คาเวียร์ ศิลปาชีพ

คาเวียร์ ศิลปาชีพ

มูลนิธิศิลปาชีพฯ ประสบความสำเร็จผลิต 'คาเวียร์' ได้เป็นครั้งแรกในไทย

หลังจากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประสบความสำเร็จเพาะเลี้ยงปลาเมืองหนาว ‘เรนโบว์ เทราต์’ สร้างอาชีพและรายได้ให้ราษฎรชาวไทยในเขตที่สูง ล่าสุด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประสบความสำเร็จในการผลิต คาเวียร์ (Caviar) ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

“ทุกคน...พอนึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มักนึกถึงผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินที่พระที่นั่งอนันตสมาคม งานโขน งานทางด้านศิลปวัฒนธรรม งานนี้จึงอยากสื่อให้เห็นถึงว่า พระองค์ท่านทรงงานมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการเกษตร” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวในงาน A Spoonful of Love: ช้อน...รัก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากโครงการตามพระราชดำริฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

"พระราชดำริน้อยใหญ่ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทำเพื่อประชาชนราษฎร ความจริงแล้วหลักสำคัญคือ ทรงอยากเห็นประชาชนที่อยู่ห่างไกลมีรายได้น้อย แร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าย้อนกลับไปสามสิบ-สี่สิบปีที่แล้ว สังเกตจากเวลาเสด็จทรงเยี่ยมราษฎร มักรับสั่งถามราษฎรเสมอ ว่าแถวบ้านมีแหล่งน้ำอะไรบ้าง ในน้ำมีปลาไหม มีตลอดปีไหม ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าเขาขาดโปรตีน เด็กๆ จะเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างไร จะมีสติปัญญาได้เล่าเรียนหนังสือไหม มีอาหารเพียงพอขณะแม่ตั้งครรภ์ไหม จึงเป็นพระราชกิจอีกอย่างหนึ่งที่ทรงทำเพื่อการกินอยู่ การทำมาหากิน เลยไปถึงสุขภาพด้วย พร้อมๆ ก็ไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการเห็นว่ามีการตัดไม้ทำลายป่ามากเหลือเกิน ทรงเศร้าพระทัย ป่าไม้ถูกทำลาย แผ่นดินจะแห้งแล้ง คนจะอยู่ยังไง จึงทรงขอป่าที่เสื่อมโทรมไปแล้ว ถูกตัดทำลายจนแทบไม่มีต้นไม้เหลือ มาทำ ‘โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่’ ทำสถานีเกษตรบนที่สูง ฟาร์มตัวอย่าง คือทำเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อราษฎร" ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว 

โดยเฉพาะ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ สถานที่ต้นกำเนิดแห่งความสำเร็จในการผลิต ‘คาเวียร์’ ได้เป็นครั้่งแรกในประเทศไทย 

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 

"สถานที่ตรงน้้นยังไม่ถึงกับไม่มีต้นไม้ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินครั้งแรก(พ.ศ.2545) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งถามชาวบ้านว่ามีน้ำเป็นยังไง ปรากฎว่าน้ำดี-อากาศเย็น แต่ไม่มีปลาตัวเล็กตัวน้อย เพราะอากาศเย็นมาก ปลามุดลงไปอยู่ในทราย ซึ่งเป็นที่มาที่เราตื่นตาตื่นใจในวันนี้ คือสามารถเลี้ยงปลาเทราต์ และต่อมาเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน จนเราสามารถผลิตคาเวียร์ได้ในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน" ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวและว่า ในเวลานั้นคุณ จรัลธาดา กรรณสูต ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมประมง ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย


คุณ จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเลี้ยงปลา สเตอร์เจียน (sturgeon) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปลาที่ให้ผลผลิต ‘คาเวียร์’ โดยสืบย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของ 'โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ' และเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ซึ่งกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลาและได้การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเข้าช่วยเหลือ 

"โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ กำเนิดเมื่อปีพ.ศ.2545 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงพระประชวร ไม่ทรงแข็งแรงที่จะเสด็จฯ ออกเยี่ยมพสกนิกรในต่างจังหวัด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ เป็นช่วงต้นปี หรือฤดูหนาวพอดี ที่จะเสด็จทุกปี 

ในปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ดูแลภาคเหนือตอนบนใกล้กับชายแดน เนื่องจากเริ่มมีการตัดไม้ทำลายป่ามาก ภูเขาเริ่มหัวโล้น เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ควรไปตั้งโครงการพัฒนาชาวเขาบริเวณนั้นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทหารและเจ้าหน้าที่ที่ไปดูแลบริเวณนั้น... 

ดอยดำเป็นจุดซึ่งมีป่าเหลือดีมาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงตั้ง ‘โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่’ เพื่อให้ประชาชนอยู่กับป่าได้เป็นอย่างดี ดอยดำมีน้ำมาก เพราะมีต้นไม้ เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ... 

ดังที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว ว่าทรงสนพระทัยเรื่องการกินอยู่ของชาวเขามาก เพราะเขาอยู่บนที่ห่างไกล กลัวอาหารโปรตีนไม่พอเพียง ทรงถามว่าแหล่งน้ำที่มีเยอะ เขาจับปลาได้มั่งไหม มีปลากินหรือเปล่า ชาวไทยภูเขาทูลว่าที่นั่นหนาวมาก น้ำเย็นจัด ปลาข้างล่างขึ้นไปไม่ถึง มีแต่ปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งใช้รับประทานไม่ได้ ท่านทรงวิตก มีรับสั่งถามว่า เราเอาสัตว์น้ำที่อยู่ในเขตน้ำเย็นอะไรบ้างที่พอนำไปเลี้ยงได้ที่นี่ 

ตอนนั้นกรมประมงเรามีความร่วมมือกับประเทศแคนาดา ทางกรมฯ รับพระราชเสาวนีย์มาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแคนาดา ว่าเราจะเลี้ยงปลาอะไรที่นั่นได้บ้าง เขาแนะนำว่าปลาเรนโบว์เทราต์เลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ได้ และเป็นปลาที่อดทน ทนอากาศร้อนได้มากว่าเทราต์ชนิดอื่น วิธีนำปลาเป็นตัวมาจากแคนาดาเสี่ยงมากที่ปลาจะตาย เลยนำเข้ามาเป็นไข่ปลาที่ผสมพันธุ์แล้วนำมาฟักที่ดอยดำ 

ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 ที่เราเริ่มเพาะเลี้ยง ปลาเรนโบว์เทราต์เจริญเติบโตดี ปลาอายุ 2 ปีก็เริ่มสืบพันธุ์ได้ และเราก็เพาะพันธุ์เองได้สำเร็จ ส่งขายได้เป็นธุรกิจให้กับชาวไทยภูเขา พระราชดำริเดิมอยากให้เราทำเป็นอาหารของชาวบ้าน แต่ด้วยต้นทุนการเลี้ยงที่ค่อนข้างมาก และปลาขายได้ราคาดี ทรงมีพระราชเสาวนีย์มาว่า เราควรจ้างงานเขามาทำงานกับฟาร์มเราแล้วจ่ายเป็นค่าจ้าง ซึ่งเงินเหล่านี้เขาสามารถนำไปซื้ออาหารที่ดีได้" คุณจรัลธาดา กล่าว 

ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราต์ได้ครบวงจร ประมาณปีพ.ศ.2540 ปลายๆ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งว่า ถ้าเทราต์สำเร็จดีแล้ว อยากให้ทดลองเพาะเลี้ยงปลา สเตอร์เจียน นอกจากทรงโปรดเสวย ‘คาเวียร์’ ซึ่งทำจากไข่ปลาสเตอร์เจียน ในวังก็มีงานเลี้ยงอยู่บ่อย เสิร์ฟคานาเป้ที่มีคาเวียร์ อาจช่วยลดการนำเข้าคาเวียร์จากต่างประเทศ 

