เปิดแนวคำพิพากษา 'คดีทารุณสัตว์'

เปิดแนวคำพิพากษา 'คดีทารุณสัตว์'

เปิดแนวคำพิพากษา "คดีทารุณสัตว์" หลัง "พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557" บังคับใช้มากกว่า 1 ปีเศษ

เป็นเวลา 1 ปีเศษแล้วที่ “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557” ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย ทำให้บุคคลใดก็ตามที่กระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 ธ.ค. ปี 2557 ก็มีการฟ้องดำเนินคดีและศาลได้ตัดสินชำระความผิดกันไปตามพฤติการณ์หลายกรณี ซึ่งแนวคำพิพากษาของศาล น่าสนใจในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

มาดูตัวอย่างคดีกัน ประเดิม คดีแรก“ ฟันหน้า “เจ้าก้านกล้วย” หมาไล่ไก่” คดีนี้ นายคำดี โคตถา ชาวหนองคาย ใช้มีดฟันเจ้าก้านกล้วยสุนัขเพศผู้วัยปีเศษของนายสายยนต์และนางจอมศรี คำภูแก้ว คนในหมู่บ้านเดียวกันเมื่อวันที่ 1 ม.ค.58 จากเหตุที่อ้างว่า หมาไปกัดไก่ที่เลี้ยงไว้ หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวน ได้เรียกตัวนายคำดี มาสอบสวนซึ่งให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้ฟันเพื่อให้สุนัขตาย แต่เป็นการขว้างมีดไล่สุนัขที่จะกัดไก่ของตัวเอง สุดท้ายเมื่อ“ เจ้าก้านกล้วย ”มีบาดแผลฉกรรจ์ที่หน้าด้านขวา ต้องเย็บมากกว่า 100 เข็ม พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานายคำดี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดหนองคาย ได้ตัดสินความผิดให้จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คราวนี้มาถึงคดีพิเรนท์ “ฆ่า-กิน หมา โพสต์โชว์เฟซบุ๊ก” ซึ่งศาลตัดสินจำคุกจริง

โดยคดีนี้ ศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษาวันที่ 9 ก.ค.58 ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท นายวิทยา ไชยยันต์ อายุ 30ปี ชาวมุกดาหาร มือโพสต์คลิปฆ่าสุนัขลงเฟซบุ๊ก และนายเสนอ รูปงาม อายุ 49ปี ชาวมุกดาหาร มือฆ่าสุนัข ที่ใช้ไม้ตีหัวและเชือดคอฆ่าสุนัข จากนั้นมีการถ่ายคลิปวิดีโอนำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 58 โดยองค์กร WATCH DOG THAILAND (WDT) เห็นว่าเป็นการกระทำที่ทารุณต่อสัตว์ จึงประสานกับทางตำรวจภูธรภาค 4 ให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด กระทั่งตำรวจ จับกุมผู้ต้องหาทั้งสองได้ที่บ้านพัก หลังเกิดเหตุ 4 วัน พร้อมตั้งข้อหาร่วมกันทารุณกรรมสัตว์จนถึงความตายโดยไม่มีเหตุอันควร ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 มาตรา 20 ซึ่งศาลได้ลงโทษจำคุก 3 เดือนทั้งสองคน แต่ในส่วนของนายวิทยา มือโพสต์ ศาลให้รอลงอาญา และจำคุกนายเสนอ มือสังหารสุนัข โดยไม่รอลงอาญา

กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบังคับใช้กฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ก็มีคดีทยอยเข้าสู่การพิจารณาของศาลต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ คดี “สาวประเภทสอง โยน ชิวาวา ตกตึก” เป็นคดีเริ่มต้นในปี 2559 ของศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อสุนัขพันธุ์ชิวาวา เพศเมียของ น.ส. เมยานี สิทธิสุข ถูกจับโยนจากระเบียงอพาร์ตเม้นท์ ชั้น 5 ย่านวังทองหลาง ลงมาตายที่หลังคาชั้น 2 จากแรงกระแทกทำให้กระดูกขาและลำตัวของสุนัขหักโดยมีนายยลดา จำปาศรี อายุ 23 ปีเพื่อนสาวประเภทสองของเธอที่เข้ามาพักอยู่ด้วย เป็นผู้ก่อเหตุเอง ขณะที่นายยลดา อ้างว่าเกิดความโมโหที่สุนัขทำให้ห้องสกปรก พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และกระทำการทารุณกรรมสัตว์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 หลังถูกนำตัวฟ้องคดีต่อศาล ในวันที่ 28 ม.ค.นายยลดา ก็ให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี จึงถูกตัดสินให้จำคุก 2 เดือนโดยไม่รอลงอาญาเพราะพฤติกรรมนั้นทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจนตาย และทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ ศาลจึงเห็นว่าไม่มีเหตุให้ลดโทษ

