'เสนีย์ ปราโมช' ในความทรงจำของ 'ชวน หลีกภัย'

'เสนีย์ ปราโมช' ในความทรงจำของ 'ชวน หลีกภัย'

"เสนีย์ ปราโมช" ในความทรงจำของ "ชวน หลีกภัย" ชี้แบบอย่างของการยึดหลักนิติธรรม

วันที่ 26 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ผู้เป็นทั้งนักกฎหมาย ,อาจารย์มหาวิทยาลัย, หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาแล้ว

โดยปีนี้ถือเป็นการครบรอบ111ปีของ ม.ร.ว. เสนีย์ ซึ่งทุกๆปีก็จะมีการกล่าวถึงประวัติการทำงานและคุณงามความดีของท่าน

สำหรับปีนี้ นาย ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เป็นทั้งลูกศิษย์และเคยร่วมงานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

ในช่วงเริ่มต้น อดีตนายกฯชวน ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์รั้วธรรมศาสตร์ถึงม.ร.ว.เสนีย์ว่า เวลาที่ ม.ร.ว. เสนีย์ บรรยายในห้องเรียนนั้น ฟังระรื่นหูแต่ฟังยากเพราะเสียงทุ้มต่ำ แต่ก็เป็นโชคดีของนักศึกษาเพราะท่านได้เขียนตำราไว้ให้เป็นคู่มือในการเรียนเป็นประโยชน์กับนักศึกษาที่ไม่มีเวลาฟังบรรยาย ซึ่งตำราเรียนกฎหมายในสมัยนั้นต้องถือว่าหายากมากซึ่งม.ร.วเสนีย์ ท่านเป็นครูที่มีความพร้อมในการสอนมากที่สุดคนหนึ่ง

โดยจุดเด่นอีกเรื่องของอาจารย์ท่านนี้ ก็คือ หลังจากที่หมดชั่วโมงการสอนแล้ว ท่านจะอยู่ต่อเพื่อถกปัญหากับนักศึกษาจนหมดคำถามที่จะถาม ด้วยความที่ท่านไม่ถือตัวและเป็นกันเองจึงทำให้ท่านเป็นที่รักของนศ.ที่เข้าเรียนวิชาของท่านอยู่เสมอ

ใน“วิสัยทัศน์”ของม.ร.ว.เสนีย์ สิ่งหนึ่งที่ท่านเชื่อมั่นและยึดถือก็คือ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยไม่มีข้อสงสัยหรือตำหนิติเตียน แม้ว่าการยึดถือตามหลักการนี้ จะทำให้ท่านต้องเจอปัญหามากมายหรือผิดหวังกับพฤติกรรมบุคคลอยู่หลายครั้ง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องของตัวระบบ

“แต่ถ้าย้อนกลับไปดูชีวิตการเมืองของท่านไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ท่านก็ยึดถือหลักการนี้ ยืนหยัดอธิบายเรื่องต่างๆในสภาฯตามวิถีีทางของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องแม้จะโดนคนอื่นวิจารณ์”

แบบอย่างของการยึดถือ“หลักการ”ของ ม.ร.ว.เสนีย์

อดีตนายกฯชวน เล่าต่อไปว่า ในช่วงของ “เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ” ขณะนั้นมีการชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งมีกระแสการกดดันของกลุ่มผู้ชุมนุม คือ การไล่จอมพลถนอม ออกนอกประเทศ

แต่ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ทำได้ จึงไม่สามารถอพยพให้คนไทยออกนอกประเทศและไม่ได้ห้ามคนไทยที่หนีไปต่างประเทศกลับเข้ามา แม้จะเป็นอาชญากรก็ตาม โดยสิ่งที่ห้ามได้อย่างเดียว คือ ห้ามคนไทยไม่ให้ออกไปต่างประเทศได้เท่านั้น ถ้าวันนั้นม.ร.ว.เสนีย์ ทำตามกระแสสังคมก็อาจจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นก็ได้ แต่ว่าท่านไม่ทำเพราะต้องยึดตามหลักรัฐธรรมนูญซึ่งเรื่องการยึด“หลักการ”แบบนี้ในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“พูดได้ว่าบ้านเมืองเราจะมีปัญหาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญคือผู้บริหารบ้านเมืองได้ยึดหลักนิติธรรมหรือไม่ ซึ่งปัญหาการยึดอำนาจ2ครั้งที่ผ่านมาก็เกิดจากการที่ผู้บริหารไม่ยึดหลักนิติธรรมตามแนวทางตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีที่มาจากระบอบนี้ก็ตามแต่ก็เดินออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย แก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ใช่หลักนิติธรรม ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหาตลอดมา”อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว

นายชวน ยังย้ำว่า ด้วยแนวทางการยึดหลักการเป็นที่มั่น ก็ได้ถ่ายทอดสู่นักการเมืองรุ่นของเรา จะเป็นยุคของตนหรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็ยึดหลักการนี้ซึ่งตอนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยพูดไว้ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักการนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ายึดถือไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรก็ตาม