"พวกเรารับพระราชเสาวนีย์มาเพื่อทดลอง ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จหรือเปล่า เพราะปลาชนิดนี้อยู่ในน้ำซึ่งเย็นมาก สเตอร์เจียนมีอยู่หลายพันธุ์ บางพันธุ์อยู่ในน้ำเค็ม เช่น เบลูก้า (Beluga) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุด อยู่ในทะเลสาปแคสเบี้ยนซึ่งเป็นทะเลสาปน้ำเค็ม และยังมีสเตอร์เจียนอีกหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในแม่น้ำต่างๆ ของประเทศรัสเซียและจีนตอนเหนือ


เราค้นคว้าจากหนังสือพบว่า สเตอร์เจียนที่เรียกว่า ไซบีเรียน สเตอร์เจียน (Siberian sturgeon) เป็นพันธุ์ที่น่าจะเหมาะสมและง่ายต่อการเลี้ยง 

ปลาสเตอร์เจียนไม่ได้ให้ไข่เร็ว พันธุ์ไซบีเรียนใช้เวลาถึง 8 ปีในการโตมีไข่ได้ และเราเสียเวลาไปสองปีกว่า ทีแรกเราสั่งสเตอร์เจียนจากเยอรมนี เพราะตอนนั้นความสัมพันธ์เรากับรัสเซียยังไม่กระชับดีนัก ปรากฎว่าไข่ปลาที่ซื้อมาจากเยอรมนีเขาทำเคล็ดมาเป็นตัวผู้ทั้งหมด ตอนเล็กๆ เราไม่สามารถบอกเพศได้ จนเราต้องเอกซ์เรย์ ก็พบว่าเป็นตัวผู้ทั้งหมด ปลาชุดนั้นจึงใช้สำหรับขายเนื้ออย่างเดียว 

พ.ศ.2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เยือนรัสเซีย ทำให้ความสัมพันธ์เรากับรัสเซียกระชับแน่นมาก เราขอพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนจากรัสเซีย บอกเขาตามตรงว่าเราจะเพาะเลี้ยง 

เข้าปีที่เจ็ด เราลองใช้อุลตร้าซาวน์เช็คดู ปรากฎว่าปลามีไข่ ปีที่แปดก็ได้ไข่ และขอความร่วมมือจากรัสเซียส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนทำคาเวียร์ 

คาเวียร์จากการทำสำเร็จครั้งแรก เราทูลเกล้าฯ ถวายทั้งสองพระองค์เป็นเครื่องเสวย ทรงคอมเมนต์มาว่า ‘เหมือนแล้ว ใช้ได้’ และถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคอมเมนต์อย่างเดียวกัน 

ปี่ต่อมานอกจากเราทำคาเวียร์สำเร็จ เรายังเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนเป็นตัวได้ในประเทศไทย เป็นเครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลาต้องโตแปดปีถึงจะให้ไข่ เราต้องพยายามผลิตให้ได้ตัวปลาทุกปี เราถึงจะทำคาเวียร์ได้ต่อเนื่อง" คุณจรัลธาดา กล่าว 

ผลิตภัณฑ์คาเวียร์และเนื้อปลาสเตอร์เจียนที่ผลิตได้ในประเทศไทยครั้งนี้ ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ ศิลปาชีพ ซึ่งมีรูป ‘ดอกกล้วย’ ไม้เป็นตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ 

ทั้ง คาเวียร์ และ เนื้อปลาสเตอร์เจียน ที่เพาะเลี้ยงในเมืองไทย เชฟชาวฝรั่งเศส มร.แอร์เว่ เฟรราด์ แห่งร้านคาเฟ่ ปารีเซียง เดอะกลาสเฮาส์ แอท สินธร ถนนวิทยุ ยืนยันว่ามีคุณภาพดีภายหลังทดลองนำวัตถุดิบประกอบเป็นอาหารฝรั่งเศส 

