ช่องเย็น-อินทนนท์ : การเดินทางของคนชอบแบก

ช่องเย็น-อินทนนท์ : การเดินทางของคนชอบแบก

บางคนปรารถนาจะมีชีวิต ‘เบา’ ที่สุด แต่หลายคนเลือก ‘แบก’ เพื่อความสุขและคำตอบของชีวิต

ขณะกำลังไล่ดูความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลตามปกติเฉกเช่นมนุษย์ยุคดิจิทัลทั่วไป ใครกินอะไร ใครไปเที่ยวไหน ใครกำลังอกหัก ใครคบกับใคร เรารู้ได้ด้วยปลายนิ้ว แต่บ่อยครั้งขณะที่เรากำลังรู้ทุกอย่าง (ของคนอื่น) แต่กลับรู้สึกว่างโหว่ในหัวใจ พอตั้งคำถามถึงตัวเองอย่างลึกซึ้ง กลับหาคำตอบให้แก่ชีวิตไม่ได้

            ขณะกำลังไล่ดูความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียล...คำเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานในทริปตรวจสุขภาพประจำปีสมาชิกจักรยานสัญชาติไทยยี่ห้อ Rit ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ปรากฏขึ้นบนหน้าจอ กระชากความทรงจำเมื่อครึ่งปีก่อนให้กลับมา...

ปั่นตามฝัน             

            ลมหนาวเมื่อต้นปีทำให้สนามกีฬาธูปะเตมีย์ยามสายไม่ร้อนจนเกินไป เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนัดรวมพลสมาชิกที่จะไปร่วมทริปตรวจสุขภาพโดยจะไปเริ่มต้นที่ช่องเย็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้วไปจบที่ยอดดอยอินทนนท์

            รวมพล ยกจักรยาน และสัมภาระขึ้นรถเสร็จสรรพ รถตู้มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปสู่ จ.นครสวรรค์ ตลอดเวลาบนรถตู้ใจผมเต้นตึกตักด้วยความตื่นเต้น ไม่ใช่ตื่นเต้นต่อระยะทางที่กำลังรออยู่อีกหลายร้อยกิโลเมตร แต่เป็นความตื่นเต้นที่ผมจะได้ปั่นจักรยานทางไกลซึ่งมันคือความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเยาว์

            ทันทีที่มาถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เราขนจักรยานและสัมภาระทุกอย่างลงจากรถตู้ นับจากนี้ยานพาหนะตลอดสิบกว่าวันคือจักรยาน และห้องนอนคือเต็นท์ (มีบางคืนนอนโรงแรม) คืนแรกเราพักค้างแรมที่ ลานกางเต็นท์ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เพื่อจะขึ้นไปพิชิตช่องเย็นในวันรุ่งขึ้น

          สำหรับ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่พวกเรานอนรับลมหนาวกันนี้มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร และ อ.แม่วงก์ และอ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง และด้วยความที่เป็นเทือกเขาสูงชันจึงมีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือน้ำตกแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร ผืนป่าแม่วงก์นับป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จึงไม่แปลกหากมาที่แม่วงก์แล้วจะเย็นสบายยามกลางวันและหนาวเหน็บในเวลากลางคืน

            เช้าวันรุ่งขึ้น แม้ไม่มีเสียงนาฬิกาปลุกจากสมาร์ทโฟน แต่ไอเย็นและเสียงย่ำผืนหญ้าของผู้ตื่นก่อนก็เข้ามาเขย่าให้ลุกออกจากเต็นท์ ล้างหน้า แปรงฟัน กินข้าวเช้า แล้วขึ้นคร่อมจักรยานปั่นขึ้นช่องเย็นแล้วกลับลงมาด้วยระยะทาง 55 กิโลเมตร เพื่อรีบมาเก็บเต็นท์เพราะเราต้องปั่นไปกันต่อที่ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อีก 25 กิโลเมตร เพราะคืนที่สองเราจะกางเต็นท์นอนกันที่นี่

            ถ้าดูจากแผนที่ เราได้ปั่นข้ามจังหวัดมาที่กำแพงเพชรแล้ว เพราะ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อยู่ใน จ.กำแพงเพชร มีพื้นที่มากกว่า 187,500 ไร่ โดยครอบคลุม ถึง 3 ตำบลได้แก่ ต.คลองลานพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน และต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุด เช่น น้ำตกคลองลาน น้ำตกคลองน้ำไหล แก่งร้อยเกาะ ฯลฯ แม้ตรงลานกางเต็นท์ก็มีลำธารจากน้ำตกไหลผ่านให้ได้ลงเล่นเย็นยะเยือก

