เล็งเสนอรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าครม.ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้

เล็งเสนอรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าครม.ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้

"ผู้ว่าฯรฟม." คาดเสนอรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เข้าที่ประชุม ครม. ช่วงก.ค.-ส.ค.นี้ พร้อมเปิดประมูลไตรมาส 4/59

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23 กม. มูลค่างานกว่า 9 หมื่นล้านบาท จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงคมนาคมแล้ว หากครม.เห็นชอบจะนำเสนอร่างประกาศเชิญชวนประกวดราคา (TOR) ต่อคณะกรรมการ รฟม. ในเดือน ส.ค-ก.ย. จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 4/59

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี จะเปิดประมูลงานโยธา มูลค่างาน 7.6 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 9.2 หมื่นล้านบาท ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ และจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.นี้

"การเปิดประมูลรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายได้เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดความมั่นใจ ไม่ใช่แค่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ยังมีซัพพลายเออร์ วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจปลายน้ำด้วย" นายพีระยุทธ กล่าว

นอกจากนี้ ได้นำเสนอรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค- พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม.ให้กระทรวงคมนาคมไปพร้อมกัน

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูนนั้น ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.ได้ศึกษาไว้แล้ว โดยมี 2 ทางเลือก คือ ให้ผู้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะจะได้ไม่มีปัญหาการเดินรถ และความปลอดภัยภายในสถานี และที่สำคัญหากให้รายเดิมบริหารจะช่วยลดต้นทุนเกี่ยวกับค่าบริหารจัดการกว่า 9 พันล้านบาท ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือเปิดให้รายอื่นเข้ามาบริหาร

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จะเจรจากับ BEM ให้มาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะเคยเกิดปัญหากรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ผู้เช่ารายอื่นเข้ามาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้วเกิดปัญหาการกีดขวางการจรจาจรภายในสถานีจนเข้าออกไม่สะดวก

ทั้งนี้จะนำผลศึกษาดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการพัฒนาธุรกิจพิจารณาก่อน และนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม.พิจารณาเห็นชอบในเดือน ก.ค.นี้ หากผ่านความเห็นชอบก็จัดตั้งคณะกรรมการเจรจาตรงกับ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีม่วง หลังจากได้ข้อตกลงการเจรจาจะนำเข้าคณะกรรมการมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนกับเอกชน เพราะเป็นสัญญาเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาว่าจ้างเดินรถ และหากมีสาระสำคัญก็จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และเสนอต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติต่อไป

ผู้ว่าการ รฟม.คาดว่า กระบวนการต่างๆ จะเสร็จสิ้นภายในปี 59 โดยเอกชนจะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ รฟม. ส่วนอายุสัญญาต้องพิจารณาจากวงเงินลงทุน แต่จะไม่ทำสัญญายาวถึง 30 ปี ส่วนอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ รฟม.จะเป็นผู้ดูแลเอง