เชฟแอร์เว่ นำ ‘คาเวียร์ ศิลปาชีพ’ ทำเป็นเมนู คาเวียร์บนครีมส้มยูซุ (Caviar Malossol, Fresh Sea Urchin, Yuzu Cream) และกล่าวว่า ชื่นชอบคาเวียร์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยสิ่งที่เชฟสังเกตก่อนเป็นอันดับแรกคือ ‘ลักษณะของคาเวียร์’ 

“ลักษณะไข่คาเวียร์ที่ดีต้องมีความเฟิร์ม เม็ดกลม” เชฟแอร์เว่ กล่าวและว่า สิ่งที่ทำให้ชอบคาเวียร์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คือ เมื่อทดลองเคี้ยวแล้วมีความยืดหยุ่นของผิวด้านนอก เมื่อกัดแล้วเม็ดคาเวียร์จะต้องแตกในปาก 

“ข้อที่สองคือระดับความเค็ม คาเวียร์ต้องไม่เค็มเกินไป ถ้าเค็มเกินไปจะกลบรสชาติของคาเวียร์” เชฟแอร์เว่ กล่าวและให้ความเห็นว่า ‘คาเวียร์ ศิลปาชีพ’ ให้รสเค็มน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ เบลูก้า คาเวียร์(คาเวียร์ที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในโลก) และที่เชฟแอร์เว่ชื่นชอบมากๆ คือ ‘คาเวียร์ ศิลปาชีพ’ ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ แม้ทำให้อายุของการเปิดบรรจุภัณฑ์อยู่ได้เพียง 2-3 วัน แต่ก็ได้รสชาติและคุณค่าคาเวียร์เต็มที่กว่าคาเวียร์ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ 

แม้ คาเวียร์ ศิลปาชีพ ไม่ใช่ผลผลิตจากปลา ‘เบลูก้า สเตอร์เจียน’ แต่ก็เป็นคาเวียร์คุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ที่ น้ำหนัก 100 กรัม ราคา 5,000 บาท ด้วยความที่กระบวนการบรรจุไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงเหลือขนาด 25 กรัม และ 50 กรัม เพื่อให้บริโภคได้หมดต่อการเปิดบรรจุภัณฑ์ในครั้งเดียว 

เชฟแอร์เว่นำเนื้อปลาสเตอร์เจียนจาก 'โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ' ปรุงเป็นเมนู สเตอร์เจียนฟิลเลต์ซอสแซฟฟรอน (Baked Sturgeon Fillet, Mediterranean Style Vegetables and Saffron Beurre Blance) เนื้อปลาสเตอร์เจียนปรุงรสด้วย ‘ดอกเกลือ ศิลปาชีพ’ และพริกไทย นาบในกระทะตั้งไฟร้อนปานกลางที่มีน้ำมันมะกอก ด้านละ 2-3 นาที เสิร์ฟกับผักสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน เช่น เฟนเนล กระเทียม ซุกีนี มะเขือเทศ พริกหยวก หญ้าฝรั่นจากสเปน น้ำมะนาว น้ำมันมะกอก เนย ผัดรวมกันในกระทะ 2-3 นาที แล้วนำเข้าเตาอบไฟอ่อนๆ สองชั่วโมง ได้ผักที่รสชาติเข้าเนื้อ ราดซอสแซฟฟรอนที่ปรุงจากการเคี่ยวร่วมกับปลารมควัน น้ำมะนาว โปยกั้ก หอมแดง เนยจืด ไธม์ น้ำมะกอก ไวน์ขาว เกลือ พริกไทย 

"เนื้อปลามีเท็กซ์เจอร์ที่น่าสนใจ กัดลงไปด้านนอกมีความยืดหยุ่น(ไม่เละ) เนื้อปลาข้างในนุ่มมากและไม่แห้ง เนื้อสัมผัสและรสชาติมีเอกลักษณ์สูงมาก" เป็นความเห็นของเชฟแอร์เว่ที่มีต่อเนื้อปลาสเตอร์เจียนจาก ‘โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ’ 

