'ไอเอ็มดี'เลื่อนอันดับแข่งขันไทยเป็นที่ 28 ของโลก

'ไอเอ็มดี'เลื่อนอันดับแข่งขันไทยเป็นที่ 28 ของโลก

"เทวินทร์" เผย "ไอเอ็มดี" เลื่อนอันดับความสามารถการแข่งขันไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 28 จากเดิมอยู่ที่ 30 ชี้เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ปรับขึ้น

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (TMA) กล่าวว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการจัดการ (IMD World Competitiveness Center ) หรือ IMD ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสมาชิกทั่วโลกประจำปี 2559 (2016) จากทั้งหมด 61 ประเทศ เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยฮ่องกงได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก รองลงมาเป็น สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาลดจากอันดับ 1 มาเป็นอันดับ 3 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 28 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 30 ในปี 2015 โดยมีคะแนน 74.681 เพิ่มจากคะแนน 69.786 และยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับขึ้น ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนถูกลดอันดับลง เช่น สิงคโปร์ลดจากอันดับ 3 ลงมาอันดับ 4 มาเลเซีย ลดลงจากอันดับ 14 มาเป็นอันดับ 19 ฟิลิปปินส์ ลดจากอันดับ 41 มาเป็นอันดับ 42 อินโดนิเซียลดลงอันดับ 42 มาเป็นอันดับ 48

ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังได้อันดับ 49 จึงต้องเร่งเดินหน้าพัฒนามากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาไปมากแล้ว และด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา และต้องใช้เวลาในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เหล่านี้ในช่วง 4-5 ปี ข้างหน้า จึงจะสะท้อนสิ่งที่ได้ดำเนินไปในขณะนี้ หลังจากส่งเสริมการทำวิจัย หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า การตั้งกองทุน การปรับปรังการสร้างโรงงาน รง.4 การสร้างโครงข่ายทางด่วน รถไฟฟ้า การเทงบประมาณด้านการศึกษา การปรับปรุงฐานข้อมูลของภาครัฐ โดยยังต้องพัฒนาอีกหลายด้านหลังจากทุกด้านเริ่มพัฒนาดีขึ้นมาเป็นอันดับ และจะทำให้ไทยมีอันดับดีขึ้นจากเดิมได้

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า ตัวชี้วัดสำคัญหลายด้านของไทยปรับขึ้นทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศได้อันดับ 6 การจ้างงานอันดับ 3 ฐานะการคลังอันดับ 10 นโยบายการคลังอันดับ 5 สาธารณูปโภคอันดับ 35 ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐหลายปัจจัยถูกจัดอันดับสูงขึ้นจากมาตรการทางภาษี การให้สิทธิประโยชน์การลงทุน สำหรับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ กฎระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเงิน บทบาทตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนให้ภาคธุรกิจ แต่ยังต้องปรับปรุงด้านคุณภาพการผลิต

ทั้งนี้ เมื่อเฉลี่ยรวมกันแล้วไทยได้อันดับ 28 การปรับอันดับสูงขึ้น เพราะไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงต้องปรับปรุงกฎหมายกว่า 200 ฉบับ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้เร่งออกกฎหมายลูกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน รวมทั้งนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจในไทยมีความสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน

ไอเอ็มดี ระบุว่าไทยพัฒนาปรับปรุงนโยบายรัฐบาล การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงต่อประชากร จีดีพีต่อหัว 17,021 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี อัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 รวมถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการลดลงของความเสี่ยงด้านการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง นับว่าการเมืองมีความมั่นคงมากขึ้น