IFEC ฮุบ “ดาราเทวี” แก้เกม ประมูลพลังงานสะดุด

IFEC ฮุบ “ดาราเทวี”  แก้เกม ประมูลพลังงานสะดุด

แผนหนึ่งขรุขระ ได้เวลาแผนสอง เฉลยลายแทงขุมสมบัติ หลังรัฐเบรกประมูลพลังงานทดแทน ผ่านปาก “สิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์” ซีอีโอ “อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ฯ

ความหวังที่เหล่าเอกชนจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากธุรกิจ “พลังงานสะอาด” ต้องหยุดชะงัก !! 

หลังหน่วยงานภาครัฐเลื่อนเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดออกไปจากกลางปี 2558 เรื่อยมา ส่วนหนึ่งเกิดจาก “แรงกดดัน” จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกตกต่ำ ทำให้ “แรงจูงใจ” ในการผุดโครงการพลังงานทดแทนที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยการผลิตค่อนข้างสูง สะดุดลง 

ขณะที่ ผู้ประกอบการหลายราย “คิดการณ์ใหญ่” โดดสู่สังเวียนพลังงานทดแทน ด้วยหมายมั่นจะหยิบชิ้นปลามัน โหนกระแสนโยบายรัฐ ไม่คิดว่าสุดท้าย “นโยบายรัฐ” บวกกับ “สถานการณ์น้ำมันโลก” จะวนกลับมาเป็น “ความเสี่ยง” ทางธุรกิจ   

หนึ่งในผู้ประกอบการที่ถือคติ“เล็กๆไม่"ต้องยกให้ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ของ “นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ (ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งสัดส่วน 5.29%) หลังกลางปี 2558 เคยออกมายืนยันเป้าหมายใหญ่ในธุรกิจนี้ว่า.. 

พร้อมขึ้นแท่นผู้นำผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกประเภท” 

ทว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ส่งผลให้เส้นทางเดินไปสู่ตัวเลข “กำไรสุทธิ 1,200 ล้านบาทเริ่มขรุขระ คุณหมอนักลงทุน จำต้องปรับกลยุทธ์เติบโตใหม่ ด้วยการแตกหน่อ (Diversify) ไปสู่งานใหม่แบบสุดขั้ว อย่าง ธุรกิจโรงแรม”  โดยการซื้อหุ้นสามัญ 1,660 ล้านบาท และภาระหนี้สิน 860 ล้านบาท จาก “กลุ่มดาราเทวี เชียงใหม่ โรงแรมที่มีปัญหารุงรังอยู่ไม่น้อย (อ่านล้อมกรอบ) 

แผนพลิกวิกฤติในวันนั้น ดูเหมือนจะสร้างความงุนงงให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นน้อยใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “นเรศ งามอภิชน” เจ้าของพอร์ตหลักพันล้าน สะท้อนผ่านราคาหุ้น IFEC ที่ขึ้นตัวแดงติดต่อกันหลายวัน และการขอเวลาส่วนตัวกับ “คุณหมอวิชัย” ในวันที่ไม่สามารถทำกำไรจากหุ้น “สุดเลิฟ”  

สิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC  ซีอีโอคนสนิท “หมอวิชัย ถาวรวัฒนยงค์”  แจกแจงให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ความล่าช้าในการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของหน่วยงานรัฐ ทำให้แผนงานที่ต้องการจะมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี 2558 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยขณะนี้มีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในมือเพียง 22 เมกะวัตต์

โชคดีที่บริษัทปรับตัวก่อน เพราะเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณชะลอการเปิดประมูลมาตั้งแต่กลางปี 2558 ทีมงานไม่รอช้าตัดสินใจ“งัดแผนสำรอง” ออกมาประคองฐานะ ด้วยการการแตกไลน์ไปสู่ “ธุรกิจโรงแรม” ควบคู่ไปกับการโยกเงินลงทุนนออกไปในต่างประเทศ 

แน่นอนว่า งานใหม่อย่างโรงแรม ย่อมสร้างความไม่เข้าใจให้กับบรรดาผู้ถือหุ้น เพราะไม่ได้บอกกล่าวกันก่อนหน้านี้ แต่เมื่อได้นั่งอธิบายถึงเหตุผลและผลประโยชน์ที่จะได้รับ หลายคนก็มีสีหน้าพอใจ สบายใจมากขึ้น สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับขึ้นจากช่วงแรกที่ประกาศซื้อหุ้นโรงแรม 