ต่อมาคือ “คดียิงหมา หน้าห้างอิมพีเรียล” มีนายวิชา บุญลือลักษณ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ ฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกข์เวทนา ตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 และข้อหาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน หลังจากนายวิชา ใช้อาวุธปืน ยิงสุนัขสีขาวดำหลายนัด กระสุนปืนถูกหัวไหล่ทั้งสองข้าง ทำให้ขาทั้งสี่ข้างของ“เจ้าขาวดำ” เป็นอัมพาต ส่วนภายในมีเลือดไหลออกในปอดจำนวนมาก จนตายในที่เกิดเหตุหน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล สาขาลาดพร้าว ช่วงค่ำวันที่ 13 ม.ค.58 ซึ่งจำเลยรับสารภาพว่าบันดาลโทสะ และอ้างว่า“ เจ้าขาวดำ” ไล่กัดขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านหลายครั้ง รวมถึงคนอื่นๆด้วย โดยวันเกิดเหตุก็ถูกสุนัขวิ่งไล่กัดอีก จึงทำไปเพราะความโมโห

คดีนี้ศาลจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 และลงโทษตามข้อหาอื่น คือ พ.ร.บ.อาวุธปืน ด้วย รวมโทษทั้งสิ้นจำคุก 14 เดือน หรือ1 ปี 2 เดือน และปรับ 7,500 บาท แต่ให้รอลงอาญาและคุมความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่งโมง

และล่าสุด วันที่ 18 พ.ค.59 ศาลแขวงพระนครเหนือ ก็มีคำพิพากษาคดี “พ่อค้าข้าวมันไก่ แทงเจ้าขาว” ที่ซอยรามคำแหง 60/2 เขตบางกะปิ กทม.ซึ่งนับเป็นคดีทารุณกรรมสัตว์ อีกเรื่องที่สะเทือนใจผู้คนในสังคมไม่น้อย เมื่อได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิด ที่มีการแชร์คลิปในสื่อโซเชียล ที่ “เจ้าขาว”สุนัขพันธุ์ไทย เพศผู้ ต้องทรมานก่อนตาย ในค่ำวันที่ 13 เม.ย.59 จากการถูกฟาดตีด้วยท่อนเหล็ก แล้วใช้มีดยาวแทงซ้ำหลายแผล ระหว่างที่เจ้าขาวถูกล่ามหน้าอพาร์ทเมนต์ จากภาพกลายมาเป็นข่าว ทำให้ นายอานนท์ เมฆสัน พ่อค้าขายข้าวมันไก่ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พร้อมรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ยังรู้สึกโมโหที่สุนัขเคยกัดลูกชายวัย 7 ขวบ แล้วที่แทงจนสุนัขตายเพราะไม่อยากให้ต้องทรมาน

เมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว จึงส่งสำนวนให้อัยการ ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 18 เม.ย.59ในความผิดฐาน ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 ต่อมาศาลพิจารณาคำรับสารภาพ ประกอบรายงานการสืบเสาะประวัตินายอานนท์ จำเลย จึงตัดสินให้จำคุก 4 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน โดยโทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นโทษกักขัง 2 เดือน

จากคดีที่ได้ถูกตัดสินลงโทษ ตาม“พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557” เห็นได้ว่าศาลลงโทษ หนัก-เบา ต่างกันไป ...“ ถูกจำคุกจริง หรือ รอลงอาญา” ก็แล้วแต่พฤติการณ์ที่ได้ลงมือกระทำว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน และความสำนึกผิดต่อสิ่งที่ได้กระทำนั้น

ไม่ว่าจะชีวิตคน หรือชีวิตสัตว์ต่างมีสิทธิที่จะเลือกเองได้ว่าควรจะอยู่ต่อหรือจากไป เมื่อ“คน” ยังมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ การมีกฎหมายคุ้มครองการทารุณกรรมสัตว์ เสมือนเป็นการรับฟังเสียงร้องของสิ่งมีชีวิตเพื่อนร่วมโลก ที่แม้จะพูดภาษาคนไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม

และสิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรทำ ก็คือ การทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้ ให้ถ่องแท้ว่า ไม่ใช่คนจะทำอะไรกับสัตว์ไม่ได้เลย อย่างกรณีสัตว์เข้ามาทำร้ายคนก่อน คนก็สามารถป้องกันตัว ทำร้ายสัตว์กลับได้หรือทำให้สัตว์ถึงกับเสียชีวิตก็ยังได้ หรือ ทำร้ายสัตว์เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดจากคนอื่นอันมาจากสัตว์ก็ได้ ดังนั้น ที่ีไปโทษกันว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการให้ความสำคัญกับ“สัตว์”เหนือ “คน” ทำให้คนถูกทำร้ายจากสัตว์ โดยไม่มีใครกล้าเข้าช่วยเหลือ เพราะเกรงว่าจะมีความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ อย่างกรณีทีี่วิจารณ์กันทางสังคมออนไลน์กรณีที่เพิ่งเกิดเหตุ เด็กหญิงอายุ 14 ปี ถูกหมากัดที่ใบหน้าต้องเย็บกว่าร้อยเข็ม จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คิดจะเลี้ยงสัตว์ ต้องพึงตระหนักว่า หากจะเลี้ยง ต้องดูแลอย่างดี ไม่ปล่อยทิ้งไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น จนกลายเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ เพียงเพราะไม่มีเจ้าของ