ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง(อีกครั้ง)

ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง(อีกครั้ง)

เหมือนฉายหนังซ้ำเมื่อ “เต่ามะเฟือง” กำลังถูกคุกคามจากโครงการใหญ่ กลายเป็นชะตากรรมซ้ำซากที่ไม่มีใครอยากเจอ

...เงินทองเทมา ราวตากฝน คนภูเก็ต โรงแรม คอนโด ตึกอาคาร บ้านรีสอร์ท คนมาลงทุน เงินก็หมุนธุรกิจ เพลงบรรเลงแรง ไฟสาดแสง เซ็นเซอราวด์


เกาะสะท้าน หาดสะเทือน เกาะสะท้าน หาดสะเทือน เต่ามะเฟือง ไม่กลับมา ไต่ลงไป ไต่ลงไป เต่ามะเฟืองไม่กลับมา เต่ามะเฟืองไม่กลับมา


ขอหาดไม้ขาว ให้เต่ามะเฟือง ขอฟาดไม้ขาว ให้เต่ามะเฟือง ขอหาดไม้ขาว ให้เต่ามะเฟือง ขอหาดไม้ขาว ให้เต่ามะเฟือง ...


ทันทีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมออกมาประกาศว่าอยากให้จังหวัดภูเก็ตฟื้นโครงการขยายรันเวย์สนามบินลงไปในในทะเลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง บทเพลงแห่งชีวิตอย่าง “ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง” ของศิลปิน “หงา คาราวาน” ก็ดังก้องขึ้นมา


บทเพลงนี้เคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองที่หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต เมื่อราวปี 2535-2536 ซึ่งขณะนั้นเกาะภูเก็ต รวมถึงหาดไม้ขาวกำลังถูกรุมทึ้งจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหนัก


ทว่า แม้จะมีการรณรงค์อย่างสุดพลัง แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งการท่องเที่ยวได้ สังเกตได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจำนวน 8 แสนคนในปี 2535 ขยับมาเป็น 4 ล้านคนในปี 2549 และพุ่งทะยานขึ้นเป็น 13 ล้านคนในปี 2558 และมีทีท่าว่า “เป้า” ที่ต้องการยังมากกว่านั้น
แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ดูเหมือนจะไม่มีใครเห็นพ้องกับโครงการนี้ เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่า ถ้าดำเนินการจริงจะกระทบกับพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเลและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง เสียงของโครงการนี้จึงแผ่วเบาไปในที่สุด


การพยายามปัดฝุ่นโครงการนี้ก็ทำให้มีผู้คนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็น หนึ่งในนั้นคือ ธีรศักดิ์ ศักดิ์ศรีทวี ช่างภาพอิสระชาวภูเก็ตที่บอกว่า นี่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของการท่องเที่ยว และเป็นจุดเดียวในประเทศไทยที่สามารถถ่ายภาพการลงจอดของเครื่องบินได้ใกล้ที่สุด หากมีการสร้างรันเวย์ย่นลงไปในทะเลจริง จะเสียสมดุลทั้งในแง่ของการถ่ายภาพและทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล


“ตรงจุดที่ถ่ายเครื่องบินแลนดิ้งเป็นหาดยาวประมาณครึ่งกิโล ซึ่งหาดไม้ขาวติดกับหาดในยาง ตรงนั้นมีปะการังสมบูรณ์มาก สามารถมองเห็นได้จากบนชายหาดเลย แล้วผมก็เคยได้ยินว่าที่หาดไม้ขาวมีเต่ามาวางไข่ ถ้ามีการก่อสร้างรันเวย์ยื่นออกไปในทะเลจริง ผมนึกไม่ออกเลยว่าเต่าจะทำยังไง ปะการังจะยังมีอยู่มั้ย เพราะการก่อสร้างจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป”


ด้านนักอนุรักษ์อย่าง ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ออกมาประกาศผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า “ทำที่อื่นเถอะ” เพราะหาดไม้ขาว คือหาดธรรมชาติที่เดียวที่เหลืออยู่ของภูเก็ต มีสถานภาพเป็นอุทยานแห่งชาติ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟือง สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทย


นอกจากนี้ยังมีการประเมินจากนักวิชาการด้านทะเลอย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ว่าหากทำรันเวย์ยื่นลงไปในทะเลระยะทาง 1 กิโลเมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของกระแสน้ำทะเลจนเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงเป็นวงกว้างมากกว่า 5-10 กิโลเมตรในจุดใกล้เคียง ขณะที่บริเวณหาดไม้ขาวและหาดในยาง ซึ่งเป็นจุดวางไข่ของเต่ามะเฟืองและแนวปะการัง ก็จะได้รับผลกระทบจากตะกอนในระหว่างก่อสร้างเช่นกัน


“ประเทศไทยมีชายฝั่ง 2,600 กิโลเมตร มีไม่ถึงร้อยละ 10 เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เหตุใดเราต้องหา “ข้ออ้าง” มาพัฒนาพื้นที่เพียงน้อยนิดเหล่านี้”


ชัดเจนขนาดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นโครงการ หรือสิ้นเปลืองงบประมาณเพื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ควรหันมาช่วยกันดูแลพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะเป็น “บ้าน” ให้เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งดีกว่า


