ซีไอเอ็มบีชูกลยุทธ์ ดึงฟินเทคหนุนเอสเอ็มอี

ซีไอเอ็มบีชูกลยุทธ์ ดึงฟินเทคหนุนเอสเอ็มอี

"ธนาคารซีไอเอ็มบี" เดินหน้ายุทธศาสตร์เคลื่อนทัพเข้าสู่ยุคฟินเทค

โลกกำลังเดินเข้าสู่กระแสฟินเทค ความตื่นตัวเกิดขึ้นทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ความท้าทายกับสถาบันการเงินขนาดขนาดใหญ่เท่านั้น ธนาคารขนาดเล็กก็ต้องหาทางตอบโจทย์ท้าทายในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง

ในขณะที่แบงก์ใหญ่ยังกลัว ๆ กล้า ๆ ธนาคารซีไอเอ็มบี มองตัวเองไว้ว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะเป็น FinTech Bank หรือมีฟินเทคให้บริการเต็มรูปแบบ

นายพิสิทธิ์ สุจริตโศภิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า องค์กรใดที่ประยุกต์ตัวเองให้ตอบรับกับฟินเทคได้เร็วก็จะได้เปรียบ ดังนั้นทางกลุ่มซีไอเอ็มบีจึงมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเคลื่อนทัพเข้าสู่ยุคฟินเทค โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับโครงการสตาร์ทอัพบูทแคมป์ฟินเทค (StartupbootcampFinTech) คัดเลือกบริษัทที่สามารถร่วมงานกับทางกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะให้บริการผ่านธนาคารได้

โดยกลยุทธ์หลักมี 2 ด้าน คือการผลักดันบริษัทนอกให้ค้นหาผลิตภัณฑ์มานำเสนอ และเราคัดสรรเพื่อลงทุน หรือการเอาขบวนการของฟินเทคมาค้นหานวัตกรรมใหม่ของธนาคารเพื่อตอบสนองเป้าหมายธนาคาร ซึ่งดูแล้วแนวทางหลังเหมาะกับธนาคารมากกว่า

ในส่วนของ ซีไอเอ็มบี ไทยนั้นมองว่า เราจะสามารถนำฟินเทคมาใช้ประโยชน์กับความต้องการของประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะนำฟินเทคมารองรับลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีความต้องการเชื่อมต่อธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะสายงานธุรกรรมทางการเงิน (Transaction Banking) และการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ซึ่งธนาคารจะใช้ฟินเทคเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อลูกค้าไปยังตลาดอาเซียนช่วยให้ลูกค้าและฟินเทคก็สามารถขยายบริการได้

"ฟินเทคในไทยเข้ามานานแล้ว ด้านชำระเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม่สนับสนุนบริษัทเกิดใหม่ แต่เราขอเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศน์นี้ด้วยก็เลือกที่จะไปจับมือกับฟินเทคที่มีผลงานมาแล้วระดับหนึ่ง โดยไม่ได้มองว่าฟินเทคเหล่านี้เป็นคู่แข่ง ด้วยความเป็นแบงก์เล็กประสานงานได้เร็ว การมีนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดีและเราสามารถเสริมบริการซึ่งกันและกันกับฟินเทคได้ ซึ่งธนาคารมีความพร้อมและคล่องตัวกว่าธนาคารใหญ่"

เขากล่าวว่า ในขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจา กับผู้ให้บริการ Fintech ในประเทศไทยกว่า 10 รายเน้นเฉพาะรายที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว คาดว่าปลายปีน่าจะเห็นบริการออกมาได้ โดยสร้างOpen Platform ให้ฟินเทคเหล่านี้เข้ามาเชื่อมต่อ โดยจะมีรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนในลักษณะการแบ่งปันผลประโยชน์ (Profit Sharing) และเติบโตไปด้วยกัน มากกว่าการเข้าไปถือหุ้นหรือเข้าไปซื้อบริการของฟินเทคมาใช้ภายในธนาคาร

ฟินเทคที่อยู่ระหว่างเจรจามีความหลากหลายในการให้บริการลูกค้าทั้งบริการทางการเงิน บัตรเครดิต การโอนระหว่างประเทศ การลงบัญชี การจัดส่งเอกสาร หรือตรวจสอบเอกสารระหว่างประเทศ ลดความเสี่ยงทางการค้าให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถเสนอเป็นบริการที่ครบวงจรกับลูกค้าได้

ความร่วมมือกับฟินเทคที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะช่วยดึงลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีอยู่กระจัดกระจายให้เข้ามาถึงบริการมากขึ้นเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้า ขณะที่ฟินเทคที่ให้บริการกับธนาคารก็สามารถใช้เครือข่ายในภูมิภาคของธนาคารซีไอเอ็มบีได้

แน่นอนว่าในเชิงธุรกิจต้องมีการวัดผลงาน เขาเล่าว่า แผนงานที่วางไว้ นอกจากเป้าหมายที่มุ่งสู่การเป็น FinTech Bank แล้ว ในระยะ 3 ปี ข้างหน้า ธนาคารจะมีรายได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 70-80% และช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปัจจุบันที่มี 2.5%เป็น 4%

แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนอีเพย์เม้นท์ ช่วยให้ฟินเทคมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเติบโตได้อีกมาก แต่ด้วยขนาดตลาดไทยที่ยังมีพื้นที่จำกัด ขณะที่ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ฟินเทคอยู่รอด คือการอาศัยขนาดตลาดที่ใหญ่เพียงพอที่จะสร้างความคุ้มค่า

การมีโอกาสก้าวออกไปทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นการขยายฐานความสำเร็จให้กับฟินเทคได้เป็นอย่างดี ขณะที่แบงก์เองก็อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างไม่สูญเสียตลาด เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่เรียกว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย