ไทยชวดได้ชดเชย GT 200

ไทยชวดได้ชดเชย GT 200

ไทยชวดได้ชดเชย "GT 200" หลังไร้ชื่อ "ไทย" ในรายชื่อประเทศได้รับการชดเชย แม้จะจัดซื้อมากกว่าร้อยเครื่อง

ถ้าพูดถึงมหกรรมลวงโลกแล้ว GT200 ก็น่าจะเป็นกรณีหนึ่งที่เรียกได้ว่า “ลวงโลก”ได้อย่างแท้จริง เเละความน่าเศร้าอยู่ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยหลายหน่วยงาน ตกเป็นเหยื่อของการค้าขายที่เลวร้าย และล่าสุดศาลอังกฤษได้สั่งยึดทรัพย์เจ้าของบริษัทผู้ผลิต พร้อมกับสั่งให้ชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประเทศต่างๆ ยกเว้นประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่า เพิ่งจะเริ่มต้น

ศาลอังกฤษได้มีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ Mr.Jim McCormick ผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม GT200 เป็นจำนวนเงิน 7.9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 400 ล้านบาท และนำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือที่ไม่สามารถใช้งานได้จากบริษัทนี้ โดยก่อนหน้านี้ศาลได้พิพากษาจำคุก Mr.Jim McCormick ไปแล้วเป็นเวลา 10 ปี

แต่น่าสนใจว่า ประเทศที่ได้รับการชดเชยนั้นมีนับสิบประเทศรวมทั้งอิรัก แต่กลับไม่มีชื่อประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยถือเป็นลูกค้าชั้นเยี่ยม เพราะจัดซื้อมากกว่าร้อยเครื่อง

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเกาะติดและพิสูจน์การใช้งาน GT200 นี้มาตั้งแต่ต้น บอกกับรายการ Prime time เนชั่นทีวีว่า ประเทศอิรักได้ไปแจ้งความว่า เครื่อง ATE651 ใช้งานไม่ได้ก่อนที่จะขยายไปถึง GT200 ซึ่่่งถือว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งการที่อิรักได้ค่าดเชยนั้น เพราะได้ยื่นฟ้องและเรียกร้องค่าเสียหาย แต่สำหรับไทยนั้นไม่ใช่

“แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยยื่นเรื่องนี้ว่าเป็นประเทศที่เสียหาย และขณะที่มีการต่อสู้คดีกันทางฝั่งที่ถูกฟ้องก็มีการกล่าวอ้างถึงประเทศผู้ใช้ โดยรวมทั้งไทยด้วยโดยเเจ้งว่า มีความพึงพอใจเครื่องมือGT 200 จึงอธิบายยากว่าไทยเสียหายกับเรื่องนี้”ดร.เจษฎากล่าว

หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยจัดหาเครื่องตรวจจับวัตุระเบิดชนิดนี้ต่อเนื่องกันมาหลายปี ซึ่งมีทั้งชื่อ GT200 และ Alpha 6 โดยมีราคาแตกต่างกันไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่า กองทัพได้จัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้ไว้จำนวนมากที่สุด

การตรวจสอบ GT200 มีขึ้นอย่างจริงจัง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยทดสอบตรวจหาวัตถุระเบิด 20 ครั้ง ตรวจเจอ 4 ครั้ง ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับการ “เดาสุ่ม” จึงทำให้มีการสั่งยุติการใช้เครื่องมือชนิดนี้ พร้อมกับการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้ง ปปช.เข้ามาตรวจสอบ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น แถลงยืนยันว่า พร้อมยอมรับผลการตรวจสอบ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า GT200 มีประสิทธิภาพในการตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง เพราะในขณะนั้น GT200 จำนวนมากเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อปกป้องชีวิตทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมทั้ง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติเวชวิทยา ซึ่งมี GT200 อยู่ 4 เครื่อง ก็แสดงความมั่นใจด้วยเช่นกันว่า GT200 มีประสิทธิภาพในการตรวจหาระเบิดได้จริง

