"นาถ" แนะธุรกิจพลิกกลยุทธ์ลุย“บิ๊กดาต้า”

"นาถ" แนะธุรกิจพลิกกลยุทธ์ลุย“บิ๊กดาต้า”

อาวุธสำคัญเสริมแกร่งธุรกิจยุคดิจิทัล

“นาถ” ผู้บริหารไอทีรุ่นเก๋า แนะธุรกิจเร่งปรับกลยุทธ์สู้ศึกรอบด้าน ลุย “บิ๊กดาต้า” จริงจัง ชี้เป็นข้อมูลถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตพฤติกรรมของมนุษย์ได้ละเอียดหลายมิติจาก “ลูกค้า” โดยตรง ระบุเป็นอาวุธสำคัญเสริมแกร่งธุรกิจยุคดิจิทัล แนะใช้ข้อมูลวิเคราะห์ ประมวลผลอย่างมีสิทธิภาพ


นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล ยกคำกล่าวของปราชญ์ซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงคราม ที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ที่ยังคงสามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกยุคสมัย รวมถึงสมัยที่สนามรบทางการทหารได้เปลี่ยนเป็นสนามรบทางธุรกิจไปเสียแล้วเช่นปัจจุบัน

บอสใหญ่จีเอเบิล บอกว่า ถ้าพูดถึงการ“รู้เขา รู้เรา” รู้เราย่อมเป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้ง่ายกว่า รู้ว่าองค์กรมีทรัพยากรอะไรบ้าง รู้ว่าองค์กรมีจุดแข็งอะไร หรือมีจุดอ่อนอะไร ในขณะเดียวกัน รู้เขา ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ซับซ้อนที่ทุกองค์กรจะต้องระบุให้แน่ชัดว่า “เขา” ที่ว่านั้นได้แก่ใครบ้าง และดำเนินการศึกษาเขาเหล่านั้นเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ

"ทว่า “เขา”ในยุคดิจิทัลเป็นอะไรที่มากกว่านั้น เพราะพวกเขาสามารถสร้างข้อมูลใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกได้ด้วยตัวเองเสมอและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ในทุกที่ทุกเวลา ผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยกตัวอย่างเช่น การตั้งสเตตัสเฟซบุ๊ค เพื่อชื่นชมบริการของร้านอาหารแห่งหนึ่ง การโพสต์ทวิตเตอร์บ่นสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับโฆษณา ตำแหน่งจีพีเอสจากการเช็คอินร้านกาแฟ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนข้อมูลที่ถูกโพสต์ในรูปแบบวีดีโอ หรือ รูปภาพ รวมไปถึงการกดไลค์ ฯลฯ ข้อมูลอันยุ่งเหยิงบนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ มีชื่อเรียกที่คุ้นชินว่า“บิ๊ก ดาต้า (Big Data)” ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างละเอียดและหลายมิติที่มีผลเชื่อมโยงถึงกันไปหมด และแน่นอนว่า มันย่อมมีผลกระทบต่อองค์กรเราด้วยเช่นกัน หากพวกเขาที่สร้างข้อมูลเหล่านี้คือลูกค้าของคุณ"

บิ๊กดาต้า “อาวุธสำคัญ”
นายนาถ บอกว่า ในสนามรบทางธุรกิจ “บิ๊ก ดาต้า” นี้เองที่เปรียบเสมือนอาวุธชิ้นสำคัญ ที่ทำให้องค์กรธุรกิจฝ่าฟันทุกโจทย์ไปได้อย่างสวยงาม หากมีการดึงเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้า มาประมวลผลและวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ทาร์เก็ต (Target) ห้างค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นำข้อมูลประวัติการซื้อสินค้าของลูกค้า รายได้ เพศ อายุ และสถานะ การสมรส มาใช้ทำนายรูปแบบการซื้อสินค้า เพื่อที่จะนำเสนอโปรโมชั่นที่ถูกใจลูกค้ามากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับห้าง หรือยูพีเอสบริษัทขนส่งสินค้า และไปรษณีย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และมีสาขาอยู่ทั่วโลก ได้นำข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการจราจร ข้อมูลที่ได้จากการขับขี่เพื่อจัดส่งของมาวิเคราะห์เส้นทางการจัดส่ง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถจัดส่งของได้เร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันไปถึง 1.3 ล้านแกลลอน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ 14,000 ตัน

รวมถึงธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยก็เริ่มประกาศใช้เทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมดิจิทัล แบงกิ้งที่สามารถให้บริการทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด หรือแม้แต่เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมก็เริ่มมีการปรับตัวโดยนำข้อมูลที่ได้จากจากซื้อขายหรือจากสังคมออนไลน์มาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าชาวไทยให้เข้าไปซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แทนการไปซื้อด้วยตนเอง ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกในการซื้อสินค้า

"นี่คือตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากบิ๊ก ดาต้าที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อองค์กรธุรกิจ เรามาดูความเคลื่อนไหวเรื่องบิ๊ก ดาต้าของประเทศในอาเซียนว่ามีความตื่นตัวกันมากน้อยเพียงใด ประเทศสิงคโปร์ประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางการทำ Big Data Analytics ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013โดยมีการจัดตั้ง Big Data Innovation Center ส่วนประเทศมาเลเซียก็ได้ประกาศนโยบาย Big Data Analytics (BDA)ในปลายปี ค.ศ. 2014 ล่าสุดในประเทศไทยเมื่อกันยายนปีที่แล้ว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีจีเอ ประกาศแผนทำบิ๊ก ดาต้าภาครัฐไทย โดยจะเปิดให้บริการกับทุกหน่วยงานราชการในรูปแบบของ Government Big Data as a Service ซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่จะมาพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น นโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยว นำข้อมูล อาทิ สถิติการใช้จ่าย การเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาใช้ในการวางแผนธุรกิจและตอบสนองตลาดได้ตรงความต้องการมากที่สุด"

แก้ปัญหาสังคมได้
ซีอีโอ ซีดีจี บอกว่า บิ๊กดาต้าไม่ใช่เป็นแค่โซลูชั่นสำหรับแก้ปัญหาธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงเป็นโซลูชั่นสำหรับแก้ปัญหาสังคมได้ เช่น เทเลนอร์รีเสิร์ช ได้ร่วมมือกับ Harvard T.H. Chan School of Public Health, Oxford University, the U.S. Center for Disease Controlและthe University of Peshawarนำเสนองานวิจัยการนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้จากลูกค้าของเทเลนอร์ปากีสถานกว่า30ล้านราย มาใช้วิเคราะห์ในการเตรียมรับมือ และติดตามการระบาดของโรคไข้เลือดออก มาคาดการณ์การกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์และระยะเวลาการระบาดของโรคได้อย่างถูกต้อง ทำให้วางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกาที่นำเอาข้อมูลการจราจรจากแอพพลิเคชั่น Waze และแหล่งอื่นมาใช้แก้ปัญหาการจราจรในเมือง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่เกิดจากการนำอภิมหาข้อมูลหรือบิ๊กดาต้ามาใช้นั้นมากมายเหนือจินตนาการซึ่งในการจัดการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist ที่เชี่ยวชาญสูง ถ้ามองในมุมขององค์กรธุรกิจ มั่นใจได้ 100% ว่าอาวุธชิ้นนี้จะทำให้ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างทันท่วงที

"แต่ถ้ามองในมุมของรัฐบาลหรือผู้ที่มีกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ บิ๊ก ดาต้าจะ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือคนกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่มันคือเรื่องของทุกคน ที่จะต้องช่วยกันแบ่งปันข้อมูลเพื่อตามหาช่องทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หรือการบริการของรัฐบาลที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้ทัดเทียมประเทศแถวหน้าของโลกวันดีคืนดี ประเทศไทยอาจจะเป็นผู้ชนะสิบทิศขึ้นมาจริงๆ จากบิ๊ก ดาต้าขึ้นมาก็ได้ ใครจะรู้" นายนาถ กล่าว