            ในอุทยานแห่งชาติคลองลานมีสัตว์ป่ามากมาย จำแนกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 92 ชนิด นก 82 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 26 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 35 ชนิด และปลา 30 ชนิด ที่สำคัญมีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เด่นๆ อยู่ในนี้ คือ นากใหญ่ขนเรียบ ชะมดเช็ด แมวป่า เสือลายเมฆ เขียดหลังปุ่มที่ราบ กบนา และเต่าหวาย แน่นอนว่าไม่มีสัตว์ตัวไหนกล้าออกมาเจอเสือหอบอย่างพวกเรา (จักรยานทัวริ่ง)

            เช้าวันใหม่เหมือนเช้าที่แล้วที่พวกเราตื่นกันแต่เช้า จัดเก็บสัมภาระขึ้นจักรยาน เพียงแต่วันนี้ไม่มียอดเขาให้พิชิต มีแต่เส้นทาง 60 กิโลเมตรมุ่งสู่ตัวจังหวัดกำแพงเพชร เส้นทางกับระยะทางในวันนี้ถือว่าไม่มากทำให้พวกเราไปถึงที่หมายได้เวลารวดเร็ว แต่ใช่ว่าครึ่งวันที่เหลือจะสูญเปล่า เพราะพวกเราได้ใช้เวลาไปกับโบราณสถานระดับมรดกโลก ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

            แม้จะเคยมาที่นี่จนนับครั้งไม่ถ้วน แต่เป็นครั้งแรกที่ปั่นจักรยานมาและปั่นจักรยานเที่ยวชมภายในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เนื่องจากในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

ปั่นไป...ให้แห้ง (ตาก)

            เราเริ่มวันใหม่ด้วยการโบกมือลากำแพงเพชร ในวันนี้มีระยะทางราว 70 กิโลเมตรรออยู่โดยมี จ.ตาก เป็นที่หมายต่อไป

            ออกจากกำแพงเพชรมาเพียง 20 กว่ากิโลเมตร หัวขบวนแจ้งว่าให้เลี้ยวขวาไปตามทางลาดยางที่มีสองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าน่าว้าเหว่ จำได้ว่าแดดสายวันนั้นร้อนมาก อาจเพราะฟ้าเปิดโล่งจึงไม่มีเมฆคอยกรองแสงและไอร้อนให้อีกชั้นหนึ่ง บวกกับสองข้างทางที่ไร้ชีวิตชีวา ทางลาดยางที่ไม่น่ามีอะไรกลับสร้างความรู้สึกอ่อนล้าอย่างบอกไม่ถูก แต่ทนความรู้สึกอย่างนั้นไม่นานก็มาถึง บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ตั้งอยู่ที่บ้านลานหิน ต.ลานดอกไม้ อ.เมือง เดาไม่ยากว่าสภาพเดิมบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงต้องเป็นอดีตทุ่งนา ทว่ามีน้ำร้อนผุดขึ้นมา ชาวบ้านบริเวณนั้นได้นำน้ำไปใช้อุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี

            จนกระทั่งปี พ.ศ.2541 องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด

            ตามตำนานเล่าว่า บ่อน้ำพุร้อนพระร่วงแต่เดิมบริเวณนี้ มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำขัง มีป่าโปร่งล้อมรอบสลับด้วยเนินเตี้ยๆ พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มน้อยใหญ่สลับกันตำนานเล่าว่า ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ วันหนึ่งพระองค์ทรงเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงามและมีเสียงขันไพเราะมาก จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จต่อไก่ป่าตัวนั้นและได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์  โดยมีไก่ป่าตัวอื่นๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นพระองค์และนายพรานล่าสัตว์อื่นไม่ได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่นๆ ไปปรุงอาหารสำหรับเสวย แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่า ไม่มีบ้านเรือนราษฎร จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร พระองค์จึงทรงสาปน้ำที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ๆ ให้เป็นน้ำร้อน บึงดังกล่าวจึงเรียกว่า “บึงพระร่วงสาป” ต่อมาภายหลังเรียกสั้นลงว่า “บึงสาป” และเป็นที่โจษขานกันว่าน้ำในบึงสาปนี้รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย  โรคผิวหนัง ประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบและดื่ม บางรายนำน้ำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

