'BAY'มั่นใจพอร์ตสินเชื่อรายย่อยปีนี้แตะ 1.32 แสนลบ.

'BAY'มั่นใจพอร์ตสินเชื่อรายย่อยปีนี้แตะ 1.32 แสนลบ.

"กรุงศรี" มั่นใจพอร์ตสินเชื่อรายย่อยสิ้นปีนี้แตะ 1.32 แสนลบ. จากสิ้นเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.28 แสนลบ. เผยแนวโน้ม NPL ลดลงต่อเนื่อง

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอมซูเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงกิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารมั่นใจพอร์ตสินเชื่อรายย่อยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.31-1.32 แสนล้านบาท จากสิ้นเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.28 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโตปีนี้ที่ 12-13% จากสิ้นเดือน เม.ย.เติบโตแล้ว 11% ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 5% ณ สิ้นเดือน เม.ย.ยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

"ในเดือน เม.ย.การจับจ่ายใช้สอยยังไม่เติบโต แต่ในเดือนพ.ค.เราเริ่มเห็นประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่อน 0% เช่น กล้อง มือถือ แต่ที่มีการเติบโตมากคือแอร์เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ แต่ในเดือน มิ.ย.ธนาคารยังต้องติดตามอยู่ว่าจะเติบโตเหมือนเดือน พ.ค.หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ปีนี้ไม่น่าจะพลาดเป้า"

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรายย่อย แบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.4% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.2-3.3% ซึ่งแนวโน้ม NPL มีการลดลงอย่างต่อเนื่องหรือประมาณ 0.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งสิ้นปีนี้ธนาคารจะสามารถควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับดังกล่าวหรืออาจจะลดลง เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าที่มีรายได้ประจำอยู่ที่ 85% และลูกค้าที่ประกอบธุรกิจขนาดย่อมอยู่ที่ 15% ซึ่ง NPL ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มดังกล่าว ทำให้ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับธนาคารมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวน NPL ไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนในระบบ

"NPL ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและเราเชื่อว่ามันได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วทำให้มั่นใจว่าปีนี้เราจะสามารถควบคุม NPL ไม่ให้ขยับขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรแต่ภาครัฐได้มีการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย โดยปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเราเติบโตขึ้นได้คือการลงทุนของภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณ ยังไม่รวมการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดีอยู่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ยังกังวลอยู่คือภัยแล้งที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรผลผลิตน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเกษตรกร"