ยอดจัดเก็บรายได้รัฐ 7 เดือนแรกสูงกว่าคาด 6%

ยอดจัดเก็บรายได้รัฐ 7 เดือนแรกสูงกว่าคาด 6%

"กระทรวงคลัง" เผย ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 1,247,907 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6% หลังเงินค่าใบอนุญาต 4G หนุน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – เมษายน 2559) จัดเก็บได้ 1,247,907 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 70,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.7 โดยสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวน 48,242 ล้านบาท

นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 16,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเบียร์ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 6,945 6,340 และ 5,294 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 12.7 และ 9.7 ตามลำดับ

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ยังคงสูงกว่าประมาณการ โดยในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2559 กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 847,108 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 38,920 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.3)

2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 305,960 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,809 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.2)

3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 66,651 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,349 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.7)

4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 84,980 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.7)

5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 163,119 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 74,208 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 61.2)

6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 161,717 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,604 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5

7. อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 6,329 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 929 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.2

8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 8,339 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.1

9. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 8,646 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 571 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2

10. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 34,880 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