หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สิน

หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สิน

ขอนำประเด็นปัญหาการนำรายเพื่อการลงทุนที่สามารถถือเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จ่ายไปภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 มาปุจฉา-วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เรียนสอบถามอาจารย์ สาระสำคัญของทรัพย์สินดังประกาศคือ ต้องเกิดจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงที่กระทำตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558-31 ธ.ค. 2559 เท่านั้นหรือไม่

1. กรณีบริษัทฯ เปิดใบสั่งซื้อโต๊ะ วันที่ 1 พ.ย. 2558 แต่ได้โต๊ะในวันที่ 5 พ.ย. 2558 สามารถได้สิทธิประโยชน์ของประกาศฉบับนี้หรือไม่

2. บริษัทมีเครื่องจักรระหว่างติดตั้ง โดยทำสัญญาซื้อเครื่องจักร วันที่ 1 พ.ย. 2558 มีระยะเวลาติดตั้งและ test run ระบบ 90 วัน วันที่ 1 ก.พ. 2559 บริษัทเริ่มใช้งานเครื่องจักร จึงมีการโอนปิดงานระหว่างติดตั้งเข้าเป็นทรัพย์สินเพื่อคิดคำนวณค่าเสื่อมราคา บริษัทจะได้สิทธิประโยชน์ประกาศฉบับนี้หรือไม่

3. บริษัทประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ 1 เครื่อง โดยประกอบไปด้วย เครื่องมือ และอะไหล่ เป็นส่วนประกอบ โดยเครื่องมือบริษัทสั่งซื้อจากsupplier ในวันที่ 1 มี.ค. 2559 และเบิกอะไหล่ spare part ใน stock ของบริษัทเพื่อมาประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว รายการอะไหล่ spare part เป็น stock เก่าของบริษัทฯ บริษัทฯจะได้สิทธิประโยชน์ประกาศฉบับนี้หรือไม่

มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการเริ่มใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างไร

วิสัชนา สาระสำคัญของทรัพย์สินตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว คือ ต้องมีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นระหว่าง 3 พ.ย. 2558-31 ธ.ค. 2559 เท่านั้น ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)

1. สำหรับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี

2. สำหรับอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่มีการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามคำขอนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว

3. การจ่ายเงิน และ

4. การเริ่มต้นคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

ดังนั้น กรณีตามคำถามข้อ 1 และข้อ 2 บริษัทไม่สามารถได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าว เพราะบริษัทได้ทำสัญญาซื้อเครื่องจักรก่อนวันที่ 3 พ.ย. 2558 สำหรับรายการอะไหล่ spare parts เป็น stock เก่าของบริษัทย่อมไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าว เพราะบริษัทได้ spare parts มาก่อนวันที่ 3 พ.ย. 2558

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