แต่การวางยุทธ์ศาสตร์แค่นี้ คงไม่เพียงพอ เศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ “สุทธิชัย” เล่าว่า ตามแผนงานของคุณหมอ ต้องการสร้างพอร์ตรายได้รวมให้เกิดความสมดุล อนาคตโครงสร้างรายได้จะไม่มีเพียงธุรกิจพลังงาน และธุรกิจโรงแรม แต่ต้องมีรายได้จากงานที่เกี่ยวข้องกับการ “วางระบบซอฟต์แวร์ในธุรกิจพลังงาน ซึ่งงานลักษณะนี้ในไทยยังไม่มีใครทำ หากผลการศึกษาออกมาสมบูรณ์ บริษัทจะเป็นคนแรกของเมืองไทยที่ทำ 

“ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ยังแจกแจงว่า จะใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 200-300 ล้านบาท ในการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับ “งานบริหารจ่ายไฟทั้งระบบ” จากบริษัทสตาร์ตอัพแห่งหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตทุกประเภท จาก “กสท โทรคมนาคม” หรือ CAT บริษัทแห่งนี้เปิดดำเนินการมา 2 ปีแล้ว และมีลูกค้าอยู่ในมือ 1 แสนจุด คาดว่าไตรมาส 3 ปี 2559 จะปิดดีล

โดยต้องการเข้าถือหุ้นใหญ่ 70-80% ที่เหลือเป็นการถือหุ้นของเจ้าของเดิม ในฐานะที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญต้องให้บริหารต่อไป งานเสริมชิ้นนี้จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยกว่า 15% หากปิดดีลได้จะรับรู้รายได้ครั้งแรกปลายปี 2559

“หากแผนนี้ราบรื่นจะทำให้โครงสร้างรายได้เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีรายได้จาก “ธุรกิจไฟฟ้า” 60% “ธุรกิจซอร์ฟแวร์” 20% “ธุรกิจโรงแรม” 15% และอื่นๆ 5% สำหรับเรื่องเงินลงทุนไม่ต้องห่วง เรามีกระแสเงินสด 2,200 ล้านบาท แถมยังมีช่องว่างในการกู้เงินอีกมาก”

มือขวาเจ้าของ อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ฯ ยังกล่าวถึงการลงทุนพลังงานทดแทนในต่างประเทศว่า เดือนเม.ยที่ผ่านมา ยังเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ญี่ปุ่น หลังเจรจาต่อรองกันมานานกว่า 6 เดือน ด้วยการซื้อใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement - PPA ) ต่อจากเจ้าของเก่าที่เป็นคนญี่ปุ่น จำนวน 20 เมกะวัตต์ 10 โครงการ เฉลี่ยโครงการละ 2 เมกะวัตต์ ตามแผนตั้งใจจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 1 เมกะวัตต์ต่อ 110-140 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของพื้นที่ของโครงการ 

โปรเจคนี้จะทยอยก่อสร้างเสร็จในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 แต่ทั้งโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2560 งานนี้สร้างผลตอบแทนจากการลงทุน เฉลี่ย 10-12%” 

ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างเจราซื้อใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในญี่ปุ่น ต่อจากเจ้าของเก่าเดิมที่ดำเนินธุรกิจพลังงานมากว่า 55 ปี อีกประมาณ 61 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปี 2559 ที่ผ่านมามีบริษัทพลังงานญี่ปุ่นหลายแห่งต้องการขายใบอนุญาต เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ทัน

หากไม่มีอะไรมาขวาง ไม่เกินปี 2560 จะมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 100 เมกะวัตต์ และในไทยอีก 100 เมกะวัตต์ วิธีการให้ได้มาซึ่งกำลังการผลิตใหม่ๆ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น คือ “ไล่ซื้อกิจการ” หรือไม่ก็ “รอทางการไทยเปิดประมูล” 

นโยบายสำคัญที่จะนำมาพิจารณาในการซื้อกิจการในไทย คือ ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)  ที่ 6.5 และ 8 บาทต่อหน่วย หรือจ่ายไฟเข้าระบบแล้วบางส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทที่ได้ใบอนุญาตพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ราย กำลังการผลิตเฉลี่ย 20 เมกะวัตต์ 

ซื้อกิจการในลักษณะนี้จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 14-15% เรื่องนี้น่าจะเคาะภายในไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 2559”

สิทธิชัย เล่าต่อว่า ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจาก“พลังงานลม” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทในเครือ “ไอวินด์” เชื่อว่า ภายในปี 2559 ต้องมีกำลังการผลิตใหม่เฉลี่ย 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตพลังงานลมเฉลี่ย 10 เมกะวัตต์ 

บริษัทจะเน้นเข้าลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น โมเดลการลงทุนจะคล้ายๆญี่ปุ่น คือ ซื้อใบอนุญาตมาแล้วก่อสร้างโครงการเอง ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน 80%

“หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะรับรู้รายได้ 100 เมกะวัตต์ ปลายปีนี้ เพราะเป็นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนอีก 200 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะรับรู้รายได้กลางปี 2561”

กำลังการผลิตใหม่ชุดแรกจะได้ข้อสรุป ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ประมาณ 50 เมกะวัตต์ ส่วนชุดที่สองจะเข้ามาปลายปี 2559 ล่าสุดมีความคืบหน้าในการเจรจาเกิน 50% โดยผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 10-12%

ส่วนการลงทุนพลังงานลมในไทย หากปลายปี 2559 รัฐบาลเปิดประมูลพลังงานลม 2,000 เมกะวัตต์ บริษัทหวังจะได้ชุดแรกมาครอบครอง 300 เมกะวัตต์ และอาจจ่ายไฟเข้าระบบได้ในช่วงปลายปี 2560 วันนี้บริษัทมีความพร้อมในแง่ของที่ตั้งโครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของไทย ขณะที่บางโครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

การลงทุนพลังงานลมในไทย จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 15-16% เพราะบางทำเลกำลังลมแรง สะท้อนผ่านตัวเลขรายได้ของบริษัทในไตรมาสแรก ซึ่งมีรายได้จากพลังงานลมเฉลี่ย 16 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ แต่ปี 2559 อาจรับรู้รายได้จากพลังงานลมเฉลี่ย 10-12 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เพราะคงไม่มีลมมรสุมแล้ว

ส่วนแผนงานพลังงานชีวมวล และพลังงานขยะ “สิทธิชัย” ตอบว่า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตชีวมวล 7.5 เมกะวัตต์ จำนวน 1 โครงการ ในจังหวัดลพบุรี คาดว่าจะรับรู้รายได้เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านบาท ตามแผนจะยื่นประมูลโครงการทางภาคใต้เพิ่มเติมอีกเฉลี่ย 20-30 เมกะวัตต์ หากผลประมูลออกมาผิดหวัง  “เราไม่ซีเรียส”

เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนหลายราย รวมถึงบริษัท ล้วนประสบปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบที่มีราคาแพง โดยเฉพาะ “ไม้สับ” (Woodchip) หลังมีผู้ประกอบการแห่ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนมาก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาไม้สับปรับตัวขึ้น จากตันละ 200 บาท เป็น 1,400 บาทต่อตัน ขณะที่ “ชานอ้อย” ขยับจากราคาไม่กี่ร้อยบาทต่อตันเป็น 1,200 บาทต่อตัน

จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ? เขากล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเกษตรพันธสัญญา หรือ  “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” โดยจะให้เกษตรกรปลูกไม้กระถินณรงค์ หรือไม้เบญจพรรณ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานชีวมวลมาจำหน่ายให้กับบริษัท แม้ต้องใช้เวลากว่าไม้จะโตพอนำมาใช้ได้ แต่ก็ต้องทำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทไม่สามารถวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทนได้ สมมุตินำกะลาปาล์มมาเป็นวัตถุดิบ ก็จะประสบปัญหาการตกค้างของยางจนทำให้เครื่องจักรได้รับความเสียหาย

วัตถุดิบที่มีอยู่ตอนนี้ เพียงพอต่อการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ฉะนั้นขอเน้นเรื่องการบริหารจัดการวัตถุดิบมากกว่าหากำลังการผลิตเพิ่มเติม เพราะวันนี้ยังสร้างกำไรจากการผลิตชีวมวลได้เพียง 2 ล้านบาทต่อเดือน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 5 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนแผนงานโรงไฟฟ้า “พลังงานขยะ” กำลังการผลิต 11 เมกะวัตต์ แต่จะขึ้นโรงไฟฟ้าแรกในจังหวัดชลบุรี 5 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรจากจีนและยุโรป คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้

"การลงทุนพลังงานขยะใช้เงินสูงมาก และคืนทุนช้าสุดๆ ฉะนั้นให้ทำคนเดียวคงไม่ไหวตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 3 ปี ปัจจุบันเราไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ เพราะเราเป็นเจ้าขอบ่อขยะชุมชนหลายแห่ง และยังไม่คิดเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานขยะ และชีวมวล เท่าที่มีอยู่ก็ปวดหัวจะแย่ (หัวเราะ) ขอเน้นพลังงานลมกับแดดไปก่อน สิ้นปี 2559 อยากมีกำลังการผลิต 100-150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นแดด 40 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นลม

@รุกพลังงานทดแทนกัมพูชา-เวียดนาม

ระหว่างสนทนากับซีอีโออินเตอร์ ฟาร์อิสท์ฯ “หมอวิชัย ถาวรวัฒนยงค์” เดินออกจากห้องประชุม มาเล่าแผนการลงทุนในกัมพูชาว่า เพิ่งปิดดีลลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ในกัมพูชา มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 85 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิตดังกล่าวจะเน้นจำหน่ายในกัมพูชาเป็นหลัก

“เงินที่ใช้ลงทุนในเขมร ถือว่าขยับขึ้น จากตัวเลขเดิมที่ตั้งไว้ 70 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ หลังราคาที่ดินปรับขึ้น 5 เท่า”

การลงทุนล็อตต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 คาดว่า จะได้เพิ่มเติมอีก 10 เมกะวัตต์ IFEC ถือเป็นบริษัทต่างชาติแห่งแรกที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานของกัมพูชา แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติยังเป็นเรื่องใหม่ของทางการกัมพูชา ฉะนั้นต้องวางแผนให้รอบคอบ

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต้องการมีกำลังการผลิตในกัมพูชาเฉลี่ย 200 เมกะวัตต์ สาเหตุที่สนใจลงทุน เนื่องจากค่าไฟมีราคาแพงกว่าเมืองไทยค่อนข้างมาก เพราะใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกัมพูชาเจริญมากเท่าไร ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าย่อมมากเท่านั้น ถือเป็นโอกาสในการลงทุน

นอกจากนั้น กำลังศึกษาพลังงานลม ในเวียดนาม แต่ขณะนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ เผยได้เพียงว่า ภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะบินไปเวียดนาม เพื่อคุยกับพันธมิตรรายที่ 4 หลังจากคุยไปแล้ว 3 ราย แต่ปิดดีลไม่ได้ เพราะติดปัญหาเล็กน้อย ขณะเดียวกันยังสนใจลงทุนพลังงานลมในบังกลาเทศ

แม้บริษัทจะมีโปรเจคมากมาย แต่นักลงทุนไม่ต้องห่วงเรื่องเงินลงทุน เพราะหากสามารถหาผู้ร่วมทุนได้ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี เมื่อถามว่าจะเพิ่มทุนอีกรอบหรือไม่ ? เขาตอบว่า ได้เตรียมดันธุรกิจโรงแรม และพลังงานลม ที่ดำเนินการผ่านบริษัท โรงแรมดาราเทวี และบริษัท ไอวินด์ ตามลำดับ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่คงต้องรอเคาะเรื่องที่ บริษัทโกลด์วิน ผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำของจีน มีแผนจะถือหุ้น10% ใน “ไอวินด์” ให้จบเสียก่อน

รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี แถมยังมีคอนเน็กชั่นที่ดีในแถบอาเซียน จุดเด่นเหล่านั้นทำให้เรามีเส่นห์ และแตกต่างจากคู่แข่ง

-------------------------------

ถอดความสวย ดาราเทวี

ปลายปี 2558 บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น แตกไลน์ไปสู่ “ธุรกิจโรงแรม” ด้วยการส่งบริษัทในเครือ ภายใต้ชื่อ “อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์” หรือ ICAP เข้าซื้อหุ้นสามัญของ “กลุ่มดาราเทวี เชียงใหม่” ประกอบด้วย บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด บริษัท เอ.พี.เค.ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท ดาราเทวี จำกัด รวมถึงซื้อภาระหนี้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง มูลค่าทั้งสิ้น 2,520 ล้านบาท

เมื่อสำรวจ จุดเด่น” ของ โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ จะพบว่า นอกจากตัวโรงแรมที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 155 ไร จำนวน 123 ห้อง จะถูกตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมการก่อสร้างล้านนาโบราณแล้ว ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของเบเกอรี่ โดยเฉพาะ “มาการอง ดาราเทวี” ปัจจุบันมี 2 สาขาในจังหวัดเชียงใหม่ และ1 สาขา ในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังโดดเด่นในเรื่องของ “สปาเพื่อสุขภาพ”

ก่อนโรงแรมอายุ 10 กว่าปีแห่งนี้จะตกเป็นของ “นายทุนคนใหม่” ที่มีอาชีพเป็นหมอรักษาโรคหัวใจ ประจำโรงพยาบาลพระราม9 เคยอยู่ภายใต้การดูแลของ “สุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล ในฐานะผู้บุกเบิก บริษัทอีซูซุหาดใหญ่ (ธุรกิจครอบครัว)

ด้วยความหลงใหลงานศิลปะล้านนาของภาคเหนือ บวกกับธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาการเงินจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2540 นักธุรกิจจากภาคใต้ (หาดใหญ่) ตัดสินใจถอนตัวออกจากกิจการครอบครัว เพื่อขึ้นมาทำธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่

การเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะชื่อดัง จากหลากหลายแขนงมารวมกันปรุงแต่งสถาปัตยกรรมแห่งนี้ บ่งบอกว่า เขาจริงจังกับงานชิ้นใหม่มากแค่ไหน

งานศิลปะที่ถูกผนวกเข้ากับโรงแรมอย่างลงตัวได้สร้างความตื่นตาให้กับเหล่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ สะท้อนผ่านการได้รับโหวตให้เป็นโรงแรมอันดับหนึ่งของไทยประจำปี 2557 โดย TripAdvisor (เว็ปไซด์แนะนำที่ท่องเที่ยวจากประสบการณ์เข้าพักจริงอันดับหนึ่งของโลก) ขณะที่โรงแรมชั้นนำอย่าง แมนดารินโอเรียนเต็ล กรุงเทพ ได้อันดับที่ 13

“สิทธิชัย” เล่าว่า โรงแรมแห่งนี้เข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2554 หลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการกู้เงินมาลงทุนก่อสร้างโรงแรม แต่ละปีต้องจ่ายค่าเสื่อมเฉลี่ย 200 ล้านบาท และดอกเบี้ยกว่า 100 ล้านบาท

แต่เมื่อมองลึกเข้าไปในสินทรัพย์ต่างๆ ภายในตัวโรงแรมจะพบว่า ที่ดิน 155 ไร่ หากประเมินราคาวันนี้ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เพราะอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 10-15 นาที และยังมีไม้สักแผ่นใหญ่มากถึง 100,000 ตารางเมตร มีต้นไม้สูงกว่า 30-40 เมตร 6,000 ต้น ยังไม่นับรวมงานศิลปะและสิ่งปลูกสร้างที่ประเมินค่าไม่ได้

ในช่วงที่โรงแรมดาราเทวีอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ บวกกับผู้ถือหุ้นไทยและจีนทะเลาะกัน ทำให้องค์กรหยุดการเติบโตชั่วคราว เมื่อต้องอยู่ในช่วงขาลงนานๆ เจ้าของเดิมคงรู้สึกเหนื่อยจึงนำดีลนี้มานำเสนอต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายมาหลายปีแล้ว แต่การขายไม่ประสบความสำเร็จ

สุดท้ายมาจบที่ IFEC โดยซีอีโอองค์กรแห่งนี้มองว่า การซื้อสินทรัพย์ที่มีภาระหนี้สินติดมาด้วยจำเป็นต้องใช้ฝีมืออย่างมาก 