            จะเรียกว่าท้าทายความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิฤทธิ์ของที่นี่ก็ได้ เพราะความอ่อนล้าที่บอกไปตอนปั่นเข้ามา ผมรีบลงไปแช่เท้าในบ่อน้ำพุร้อนอย่างไม่พูดพร่ำฮัมเพลง สัมผัสแรกทำผมสะดุ้งโหยงแต่เก็บอาการไว้เพราะพี่ๆ ชาวจักรยาน Rit อยู่กันเพียบ หลังจากนั้นไม่นานร่างกายก็ปรับอุณหภูมิจนรู้สึกผ่อนคลายมากๆ ผมแช่อยู่พักใหญ่จนได้เวลาไปกันต่อ ไม่รู้ว่าแร่ธาตุในน้ำ ความร้อน หรืออิทธิฤทธิ์ของบ่อน้ำพุร้อน ที่ทำให้พอกลับมาย่ำบันไดจักรยานอีกครั้ง บอกได้เลยว่า “ชิลๆ”

            พวกเราพักกันที่ตัวเมืองตากหนึ่งคืน เพราะวันรุ่งขึ้นหลังจากปั่นจักรยานเสร็จอีก 70 กิโลเมตร เราจะไปเวิ้งว้างกลางผืนน้ำกันให้สาสมกับที่ต้องกรำแดดมาหลายวันในเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย นามว่า เขื่อนภูมิพล

            เขื่อนนี้ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2500

            เมื่ออยู่บนสันเขื่อนแล้วมองลงไปจะเห็นผืนน้ำกว้างใหญ่ นั้นคือลำน้ำปิงที่เขื่อนภูมิพลถูกสร้างปิดกั้นอยู่ บริเวณอ่างเก็บน้ำรองรับน้ำได้มากสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นเขื่อนโค้งที่สูงเป็นอันดับ 27 ของโลกเลยทีเดียว

            แต่ไฮไลท์ไม่ได้อยู่บนสันเขื่อน เพราะนอกจากมาปั่นจักรยานแล้วทริปนี้เรายังมาล่องแพแบบข้ามคืนกันด้วย ตั้งแต่แพออกจากท่าที่สันเขื่อนเวลาก็คล้ายเดินช้าลง บางช่วงราวกับหยุดนิ่ง ถ้าตลอดระยะทางบนถนนคือการเดินทาง นี่คงเป็นการพักผ่อนให้ร่างกายกลับมาพร้อมจะเหน็ดเหนื่อยต่อไป

            ผมจำได้ดีว่าคืนนั้นอากาศหนาวแค่ไหน แต่การที่มีพี่ๆ ทุกคนอยู่รอบๆ พูดคุยกัน ยิ้มแย้มให้กัน กลับทำให้รู้สึกอบอุ่นในใจอย่างประหลาด

            เช้าวันใหม่มาอีกครั้ง...พร้อมกับภาพบ้านเรือนแพอย่างในหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา เมื่อหลายปีก่อน หนังเรื่องนี้ทำให้หลายคนโหยหาการได้มาเคว้งคว้างกลางผืนน้ำบนเรือนแพอย่างครูสองกับครูแอน ซึ่งผมเองไม่ต้องโหยหาเพราะได้มาสัมผัสของจริงอยู่ ณ ตอนนี้เลย

ปั่นไปเยี่ยม ‘กิ๊ก’ และซอยยิกขึ้น ‘อินทนนท์’

            แพเทียบท่าที่แก่งก้อ สำหรับวันนี้ระยะทางไม่มากมายเพียงแค่ 30 กิโลเมตร จากแก่งก้อไปอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.สามเงา จ.ตาก ที่นี่ได้ชื่อว่ามีบรรยกาศธรรมชาติและทัศนียภาพสวยงามมาก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายทั้งภูเขา น้ำตก และทุ่งหญ้ากว้าง เหมาะสำหรับคนที่รักความสงบและหลงใหลธรรมชาติ ซึ่งก็คือพวกเรานี่เอง

            แต่อันที่จริงจุดประสงค์ของพวกเราไม่ใช่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ทว่าพวกเราจะมาหา ‘กิ๊ก’

            ก่อนจะร้าวฉานกับคนรัก รีบเฉลยดีกว่าว่าเรามา ทุ่งกิ๊ก ที่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 14 กิโลเมตร ทุ่งกิ๊กเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติกว้างใหญ่อยู่ท่ามกลางป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ อยู่ด้านทิศตะวันออกของอุทยานฯ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำพวก เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ไก่ป่า และนกหลากชนิด ในช่วงฤดูแล้งดอกไม้ป่าหลายชนิดจะพากันบานเต็มทุ่งกิ๊ก คนที่ชื่นชอบดูนกที่นี่คืออีกสรวงสวรรค์เพราะมีนกที่พบเห็นได้ยากที่อื่นแต่ง่ายที่นี่ เช่น นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ นกกระทาทุ่ง ฯลฯ

            แต่ที่ทำเอาผมและเพื่อนร่วมทริปทุกคนหลงรักที่นี่คือทางเข้าไปยังทุ่งกิ๊ก แม้ไม่ใช่ถนนกว้างใหญ่ แต่ทางขนาดรถยนต์ผ่านได้คันเดียวที่คดเคี้ยวไปตามแนวไม้และเนินสลับขึ้น-ลง ก็สวยจนต้องแวะถ่ายรูปอยู่หลายรอบเลยทีเดียวกว่าจะถึง

            แม้แต่ขากลับออกมาจากที่นั่น ก็ยังอดไม่ได้ที่จะจอดถ่ายรูปเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรู้ตัวแล้วว่านี่พวกเรากำลังหลงใหลทุ่งกิ๊กเหมือนคนที่กำลังหน้ามืดตามัวในตัว ‘กิ๊ก’ อยู่แหงๆ

            หลังจากนั้นขบวนผู้ร่วมทริปก็เคลื่อนพลขึ้นเหนือ มีเชียงใหม่เป็นที่หมาย ผ่าน อ.ดอยเต่า เพื่อไปยัง อ.จอมทอง แต่ระหว่างทางต้องแวะที่ บ้านป้าดา สถานที่ผลิตผ้าฝ้ายทอมือ แบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของเชียงใหม่ โดยกลุ่มแม่บ้านได้รับการถ่ายทอดความรู้ กับการสานต่อเจตนารมณ์การผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ

            ผ้าฝ้ายทอมือจอมทอง เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงอย่างมาก เป็นหัตถกรรมที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก ด้วยการทอผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในนามที่รู้จักบ้านไร่ไผ่งาม ของป้าแสงดา บันสิทธิ์

            บ้านไร่ไผ่งาม และ พิพิธภัณฑ์บ้านป้าดา เป็นบ้านไม้สักสีน้ำตาลเข้มตั้งตระหง่านสง่างามและเข้มขรึม สมกับที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกขายให้กับนายดาบมาลัย บันสิทธิ์ สามีของป้าแสงดา ด้วยเพราะลูกชายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รู้จักและสนิทสนมกับนายดาบมาลัยเป็นอย่างดี

            ภายในพิพิธภันฑ์ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่ตั้งหูกทอผ้า ส่วนหนึ่งเป็นหูกเดิมที่ป้าแสงดา บันสิทธิ์เคยใช้ ปัจจุบันใช้เป็นส่วนปฏิบัติงานทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านไร่ไผ่งาม ส่วนอาคารจัดแสดงอุปกรณ์ การทอ ย้อมผ้า เป็นอาคาร 2 หลัง ที่สร้างแยกออกมา ลักษณะเป็นอาคารเปิดโล่งจัดวางอุปกรณ์ปั่นฝ้าย ย้อมผ้า ตัวอย่างบ่อบรรจุพืชที่ใช้ย้อมผ้า เป็นต้น ปัจจุบันยังใช้เป็นที่ย้อมเส้นใยฝ้าย หรือ ปั่นฝ้ายตามลักษณะเดิม

            อาคารส่วนบริการ ตั้งอยู่ด้านข้างใกล้ทางขึ้นอาคารจัดแสดงเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นมุมขายหนังสือ และของที่ระลึกตั้งแผ่นพับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นเพื่อแจกแก่ผู้เข้าชม อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบ้านไร่ไผ่งาม ตั้งอยู่ตอนหลังของพื้นที่เป็นส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายและของที่ระลึกจากบ้านไร่ไผ่งาม

            บางคนที่ชื่นชอบงานหัตถกรรมต่างได้ผ้าติดไม้ติดมือกลับไป ผมเคยได้ยินว่า “ผ้าเลือกเจ้าของ” แสดงว่าผ้าไม่เลือกผม จึงไม่ได้ซื้ออะไรกลับไปนอกจากความประทับใจแล้วปั่นจักรยานต่อไปที่ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เพื่อปักหมุดว่าเราได้มาถึงจุดเริ่มต้นของสเตจสุดท้ายของทริปนี้แล้วก่อนที่จะใช้เรี่ยวแรงที่มีและกล้ามเนื้อที่สั่งสมมาตลอดระยะทางเพื่อพิชิตดอยอินทนนท์ในวันรุ่งขึ้น

            ...

          จากช่องเย็นสู่ดอยอินทนนท์หากนับเป็นระยะทางคือหลายร้อยกิโลเมตร แต่ถ้านับเฉพาะความทรงจำดีๆ คงมีมากกว่าระยะทางแน่นอน แต่สองสามอย่างในนั้นที่นึกถึงทีไรก็อดอมยิ้มไม่ได้ คือ มิตรภาพดีๆ ที่ทุกคนมีให้แก่กัน และตลอดเวลาสิบวันบนอานจักรยานทัวริ่งคันนี้ ผมได้เติมความว่างโหว่ในใจไปเรียบร้อยแล้ว