หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สิน

หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สิน

ด้วยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มขึ้นรวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยให้นำมาถือเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จ่ายไปภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา การลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สิน

วิสัชนา ต้องเป็นการลงทุน โดยการซื้อ เช่าซื้อ สร้าง ก่อสร้าง เป็นต้น หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์

(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า

(4) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนฯ ตามประกาศอธิบดี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปุจฉา คุณลักษณะของทรัพย์สินที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่ามีอย่างไร

วิสัชนา ทรัพย์สินจะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่า ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

(2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

(3) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่ยานพาหนะตามมาตรา ๓ (๓)

(4) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