แต่ผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเงียบหายไป หลายหน่วยงานที่แสดงท่าทีขึงขังว่า จะชำแหละที่มาที่ไปของโครงการจัดซื้อให้เหมือนการผ่าเครื่อง GT200 จนได้รู้ว่า ภายในไม่ได้มีกลไกอะไรที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า จะตรวจหาระเบิดได้จริง ก็ไม่มีความคืบหน้ามาจนถึงวันนี้

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่า ขอพูดตามหลักการว่า การจัดซื้อจัดหาไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการจัดซื้อจัดหา

“แต่หากมีคอรัปชั่น การทุจริต ต้องดูว่าอยู่ตรงไหน ลงรายละเอียด ซึ่งทุกอย่างต้องทำให้ครบตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการตรวจรับอีก ก็ต้องไปดู” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชนที่ขาย GT200 ว่า “ขณะนี้ยังไม่ทราบ แต่ถ้าร้องได้ก็ร้อง”

นายพิศิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส ผู้ว่าฯสตง.กล่าวว่า สตง.ตรวจสอบมาหลายปี พบพฤติการณ์ทุจริตของตัวเเทนจำหน่ายเครื่องGT200ในไทย โดยร่วมกับผู้ผลิตจากต่างประเทศเพราะว่าคุณสมบัติของเครื่องGT200ไม่ตรงความเป็นจริง ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายในไทยสร้างสถานการณ์การทดสอบเครื่องGT200เพื่อหลอกลวงประสิทธิภาพของเครื่องนี้ต่อหลายหน่วยราชการให้สั่งซื้อ เเต่เมื่อมีบางฝ่ายพิสูจน์การทำงานของเครื่องGT200เเล้วพบว่าใช้ไม่ได้จริง เเสดงว่าตัวเเทนจำหน่ายในไทยเเละผู้ผลิตร่วมกันฉ้อโกงหลายหน่วยราชการของไทยให้หลงเชื่อเเละสั่งซื้อ

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง.ตรวจสอบบัญชีการสั่งซื้อของคู่สัญญาคือส่วนราชการและตัวแทนจำหน่ายในไทย และพบว่ามีการร่วมกันหลอกให้ส่วนราชการหลงเชื่อ จึงสั่งซื้อ สตง.จึงเสนอให้หน่วยราชการแจ้งความดำเนินคดีต่อดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะสตง.พบว่ามีการใช้งบประมาณ วงเงินราว800ล้านบาทสั่งซื้อ ตอนนี้สตง.กำลังหาช่องทางว่าจะมีวิธีใดจะฟ้องเรียกค่าความเสียหายจากตัวเเทนจำหน่ายในไทยเเละผู้ผลิตกลับคืนมา โดยจะส่งเรื่องนี้ให้ศอตช.เเละปปง.ตรวจสอบฟ้องร้องอายัดทรัพย์ตัวเเทนจำหน่ายในไทยเเละผู้ผลิตด้วย เพราะพฤติกรรมนี้ชี้ว่าจงใจหลอกลวงและฉ้อโกงหลายส่วนราชการ

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ความผิดเรื่องนี้เท่าที่สตง.ตรวจสอบนั้นพบว่า เอกชนคือผู้ผลิตเเละตัวเเทนจำหน่ายในไทยมีความผิดเพราะร่วมกันหลอกลวงส่วนราชการให้หลงเชื่อและสั่งซื้อ โดยส่วนราชการนั้นหลายหน่วยหลงเชื่อกับการสาธิตประสิทธิภาพของเครื่องนี้ บางหน่วยสั่งซื้อราคาเเพงกว่าหน่วยงานอื่นเพราะโดนหลอกลวงในฟังก์ชั่นของเครื่องGT200 เช่น ตรวจสารเสพติด เเต่หากจะตรวจสารระเบิดตัองซื้ออุปกรณ์เสริมเข้ามาเพิ่ม เป็นต้น และยังทราบว่ามีเงินส่วนต่างของค้าเครื่องจีที200ที่มีจำนวนมากเพราะต้นทุนการผลิตเครื่องGT 200นั้นไม่แพง แต่เมื่อเสนอขายกับสวนราชการกลับเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า