดจาถากถาง โดยทอมมักถูกตราหน้าว่า ทำตัวกร่าง เดินเหมือนผู้ชาย และหนักที่สุด คือการยกคลิปวีดีโอหรือเรื่องเล่าถึงประสบการณ์ผู้ชายที่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับทอม เพื่อการข่มขู่

“มันต้องเจอของจริง ผู้ชายจะพูดอะไรกันแบบนี้ และคิดว่าใครที่ทำทอมเปลี่ยนใจได้คือคนเก่ง ต้องได้รับการนับถือ เพราะนั่นหมายถึง ฉันคือของแท้ คุณคือของปลอม ที่สุดแล้ว ฉันมีอวัยวะเพศซึ่งสามารถสืบพันธุ์ได้ คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายจะมีความสุขมากกว่า เหล่านี้คือวิธีการคิดที่มองว่าโลกนี้มี 2 เพศ คือชายกับหญิงเท่านั้น เพศอื่นมันของปลอม ต้องซ่อมด้วยการมีเพศสัมพันธ์” อาทิตยา กล่าว และว่า หากผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยคบกับผู้หญิงด้วยกัน แล้วกลับมาแต่งงานกับผู้ชายไม่ได้หมายความว่า “เขาถูกซ่อม” แต่เพศวิถีมันลื่นไหล และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเพศ

  ผู้หญิงที่รักผู้หญิงด้วยกัน หรือแม้แต่ผู้หญิงที่รักได้ทั้งสองเพศ จึงแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศและวิถีทางเพศที่สังคมสร้างขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลได้ตามการเรียนรู้ของบุคคล กาลเทศะ และวัฒนธรรม

สังคมจึงต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศให้มากขึ้น เพิ่มกระบวนการทางกฎหมายให้คนที่กระทำความรุนแรงทางเพศได้รับการลงโทษ พร้อมตระหนักว่าเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่บุคคลอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปซ่อมหรือแทรกแซง

 

ชายจริง หญิงไม่แท้

  เมื่อเรื่องเพศคือสิทธิ ที่ใครๆ สามารถแสดงออกได้ มันจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละชีวิตจะเลือกเส้นทางของตัวเอง

คาณัสนันท์ ดอกพุฒ นักกิจกรรมทรานส์แมนจากกลุ่ม FTM BANGKOK มีเพศกำเนิดคือเพศหญิง เติบโตมาถูกเรียกว่า “ทอม” ก่อนจะนิยามตัวเองว่าเป็น ทรานส์แมน (Trans Man) หรือ เอฟทีเอ็ม (FTM: Female To Male)

  นอกจากจิตใจที่เป็นชายแล้ว การเป็นทรานส์แมนอาจเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนลักษณะร่างกายแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวเป็นผู้ชายอย่างชัดเจน การใช้ผ้ารัดหน้าอก การฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเข้าไปเพื่อสร้างความเป็นชาย เช่น สร้างหนวดเครา เปลี่ยนเค้าโครงหน้า เพิ่มความหนาของเส้นเสียง ฯลฯ การผ่าตัดเอาหน้าอกออก เรื่อยมาถึงการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศ

นอกจากสิทธิทางเพศที่ไม่ต้องซ่อม คาณัสนันท์รู้จักตัวเองดีพอ เมื่ออายุ 18 ปี เขาค้นคว้าข้อมูลอย่างจริงจัง จนถึงอายุ 26 ปี เขาเริ่มฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเข้าไปในกล้ามเนื้อเป็นเข็มแรก ซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับของเพศชายที่มากกว่าเพศหญิงถึง 7-8 เท่า และทำให้รูปลักษณ์เริ่มเปลี่ยนแปรจากภายใน โดยยังไม่ใช้การผ่าตัดจากภายนอก

จากนั้นฮอร์โมนเริ่มส่งผลทีละน้อย หน้าอกผึ่งผาย เส้นเสียงเริ่มหนา หนวดเคราขึ้นครึ้ม และอารมณ์ทางเพศที่พุ่งกระฉูด แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมๆ กับความเสี่ยงโรคภัยที่มากขึ้น เทสโทสเตอโรน ทำให้เลือดมีความเข้มข้น และหัวใจสูบฉีดรุนแรง ทำให้เขาต้องรักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัดกว่าคนทั่วไป

“จริงๆ มีทรานส์แมนในไทยเยอะนะ แต่เขาเลือกจะไม่เปิดเผย มันขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน ไม่ได้หมายความว่าภายนอกเป็นผู้ชายแล้ว และต้องไปป่าวประกาศบอกใครๆ ว่าฉันเป็นผู้ชายแล้ว”

ส่วนการเลือกที่จะเผยตัวต่อสาธารณะ นั่นเพราะว่ายังมีคนอีกมากมายที่กำลังค้นหาเส้นทาง แต่ยังไม่มีทางออกเหมือนกับเขาในอดีต นั่นจึงเป็นเหตุผลของการขยับเรียกร้องสิทธิและสร้างเว็บไซต์กลุ่มสังคมทรานส์แมน ชื่อว่า FTMbangkok.com และมีแฟนเพจเฟซบุ๊คในชื่อเดียวกันเพื่อให้ความรู้กับคนที่สนใจ

“เรามีความสุข รู้สึกดีที่จะอยู่ในร่างผู้ชายมากกว่าผู้หญิง” หนึ่งในทรานส์แมน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า “ทอม” บอกทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ตนเองเลือก

ชั่ว-ดีอย่างไร หากจะมีความสุข อย่างน้อยๆ ภาพรวมของชีวิต ทั้งจิตใจ วิธีคิด ร่างกาย การกระทำ น่าจะเป็นสิ่งที่เจ้าของชีวิตกำหนดเอง

หากต้องถูกใคร ‘ซ่อม’ เพราะคิดว่ามันไม่ถูก ขัดหู ขัดตา นั่นคงไม่ยุติธรรม ทั้งไม่ต่างอะไรกับอาชญากรรมชนิดหนึ่ง