นอกจาก ‘คาเวียร์’ และ ‘เนื้อปลาสเตอร์เจียน’ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังมีผลิตผลทางการเกษตรขึ้นชื่อภายใต้แบรนด์ ศิลปาชีพ มีอีกมากมาย เช่น ห่านหัวสิงห์ (Shitou Goose) เนื้อห่านมีทั้งความหนาและนุ่ม 

“ด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน, ปีพ.ศ.2551 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ห่านหัวสิงห์ จำนวน 100 ฟอง เพื่อทรงใช้ในโครงการตามพระราชดำริฯ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้กรมปศุสัตว์นำไปดำเนินการฟักไข่ และทดลองเลี้ยงในโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางกลาง จังหวัดอ่างทอง จนสามารถเพาะพันธุ์เองได้ และเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย" สมชาย ธรณิศร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าว 

ห่านหัวสิงห์ เป็นห่านที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก โดยเพศผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักได้ 10-12 กิโลกรัม/ตัว เพศเมียหนัก 8-9 กิโลกรัม/ตัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งแบบตะวันออกและตะวันตก 

ปกติเรามักนึกถึง ‘ห่านพะโล้’ ครั้งนี้เชฟแอร์เว่นำเนื้อห่านหัวสิงห์มาปรุงเป็น เนื้อห่านหัวสิงห์ซอสไธม์มะนาวกับมันบดฝรั่งเศส (Roasted Shitou fillet with Ratte Potato and Lemon thyme jus) เนื้อห่านนุ่ม-หนาหนึบและชุ่มฉ่ำ 

นอกจากนี้ยังมี ดอกเกลือ และ เกลือแกง จากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริฯ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี, กาแฟอาราบิก้า จากสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง บ้านปางขอน จ.เชียงราย และสถานีการเกษตรที่สูงฯ ดอยม่อนล้าน จ.เชียงราย กวาดรางวัลจากการประกวดกาแฟที่ประเทศสิงคโปร์หลายครั้ง ร้านกาแฟหลายแห่งในเมืองไทยใช้เป็นวัตถุดิบ, ผักเมืองหนาวปลอดสารพิษ จากสถานีการเกษตรที่สูงฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ 

ผลิตผลทางการเกษตรภายใต้แบรนด์ ‘ศิลปาชีพ’ มีจำหน่ายเฉพาะที่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 

สำหรับผลิตภัณฑ์คาเวียร์ คุณจรัลธาดา กล่าวว่า ปลาสเตอร์เจียน 1 ตัวให้ไข่ไม่เกิน 2 กิโลกรัม และให้ไข่เฉพาะช่วงฤดูหนาวคือเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ปีนี้เพิ่งเป็นปีที่สองที่ผลิตได้สำเร็จ จึงนำมาแนะนำให้ประชาชนและร้านอาหาร-โรงแรมได้รู้จักในงาน A Spoonful of Love: ช้อน...รัก ดูว่ามีผู้สนใจหรือจะสั่งซื้อเพียงใด เพื่อให้รู้ว่าควรผลิตแค่ไหน 

งาน A Spoonful of Love: ช้อน...รัก นอกจากเป็นงานซึ่งจัดขึ้นเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ทรงทำไว้มากมาย ยังเป็นหนึ่งในงานที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 

"มีผู้รู้ตั้งชื่องานให้ว่า 'A Spoonful of Love: ช้อน...รัก' เป็นช้อนที่เต็มไปด้วยความรัก ภาษาไทยก็มาเป็น ‘ช้อน...รัก’ เป็นความรักที่เต็มอยู่ในช้อนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้ประชาชนคนไทย และช้อนรักนี้ประชาชนคนไทยก็ตักจากความรักอันนี้ให้แก่กันและกัน เป็นชื่องานที่มีความหมายลึกซึ้ง และแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยและความรักที่พระองค์ท่านทรงมีต่อประชาชนทุกคน" ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวถึงที่มาของชื่องาน