หลักธรรมาภิบาลของการบริหารบ้านเมืองตามแบบ ม.ร.ว.เสนีย์

ด้วยความเชื่อที่เรายึดถือจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองภายใต้หลักธรรมาภิบาล 6ข้อ ซึ่งเป็นหลักของสากลและหนึ่งในนั้นคือ“หลักนิติธรรม” ซึ่งเป็นหลักที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ยึดถือตลอดมา จนปัจจุบันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าอย่างเหตุการณ์ในภาคใต้ที่มีความวุ่นวายก็เกิดจากการใช้วิธีการนอก "หลักนิติธรรม” เข้าแก้ปัญหา ซึ่งในเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่เมื่อ7เม.ย. 44นายกรัฐมนตรียุคนั้นมอบนโยบายว่าภายใน3เดือนปัญหาภาคใต้จะหมดไปและนโยบายนั่นคือการฆ่าทิ้ง ด้วยความเชื่อง่ายๆว่า หมู่บ้านนี้มีโจร1คนยิงทิ้งเสีย บ้านเมืองก็จะสงบ จึงกลายเป็นที่มาของกลุ่มRKKที่ก่อเหตุอยู่ทุกวันนี้และไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงเมื่อใด และนี่ก็เป็นตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่เชื่อมั่น“หลักนิติธรรม” กลายเป็นว่าประชาธิปไตยเป็นแค่เส้นทางเข้าสู่อำนาจเมื่อมีอำนาจแล้วก็เบนออกจากหลักประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี อดีตนายกฯท่านนี้ ยังกล่าวอีกว่า หลักธรรมาภิบาลอีกข้อที่ขอเสริมขึ้นมาเอง ก็คือ การห้ามเกรงใจกัน ยกตัวอย่างเรื่องของวัดธรรมกายที่เคยมีประเด็นมาแล้วในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีปัญหาเรื่องการยักยอกทรัพย์ ซึ่งตนเคยพูดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา อย่าไปแกล้งโดยขณะนั้นลูกศิษย์ของวัดธรรมกายก็ชื่นชมตนมากๆว่าเป็นคนที่มีความยุติธรรม

แต่ต่อมาผลสอบออกมาจนอัยการได้สั่งฟ้องพระธัมมชโย ซึ่งทางศิษย์วัดก็ได้ขอเจรจาให้ตนไปสั่งการอัยการอย่าฟ้องคดีนี้ ตนก็บอกว่าสั่งห้ามเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นของอัยการถ้าเขามีหลักฐานเพียงพอ จนในที่สุดลูกศิษย์ก็อาฆาต ซึ่งตนก็ถือว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกฝ่ายควรจะชื่นชม แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาก็สั่งกันว่าไม่ให้เลือกคนในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งในที่สุดแล้วสืบพยานกันไปเกือบ7ปีเต็ม แต่อัยการก็ถอนฟ้องโดยอ้างว่าพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินแล้ว นี่..ก็เป็นกระบวนการทางการเมืองที่เข้าไปแทรกจนอัยการเกรงใจฝ่ายการเมือง

“ผมก็ย้ำว่าสิ่งที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ให้แนวเอาไว้ ท่านทั้งสอนและปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่างใน“หลักนิติธรรม” จึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่มองวิสัยทัศน์ของท่านว่า ท่านมองปัญหาของหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คือ การไม่ยึดหลักตามนิติธรรม”

นายชวน ยังเล่าให้ฟัง อีกว่า ตอนที่ตนเองได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปีพ.ศ.2534 ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ได้ให้กำลังใจและให้ข้อแนะนำ และการทำงานของเราได้ยึดแนวตามที่ท่านปฏิบัติและในขณะที่ตนเป็นรมว.กลาโหม ก็มีงบราชการลับแต่เมื่อใช้งบเสร็จแล้ว เหลือเท่าไหร่ตนก็คืนหมดเป็นจำนวนหลายล้านบาท

"มีหลายคนถามผมว่าเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไร ไม่ให้โดนปฏิวัติ ผมก็ตอบไปว่าผมไม่สร้างเงื่อนไข ยึดแนวของ ม.ร.ว.เสนีย์ สุจริต ซื่อตรง นอกจากไม่โกงแล้ว แม้สิ่งนั้นเป็นสิทธิ์ที่จะเอาได้ก็ไม่เอา ผมเชื่อมั่นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดมั่นใน“หลักนิติธรรม”นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วและเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งหลายจะต้องยึดมั่นอย่างนี้ต่อไปในวันข้างหน้าซึ่งเราไม่รู้อนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร”

เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของอดีตนายกรัฐมนตรี “ชวน หลีกภัย ” ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ถูกตั้งฉายาว่า“จอมหลักการ”