ปลดล็อก 'การเงิน' ดึงลงทุน

ปลดล็อก 'การเงิน' ดึงลงทุน

“สมคิด”เดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก งัดโมเดล “ผู่ตง” หนุนลงทุน ปลดล็อกเงื่อนไขทางการเงินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ประชุมนัดแรก 4 ก.ค.นี้

รัฐบาลเตรียมผ่อนปรนเงื่อนไขทางการเงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด โดยนำแบบอย่างความสำเร็จจากจีนในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษผู่ตง

ขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันการพัฒนาดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้(28 มิ.ย.)เห็นชอบแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยครอบคลุมพื้นที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม 30,000 ไร่ และพื้นที่มีศักยภาพใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเยี่ยมชมเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินและการขนส่งแห่งอนาคต วานนี้ว่าแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว แผนต่อไปก็คือการมองหาเรื่องใหม่ๆ เข้าไปลงในพื้นที่นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้พิจารณาไว้ว่าจะศึกษาดูข้อกฎหมายทางการเงินของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ว่าจะนำไปปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งรัดแผนโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหลังจากนี้

สำหรับเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ โดยอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษผู่ตง มีพื้นที่28.78ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจและการค้า 4 แห่ง ได้แก่ เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว เขตขนถ่ายสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว เขตท่าเรือน้ำลึกหยางซาน และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนครบวงจรแห่งท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตง

ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในเขตการค้าดังกล่าวกว่า5พันราย ซึ่งจุดเด่นของเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้มีการปลดล็อกเงื่อนไขทางการเงิน โดยเปิดให้บริหารชำระเงินหยวนข้ามพรมแดนผ่านบริษัทชำระเงินบุคคลที่3เป็นตัวกลางเคลื่อนย้ายเงินได้ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกลดขั้นตอนความยุ่งยากในการจดทะเบียนบริษัทให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน4วันจากเดิมต้องดำเนินการ29วัน

นายสมคิด กล่าวว่าขณะนี้พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทางด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอ ครม.แล้ว

“นายกฯอยากให้แผนตรงนี้เสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้เร่งเปิดประมูลได้ โดยในวันจันทร์นี้(4 ก.ค.2559) จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพูดคุยถึงแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้มีภาพชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีแผนชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังไม่เพอร์เฟ็ค เพราะสภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคมยังคิดคนละแบบจึงต้องมาหารือร่วมกัน โดยเป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้เป็นเพียงพื้นที่อุตสาหกรรมแต่อยากให้โยงไปถึงการท่องเที่ยว ทำแผนไว้ให้เป็นโมเดลเป้าหมายในการเดินหน้าพัฒนา”

นำจุดเด่นจีนประยุกต์ใช้เขตศก.พิเศษ

นายสมคิด กล่าวอีกว่าการเดินทางมาจีนครั้งนี้เพื่อหาข้อมูลของการบริหารเขตการค้าว่ามีความโดดเด่นอย่างไร พร้อมทั้งได้ให้ทางฝ่ายจีนไปจัดเตรียมข้อมูล3ด้านมาหารือร่วมกับคณะทำงานของไทย ประกอบไปด้วย1.ประเด็นในเรื่องกฎระเบียบของพื้นที่การค้าเสรี2.ประเด็นเรื่องเงื่อนไขทางการเงินที่มอบให้นักลงทุน และ3.ประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางนักลงทุนจะได้รับมีการจัดทำอย่างไร โดยมอบให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายคณิศ แสงสุพรรณ และคณะทำงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นตัวแทนฝ่ายไทยหารือ

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากการเยี่ยมชมเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้และศึกษาข้อมูล ก็คาดว่าไทยจะนำประเด็นในเรื่องของเงื่อนไขทางการเงินที่มอบให้นักลงทุนมาปรับใช้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีสเทิร์น อีโคนามิก คอริดอร์) รวมไปถึงจะพิจารณาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ และการจัดการภายในของเขตเสรีการค้าด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... คาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ภายใน 2–3 สัปดาห์หลังจากนี้ หรือภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยจะเสนอพร้อมกับปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายกองทุนพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันด้วย

สั่ง“สมคิด”ทำแผนให้เสร็จใน 3 เดือน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่านายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิด ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำรายละเอียดทั้งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศทั้งระบบ

ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเชื่อมโยงกับในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การวางผังเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

นายปรเมธี กล่าวว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ทางภาครัฐจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์ ถนนมอเตอร์เวย์พัทยา – มาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดเป็นท่าเรือสำหรับรับเรือท่องเที่ยว วงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และคาดว่าภาคเอกชนจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

คาดเกิดการลงทุนมากกว่าอิสเทิร์นซีบอร์ด

“มากกว่าการลงทุนในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในปี 2524 ที่ผ่านมาซึ่งรัฐเคยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท”

นายปรเมธีกล่าวว่าโครงการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อให้มีการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยโครงการที่สำคัญคือการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภาเพื่อพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 มีเป้าหมายในการรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมเป็น 3 ล้านคนใน 5 ปี โดยการพัฒนาจะใช้หลักการการใช้สนามบินร่วมพลเรือนและทหาร (Joint Use Civil Military Airport) ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ การสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม รวมทั้งการเตรียมพื้นที่การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

สำหรับโครงการการขยายท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบังแห่งที่ 3 จะทำให้รองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นได้อีก 8 ล้านทีอียูต่อปีจากที่ปัจจุบันรองรับตู้สินค้าได้ 11.1 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีเป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับสินค้าประเภทเชื้อเพลิงเหลวและก๊าซธรรมชาติ

“การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่รัฐบาลมีการส่งเสริมถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต"