'ชาติชาย'เผยเวทีอบรม'ครู ข'เริ่มแล้ว

'ชาติชาย'เผยเวทีอบรม'ครู ข'เริ่มแล้ว

“ชาติชาย” เผยเวทีอบรม “ครู ข” เริ่มแล้ว พบคำถามปชช. สิทธิที่รัฐจัดให้จะหายหรือไม่

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กล่าวถึงการอบรมวิทยากรกระบวนการระดับอำเภอ (ครู ข) ทั่วประเทศ ใน 76 จังหวัด เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากวิทยากรฯ ระดับจังหวัด (ครู ก) ว่า การจัดเวทีวิทยากรฯ ระดับอำเภอนั้น สามารถเริ่มดำเนินการได้แล้ว และจะจัดไปจนถึงวันที่ 7 มิ.ย. นี้ โดยรูปแบบของการจัดเวทีดังกล่าวได้เป็นไปตามคำแนะนำของกรธ. ขณะที่กรธ. นั้นได้จัดตารางเพื่อร่วมชี้แจงและทำความเข้าใจในพื้นที่แต่ละจังหวัดแล้ว อย่างไรก็ตามมีบางจังหวัดที่ได้เริ่มเวทีอบรมวิทยากรฯ ระดับอำเภอ ไปบ้างแล้ว โดยเท่าที่ได้รับรายงานไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ขณะที่ความสนใจของประชาชนในพื้นที่ต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ นั้นพบว่าส่วนใหญ่จะตั้งคำถามในเรื่องสิทธิที่เคยได้ จะยังคงได้รับต่อไปหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติบังคับใช้หรือไม่ เช่น สิทธิรรักษาพยาบาลฟรี, เบี้ยผู้สูงอายุ, สิทธิในการเรียนฟรี เป็นต้น ซึ่งวิทยากรฯ ระดับจังหวัดได้ชี้แจงและยืนยันว่าสิทธิที่ประชาชนเคยได้ยังคงได้รับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการไม่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญในสิทธิที่ประชาชนเคยได้ ไม่ได้หมายความว่าสิทธิดังกล่าวจะหายไป ทั้งนี้ได้ขอให้วิทยากรฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า การเขียนหรือออกกฎหมายใด จะเท่ากับการห้ามดำเนินการ ดังนั้นหมายความว่าสิ่งใดที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนทุกสิทธิสามารถดำเนินการได้ ส่วนการจัดเวทีอบรมวิทยากรฯ ระดับอำเภอนั้น สื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ทุกเวที แต่ขอให้แจ้งกับผู้จัดงานให้รับทราบก่อนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ฐานะคณะทำงานติดตามเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีผู้บิดเบือน ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีเนื้อหากี่เรื่อง กี่ประเด็นที่ กรธ. จะส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบและวินิจฉัยในรายละเอียดว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามในบางประเด็นที่มีผู้วิจารณ์ในเนื้อหาที่มีลักษณะเข้าใจผิด เพราะอ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่ครบทั้งฉบับนั้น กรธ. จะใช้วิธีชี้แจงผ่านสาธารณะโดยอาจไม่ต้องส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณา เช่น ประเด็นเรื่องการศึกษาที่มีหลายคนพยายามแกล้งไม่เข้าใจ เรื่อง สิทธิเรียนฟรี ซึ่งกรธ. รวมถึงรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่า สิทธิเรียนฟรีที่ประชาชนจะได้รับหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 14 ปี นับตั้งแต่ช่วงเด็กเล็ก จำนวน 2 ปี, ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน หรือระดับอนุบาล จำนวน 3 ปี และ ช่วงการศึกษาภาคบังคับ คืบ ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวม 9 ปี ขณะที่รัฐบาลดำเนินการปัจจุบันยืนยันว่าจะไม่ตัดสิทธิเรียนฟรีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือระดับการศึกษาในสายอาชีพ ดังนั้นสิทธิที่เด็กจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาจากรัฐจึงไม่ได้ลดลงจากเดิม

“ตอนนี้มีคนเอาความไปบิดเบือนว่า ในบทบัญญัติบางอย่างของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องออกกฎหมายลูกรองรับ มีคนไปพูดว่า หากไม่ผ่านร่างรัฐธรมนูญฉบับลงประชามติ เขาจะไม่เขียนเนื้อหาในกฎหมายลูกไว้ให้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามทำนั้นเพื่อสร้างความกลัวและข่มขู่ประชาชน รวมถึงพยายามทำให้ประชาชนสับสนด้วย อย่างไรก็ตามในบางประเด็นที่มีผู้เข้าใจผิดเพราะอ่านเนื้อหาไม่ครบนั้น กรธ. ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือไปชี้แจงเป็นรายบุคคล แต่จะใช้การชี้แจงผ่านสื่อมวลชน” นายนรชิต กล่าว