เว้นภาษีโอนอสังหาฯให้ลูกเกินกว่า 1 คน

เว้นภาษีโอนอสังหาฯให้ลูกเกินกว่า 1 คน

"สรรพากร" ระบุกฎหมายภาษีรับให้ฉบับแก้ไข ผ่านครม.-กฤษฎีกาแล้ว เผยร่างแก้ไขกำหนดเว้นภาษี “พ่อหรือแม่” ที่ยกอสังหาฯ-เงินสด ให้ลูกได้ทุกคน

กรมสรรพากรได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายภาษีการรับให้ (Gift Tax) ฉบับใหม่ โดยร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และเตรียมรอเสนอให้สภานิติบัญญัติ เพื่ออนุมัติต่อไป ซึ่งร่างแก้ไขกฎหมายนี้ กำหนดข้อยกเว้นการเสียภาษีที่ผ่อนคลายมากขึ้น

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กฎหมายภาษีนี้ก่อนแก้ไข กำหนดให้เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาฯ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทในตลอดปีภาษีนั้น

“ตามกฎหมายเดิม พ่อหรือแม่ที่ให้อสังหาฯแก่ลูก ที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากมีลูกหลายคน เช่น มีลูก 3 คนต้องการให้อสังหาฯที่มีมูลค่า 20 ล้านบาท แก่ลูกทุกคน ตามกฎหมายที่แก้ไข คือ ผู้ให้พ่อหรือแม่ จะได้รับการยกเว้นภาษี เฉพาะให้แก่ลูก 1 คนเท่านั้น ส่วนอีกสองคนที่ได้คนละ 20 ล้านบาท รวม 40 ล้านบาท ผู้ให้ต้องเสียภาษีจากมูลค่าของอสังหาฯโอนให้ลูก”

สำหรับการแก้ไขกฎหมายการรับให้ใหม่ครั้งนี้ พ่อหรือแม่ สามารถให้ลูกโดยได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อคน หมายความว่า สามารถให้ลูก โดยได้รับการยกเว้นภาษีตามมูลค่าดังกล่าวแก่ลูกได้หลายคน แต่หากสินทรัพย์ที่ให้มีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนด พ่อหรือแม่ต้องเสียภาษี 5% ของมูลค่าของอสังหาฯส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท

ภาษีการรับให้เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิต ให้แก่ผู้อื่นก่อนเสียชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก ซึ่งภาษีการรับให้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สังหาริมทรัพย์ กับ อสังหาริมทรัพย์