“ประหยัด-ควบคุมได้" วิถีการเดินทางยุคดิจิทัล

“ประหยัด-ควบคุมได้"  วิถีการเดินทางยุคดิจิทัล

การบริหารจัดการการเดินทางยุคดิจิทัลอย่างชาญฉลาด

ในกรุงเทพฯ มีประชากรไทยที่ไม่นับรวมนักธุรกิจชาวต่างชาติ คนต่างด้าว หรือนักท่องเที่ยว อยู่ราว 6 ล้านคน เเต่ละวันมีการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่ในอัตราที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประชุมที่หลากหลาย งานสัมมนาที่ต้องส่งทีมไปร่วม การไปพรีเซ็นต์งานกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การจัดงานอีเว้นท์ หรือร่วมออกบูธโปรโมชั่นต่างๆ กิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนมีการเดินทางเป็นต้นทุนหนึ่งที่สำคัญ แม้การเดินทางเหล่านี้จะมีระบบขนส่งครอบคลุมทั้งรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง

นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรเเละนโยบาย เอเชียแปซิฟิก อูเบอร์ กล่าวว่า ด้วยความฉับไวที่ธุรกิจต้องการในยุคนี้ บริษัทจำนวนมากจึงเริ่มมองหาโซลูชั่นเพื่อนำมาลดต้นทุนเรื่องการเดินทางที่คิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในเเต่ละปีลง

และจะดีกว่าไหมหากวันนี้ธุรกิจสามารถควบคุมการเดินทางแยกเรื่องธุรกิจ และเรื่องส่วนตัวออกจากกันโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานและประหยัดเงินให้เเก่บริษัทฯ ด้วยการบริหารจัดการการเดินทางยุคดิจิทัลอย่างชาญฉลาด

โดยอูเบอร์ชี้ว่า บริษัทยุคใหม่ควรตระหนักเมื่อมองหาเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการเดินทางแบบธุรกิจ คือ การเลือกแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเดินทางที่ใช่ ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้มือถือ ในไทยเองมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 47 ล้านคน คิดเป็น 69% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นหากบริษัท หรือองค์กรธุรกิจ จะพิจารณาเลือกแพลตฟอร์มการเดินทางก็ควรเลือกที่มีแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และมีเทคโนโลยีทันสมัย คอยควบคุมด้านปลอดภัยของพนักงาน เชื่อมั่นด้านบริการ และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และเป็นรูปแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว

อีกสิ่งที่ควรตระหนัก คือ ควรต้องมีฟังก์ชั่นให้เลือกกำหนดนโยบาย ช่วงเวลา และสถานที่ที่ต้องการได้ แน่นอนว่าทุกการเดินทางมีต้นทุน และคุณก็ย่อมต้องการเป็นผู้กำหนดนโยบายการเดินทางในแบบเฉพาะของแต่ล่ะบริษัท เช่น หากคุณต้องส่งทีมงานไปประชุมกับลูกค้า A เป็นประจำทุกวันพุธ เวลาบ่ายสองโมง และมีประชุมกับลูกค้า B ทุกวันพฤหัสฯ ช่วง 10 โมงเช้า ระบบที่ดีควรให้คุณสามารถกำหนดช่วงเวลาการเดินทางธุรกิจได้

ที่สำคัญ ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎการเดินทางของพนักงานจัดการการเดินทางให้ง่ายขึ้น การเพิ่มหรือลบพนักงานออกจากบัญชีและเรียกดูข้อมูลการเดินทางในแต่ล่ะครั้งควรเป็นเรื่องที่ง่ายและมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ซึ่งการเดินทางทั้งหมดควรเรียกเก็บเงินจากวิธีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถคาดการณ์งบประมาณเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อธุรกิจได้อย่างเเม่นยำ เนื่องจากรวมไว้ที่เดียว

“สำคัญสุด แพลตฟอร์มที่ใช้ต้องช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางได้จริง โดยไม่สร้างความกังวลใจให้ทีมงาน”

นางเอมี่ กล่าวว่า แพลตฟอร์มการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับความต้องการทางธุรกิจ ที่เน้นความรวดเร็วและสะดวกสบาย ต้องมีค่าบริการที่ประหยัดรูปแบบการเดินทางในลักษณะที่คล้ายกัน จึงจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบริษัทต้องนำกลับมาพิจารณา

ผู้บริหารอูเบอร์ ยกเคสตัวอย่าง บริการจากอูเบอร์ ช่วยประหยัดเงินได้ 35,000 บาท ($1,000) ต่อพนักงาน 1 คนทุกปี หากเทียบกับการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ที่สำคัญด้วยความสามารถของเทคโนโลยียังอำนวยความสะดวกให้พนักงานกะเวลาที่รถมารับได้เเม่นยำยิ่งขึ้น

นอกจาก ลดต้นทุนเรื่องการเดินทางให้กับบริษัทแล้ว การมีแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเเคชั่นที่อำนวยความสะดวกร่วมเดินทาง ยังได้ช่วยลดความตึงเครียดในกรณีที่ต้องออกไปยืนรอเรียกรถ โดยเฉพาะในวันที่ฝนตกหนักหรือแดดร้อนจัด เพื่อให้พนักงานโฟกัสเฉพาะเเต่เรื่องธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องการเดินทาง การจะใช้วิธีไหนโบกรถดี หรือต้องปวดหัวกับการเจรจาต่อรองไปในเส้นทางที่ติดขัด และโดนปฏิเสธ ที่สำคัญพวกเขาไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ไม่ต้องจ่ายเอง และตามเบิกเงินคืนให้ยุ่งยากหลายขั้นตอน เนื่องจากบริการเรียกรถผ่านแอพพลิชั่น จะเรียกเก็บเงินโดยตรงไปยังบริษัทแบบอัตโนมัติ

“เทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มการเดินทางของอูเบอร์ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ร่วมขับ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง โดยบริษัทสามารถตรวจสอบประวัติภูมิหลัง และผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ร่วมขับอูเบอร์ทุกคน ต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการขับขี่และประวัติอาชญากรรม และทุกการเดินทางของพนักงานยังได้รับการประกันจากประกันรถเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ตอนที่รถมารับจนส่งคุณถึงที่หมาย” นางเอมี่ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากอูเบอร์ ระบุว่า บริษัทที่ใช้การเดินทางแบบบิสิเนสปัจจุบัน ราว 40% เป็น บริษัททางด้านเทคโนโลยี