“ที่หาดไม้ขาวพบการวางไข่ของเต่ามะเฟืองครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556” คำบอกเล่าของ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์หายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ช่วยยืนยันสถานการณ์ของเต่ามะเฟืองว่าอยู่ในขั้น “วิกฤต” อย่างแท้จริง


หาดไม้ขาว หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า หาดสนามบิน เป็นแนวชายหาดที่ยาวที่สุดของภูเก็ต และเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ซึ่งปัจจุบันลดลงมาก


“สาเหตุหลักๆ มาจากเรื่องของการติดเครื่องมือประมง และในอดีตเรามีการสัมปทานไข่เต่า ทำให้ไข่เต่าจำนวนมหาศาลไม่ถูกฟักเป็นตัว จนตอนหลังมีการให้ผู้สัมปทานเพาะคืน แต่ก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก นั่นคือก่อนปี 2526 จนกระทั่งปี 2535 ก็มีการประกาศให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์คุ้มครอง”


ดร.ก้องเกียรติ บอกว่า โดยปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่ที่เดิม เพราะมีความทรงจำในพื้นที่และจดจำสภาพทางเคมีของน้ำได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากถึงฤดูวางไข่ เต่ามะเฟืองก็จะกลับมายังหาดเดิมทุกครั้ง


“ปกติเต่าไม่ได้วางไข่ทุกปี จะวางไข่แล้วหายไป 1-3 ปีจึงกลับมาวางอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันโดยเฉลี่ยเข้ามาวางไข่ 1.5 รังต่อปี คิดว่ามีแม่เต่ามะเฟืองเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น เราพยายามจะตรวจสอบจากเครื่องมือ แต่เนื่องจากหาดที่เต่าวางไข่มีระยะทางยาวกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้การวิจัยทำได้ยาก ก่อนหน้านี้ก็มีการติดเครื่องมือติดตาม เขาอาจจะกลับมาบ้าง แต่เราไม่พบข้อมูลตรงนั้น”


ไม่เพียงแค่การสัมปทานหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผูกเต่า” เท่านั้น แต่ กิตติพันธ์ ทรัพย์คูณ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลไม้ขาว บอกว่า สิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชากรเต่ามะเฟืองลดลง


“ทุกวันนี้มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม มีสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้เกิดการรบกวน ทั้งถนน การวางระบบสาธารณูปโภค แสงไฟส่องสว่าง เต่ามะเฟืองรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงไม่ขึ้นมาวางไข่ คือลักษณะทางกายภาพของหาดมีผลต่อการเลือกขึ้นมาวางไข่ของเต่า เพราะเต่าเลือกทั้งความชัน ลักษณะของเม็ดทราย องค์ประกอบทางเคมี ชีวภาพ สิ่งแวดล้อม ถ้ามีการก่อสร้างตะกอนดินจากการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของน้ำและทะเล


ธรรมชาติของเต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่ช่วงประมาณเดือน พ.ย.- ก.พ. ถ้าช่วงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสิ่งแวดล้อม มีฝุ่นดินกระจายเกิดเป็นมลพิษในน้ำ มีค่า ph มากไป หรือการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนบางชนิดมากเกินไป เต่าก็จะไม่ขึ้นมาวางไข่”


อย่างที่บอกว่าครั้งสุดท้ายที่พบคือราวปี 2556 เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดไม้ขาว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไข่ทั้งหมดไม่ได้ฟักออกมา อัตราการเกิดของเต่ามะเฟืองจึงเท่ากับ 0


“ปกติเวลาเต่าจะวางไข่เมื่อถึงฤดูวางไข่เต่าตัวเมียจะว่ายมาใกล้ฝั่ง ซึ่งเป็นหาดที่เขาเคยวางไข่ แล้วก็จะมาเจอตัวผู้ เกิดการผสมพันธุ์กัน รอจนไข่พัฒนาเต็มที่ก็จะขึ้นมาวางไข่ ครั้งนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่า แม่เต่าไม่ได้เจอตัวผู้ และอาจไม่ได้ผสมพันธุ์ ไม่มีการฉีดน้ำเชื้อ ไข่เลยไม่มีการพัฒนา”


ความสำคัญของประโยคนี้อยู่ที่ “เต่ามะเฟืองตัวผู้” ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้อยมากในปัจจุบัน ซึ่ง กิตติพันธ์ ว่า โลกร้อนมีผลต่อการระบุเพศของเต่า และด้วยสภาพอากาศทุกวันนี้ทำให้ไข่ฟักเป็นเพศเมียสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เพศผู้ไม่สมดุล


อีกเรื่องที่ผู้จัดการมูลนิธิฯ เห็นว่าทุกคนสามารถช่วยกันได้เลยทันที นั่นคือ การควบคุมปริมาณขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก เพราะปัญหามลภาวะทางทะเลเกิดจากขยะบนบกแทบทั้งสิ้น


“อัตราการตายของสัตว์ทะเลเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีหลายๆ เหตุการณ์ที่เต่าเข้าใจผิด คิดว่าถุงพลาสติกเป็นแมงกะพรุน ซึ่งเป็นอาหารของเขา เมื่อกินเข้าไปก็ไปสะสมอยู่ในลำไส้ เกิดการอุดตันและตายในที่สุด” กิตติพันธ์ สรุป


เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะวิกฤต และรัฐบาลก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมีการยกระดับมาตรฐานการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองให้เป็น “สัตว์สงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในที่สุด