“คิดตามนะซื้อกิจการมาเมื่อเดือนธ.ค.2558 แต่ภายในปีนี้จะนำโรงแรมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คุณว่าเร็วไหม ปัจจุบันโรงแรมเหลือภาระหนี้ 950 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท หลังเจ้าหนี้ยินยอมลดหนี้”

พร้อมแจกแจงว่า “ดีลนี้พวกเราทำอย่างรอบคอบ ก่อนจะพานักลงทุนรายใหญ่ไปทดลองพัก หลายคนประทับใจ ต่างเป็นพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งปลูกสร้างอลังการเช่นนี้ในเมืองไทยคงหาไม่ได้อีกแล้ว ที่สำคัญพนักงานได้รับอบรมมาอย่างดี ทั้งๆที่ไม่มีเชนจากต่างประเทศบริหารแล้ว มีเพียงเจ้าของเก่าที่ยังคงนั่งเป็นที่ปรึกษา

“สิทธิชัย” ยังยอมรับว่า มีแผนจะจับมือกับพันธมิตรรายหนึ่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้วยกัน โดยบริษัทจะถือหุ้น 49% ซึ่งพันธมิตรรายนี้มีความคุ้นเคยโรงแรมดาราเทวีเป็นอย่างดี เพราะในอดีตเคยเป็นผู้ออกแบบโรงแรมกับเจ้าของเก่า ที่สำคัญเขาศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว (ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวลือว่าจะจับมือกับ “ไรมอน แลนด์” แต่บริษัทได้ออกมาปฏิเสธ)

ตามแผนจะร่วมกันพัฒนาที่ดินเปล่า 40 ไร่ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จกลางปี 2561 แบ่งเป็น โรงแรมระดับ 6 ดาว 80 ห้อง คอนโดมิเนียม 4 อาคาร 200 ยูนิต และโครงการเรสซิเดนซ์ล้อมรอบสระน้ำขนาดใหญ่ หรือ pool resident 16 ยูนิต

เมื่อส่วนต่อขยายแล้วเสร็จจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านบาท

หลายคนเป็นห่วงเรื่องเงินลงทุน ขอบอกแบบนี้ดีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ขายที่ดิน 40 ไร่ มูลค่า 625 ล้านบาท ให้กับบริษัทร่วมทุน ฉะนั้นเราและพันธมิตรจะลงเงินอีกคนละ 300 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือจะนำมาจากการวางจองซื้อห้องของลูกค้า

“เตรียมผลักดัน โรงแรมดาราเทวี เข้าตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2560 ตอนนี้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว”

เรื่องเด่นที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 คือ โรงแรมดาราเทวี จะทำกำไรมาจาก 3 ส่วน คือ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 3,000 ล้านบาท 2.กำไรจากการขายทรัพย์สินในส่วนของวิลล่า 2 แห่ง 760 ล้านบาท 3.กำไรจากการขายที่ดิน 40 ไร่ 625 ล้านบาท และ4.กำไรจากการเข้าพักโรงแรม 100 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีผลขาดทุนจากการเข้าพักโรงแรม 130 ล้านบาท

ไตรมาสแรก โรงแรมดาราเทวีมีกำไรแล้ว 4 ล้านบาท ถือเป็นกำไรครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลายปีที่ผ่านมาโรงแรมมีผลขาดทุนเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท แต่หลังบริษัทเข้าบริหาร ได้ยืดระยะเวลาการตัดค่าเสื่อมออกไป จาก 15 ปี เป็น 30 ปี ทำให้มีภาระค่าเสื่อมลดลง จากปีละ 170 ล้านบาท เหลือ 80 ล้านบาท

ในแง่ของรายได้รวม ปีนี้อาจทำได้ที่ระดับ 650 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการเข้าพัก และรายได้จากห้องอาหารและบาร์ 7 ห้อง รวมถึงสปาเพื่อศูนย์สุขภาพเฉลี่ยสัดส่วน 50:50 หลังจากนี้วางเป้าหมายรายได้รวมของโรงแรมไว้ว่า ต้องขยายตัวเฉลี่ยปีละ 15-20% ซึ่งตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อพื้นที่ส่วนต่อขยายใหม่แล้วเสร็จ

“3-5 ปีข้างหน้า IFEC ต้องมีรายได้รวม 3,000-5,000 ล้านบาท