สนข.รับระบบตั๋วร่วมเหลวไม่ทันปีนี้

สนข.รับระบบตั๋วร่วมเหลวไม่ทันปีนี้

สนข.รับเปิดตัวระบบตั๋วร่วมเชื่อมรถไฟฟ้า 4 สายไม่ทันปีนี้ เหตุแต่ละส่วนงานยังหาข้อยุติของการควบรวมระบบไม่ลงตัว

นายเผด็จ ประดิษฐเพชร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม โดยระบุว่า ปัจจุบันการปรับระบบการให้บริการและซอร์ฟแวร์ของรถไฟฟ้าแต่ละรายที่จะนำมาเข้าร่วมระบบบริหารจัดการรายได้กลาง ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ ยังดำเนินการไม่ได้ข้อยุติ ส่งผลให้การวางระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (เซ็นเตอร์เคลียริ่งเฮ้าส์) จึงยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และคาดว่าภายในปีนี้ สนข.อาจจะไม่สามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม ภายใต้ชื่อบัตรแมงมุม

"ตอนนี้รถไฟฟ้าทั้ง 4 สายที่เปิดให้บริการยังจัดการระบบให้สอดรับกับเซ็นเตอร์เคลียริ่งเฮ้าส์ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากรูปแบบการให้บริการ การคิด และจัดเก็บค่าโดยสาร การบริหารจัดการรายได้ของแต่ละราย มีความแตกต่างหลากหลายมาก ทำให้ต้องใช้เวลามากในการหาข้อสรุป และไม่สามารถคาดเดาว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด และหากได้ข้อยุติแล้ว ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ก็จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งระบบอ่านบัตรหรือรีดเดอร์อย่างต่ำอีกประมาณ 6 - 7 เดือนจึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ ดังนั้นจึงคาดว่าจะไม่สามารถเปิดใช้งานทันในปีนี้ตามเป้าหมายแน่นอน"

นายเผด็จ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบบริหารจัดการรายได้กลางของระบบตั๋วร่วมเสร็จแล้ว แต่การหารือเพื่อปรับระบบของรถไฟฟ้าทั้ง 4 สายให้เชื่อมกับระบบยังไม่เสร็จ เพราะมีความซับซ้อนมาก คาดว่าสิ้นปีนี้คงเปิดตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 4 สายไม่ทัน แต่อาจจะใช้กับระบบอื่นๆ ทันหากหน่วยงานนั้นมีความพร้อม เช่น ระบบทางด่วน มอเตอร์เวย์ หรือขนส่งสาธารณะ เพราะเป็นหน่วยงานใหม่ที่ยังไม่มีระบบของตัวเอง หากจะให้บริการตั๋วร่วมก็นำระบบของ สนข.ไปติดตั้ง และใช้งานได้เลย จึงไม่ต้องเสียเวลาไปปรับจูนระบบเก่าให้เข้ากับระบบกลาง

อย่างไรก็ดี ภายใน มิ.ย.นี้ สนข.จะนัดหารือกับตัวแทนของหน่วยงานภาคขนส่ง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหากอนาคตสนใจเข้ามาร่วมให้บริการผ่านระบบตั๋วร่วมด้วย อาทิเช่น ธนาคารพาณิชย์ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น หรือแฟมิลี่มาร์ท เอเย่นต์ให้บริการเติมเงินในบัตร ค่ายมือถือ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น โดย สนข.จะทำความเข้าใจ และชี้แจงให้ทราบถึงระบบบริหารจัดการรายได้กลางของตั๋วร่วมว่าเป็นอย่างไร หากต้องการเข้าร่วมจะต้องปรับปรุงระบบอย่างไรบ้าง เบื้องต้นมีหลายหน่วยงานแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการตั๋วร่วม เบื้องต้นจะดำเนินการจัดตั้งให้เป็นบริษัทจำกัด โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน มิ.ย.นี้ และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยจะกำหนดให้รัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งภายหลัง ครม.อนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนพีพีพีประมาณ 8 - 12 เดือน โดยในระหว่างนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องของการเปิดให้บริการ เพราะภาครัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการไปก่อนจนกว่าการจัดตั้งบริษัทจะแล้วเสร็จ

"อนาคตตั๋วร่วมจะเป็นบัตรใบเดียวที่ทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวก จากการเชื่อมต่อเดินทาง รวมทั้งยังจะใช้จ่ายสินค้า และบริการอื่นๆ ได้ ทำให้ปัจจุบันหลายหน่วยงานสนใจเข้ามานำระบบตั๋วร่วมไปใช้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในบริการมากขึ้น ช่วงแรกที่พบว่ามาความพร้อมมากที่สุดก็จะเป็นหน่วยงานที่ยังไม่เคยมีระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาก่อนก็จะสามารถปรับใช้ได้เลยเพราะตัวระบบเซ็นเตอร์เคลียริ่งเฮ้าส์เสร็จแล้ว ส่วนเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารระบบนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเป็นหน่วยงานใด แต่เบื้องต้น สนข.ได้นำเสนอไปหลายหน่วยงานเช่น รัฐวิสาหกิจในภายในสังกัดกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม และสถาบันการเงินของรัฐบาล"