ยอดจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 8 เดือน เกินเป้า 5.1%

ยอดจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 8 เดือน เกินเป้า 5.1%

"อธิบดีกรมสรรพสามิต" เผยยอดจัดเก็บรายได้ 8 เดือนเกินเป้าหมาย 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 5.10% คาดตลอดทั้งปียอดจัดเก็บเกินเป้า 2.-2.5 หมื่นล้านบาท

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 8 เดือน (ตุลาคม 2558 – พฤษภาคม 2559)ว่า กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้รวมประมาณ 3.5 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือ18.41% และสูงกว่าประมาณการ 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 5.10%

สำหรับรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 1.14 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 45.45% 2.ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 6.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 21.15% 3.ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 6.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน10.59% 4.ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 4.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 0.76% และ 5.ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 4.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 0.34%

ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในพฤษภาคม 2559 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้รวม 4.3 หมื่น ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1 หมื่นล้านบาท หรือ 34.17% และสูงกว่าประมาณการ 3.4 พันล้านบาท หรือ 8.57% โดยรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท 2.ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 7.8 พันล้านบาท 3.ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 6 พันล้านบาท 4.ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 4.8 พันล้านบาท และ 5.ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 5.6 พันล้านบาท

เขาประเมินว่า ยอดการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตตลอดปีงบประมาณ 2559 จะเป็นไปตามเป้าหมาย และ คาดว่า จะเกินกว่าเป้าหมายประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ยอดการจัดเก็บในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณสูงกว่าประมาณการแล้วในจำนวนดังกล่าว โดยผลจัดเก็บรายได้สรรพสามิตที่ดีขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ด้านการจัดเก็บรายได้จากภาษีรถยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกที่มียอดการจัดเก็บอยู่ในอันดับสูงนั้น เขากล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังคงเป้าหมายการผลิตไว้ในระดับเดิมที่ 2ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศจำนวน 8 แสนคัน ส่วนที่เหลือ 1.2 ล้านคันผลิตเพื่อการส่งออก ขณะนี้ ยอดขายยังทรงตัวตามเป้าหมาย

สำหรับแนวคิดการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากน้ำตาลนั้น ขณะนี้ ทางคณะทำงานชุดปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งที่มีภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุป คาดว่า จะสรุปได้ภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดการบริโภคน้ำตาลของประชาชนเท่านั้น หากรัฐบาลมีนโยบายให้จัดเก็บ กรมฯก็พร้อมดำเนินการ

ด้านความคืบหน้าการพิจารณาประมวลกฎหมายสรรพสามิตนั้น ขณะนี้ อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะมีการพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ การนำราคาขายปลีกสุดท้ายมาคำนวณภาษีแทนราคาหน้าโรงงาน