ศุลกากรจับลักลอบขนส้มสำแดงสินค้าเท็จ เสียหายกว่า 4 ล้านบาท

ศุลกากรจับลักลอบขนส้มสำแดงสินค้าเท็จ เสียหายกว่า 4 ล้านบาท

กรมศุลกากร จับกุมสองบริษัทนำเข้าส้มผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ระบุว่ามาจากจีน แต่มาจากสเปน ซึ่งเป็นการสำแดงเท็จ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวจับกุมห้างหุ้นส่วนจำกัด ไนน์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ เทรดดิ้งและบริษัท วัชมนฟู้ด จำกัด หลังทั้งสองบริษัทนำส้มเข้าประเทศไทย โดยเรือผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งระบุว่าเป็นส้มที่มาจากฮ่องกง ประเทศจีน แต่แท้จริงแล้วมาจากประเทศสเปนและอียิปต์ จึงเป็นการสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4 ล้านบาท

นายกุลิศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17-18 พ.ค. ศุลกากรร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรทางท่าเรือแหลมฉบัง ตามใบขนสินค้าขาเข้า โดยรายที่ 1 คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไนน์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ เทรดดิ้ง นำเข้าโดยเรือ KUO CHIA เที่ยววันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ระบุสินค้าเป็น ส้ม บรรทุกมาจากฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประเทศไทย ทางท่าเรือแหลมฉบัง จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A01705905 02143สำแดงสินค้าจำนวน 1 รายการ เป็น "ส้ม เฟรชแมนดาริน (FRESH MANDARIN)" ประเทศกำเนิด ประเทศจีน ( CHINA) น้ำหนัก 20,800 กิโลกรัม ราคาสินค้า 486,912.07 บาท โดย ใช้สิทธิการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน แต่เมื่อตรวจสอบพบเป็นส้ม ชนิดและน้ำหนักตรงกับที่สำแดง แต่ข้างกล่องบรรจุส้มมีร่องรอยการดึงสติกเกอร์ที่ระบุ Origin ESPANA (ประเทศสเปน) ออกและติดทับด้วยสติกเกอร์ระบุ โปรดัก ออฟ ไชน่า ( Product of CHINA) แทน

"ส่วนรายที่ 2 เป็น บริษัท วัชมนฟู้ด จำกัด นำสินค้าระบุเป็นส้ม บรรทุกมาจากฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประเทศไทย ทางท่าเรือแหลมฉบัง จัดทำใบขนสินค้าขาเข้า 4 ฉบับ สำแดงสินค้าจำนวน 1 รายการ เป็น "ส้ม โนเวล ออเร้นจ์ (NAVEL ORANGE)” ประเทศกำเนิด ประเทศจีน (CHINA) น้ำหนัก 24,000 กิโลกรัม ราคาสินค้า 562,384 บาท ใช้สิทธิการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Form E) เช่นเดียวกันทั้ง 4 ฉบับ ตรวจสอบรายละเอียดหีบห่อสินค้า ระบุยี่ห้อ "SOLEA" ข้างกล่องติดสติกเกอร์สีขาวระบุข้อความ "Origin: Egypt" คือนำเข้าจากประเทศอียิปต์

นายกุลิส กล่าวอีกว่า ทั้งสองกรณีเป็นการหลบเลี่ยงภาษี เนื่องจากหากสำแดงว่าสินค้ามาจากประเทศสเปนและประเทศอียิปต์นั้น จะต้องจ่ายภาษีเป็นราคากว่า 60เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า แต่หากระบุว่ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นการตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนนั้น ก็ได้รับการยกเว้น การกระทำดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียการค้ากว่า 4ล้านบาท ทั้งนี้ก่อนหน้าศุลกากรสามารถจับกุมผู้นำเข้าองุ่นจากประเทศอเมริกา แต่สำแดงเท็จว่านำเข้ามาจากจีน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีเช่นกัน โดยขณะนี้เป็นช่วงการนำผลไม้เข้าประเทศจำนวนมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องเอ็กซเรย์และตรวจสอบภายในหีบห่อที่บรรจุสินค้าอย่างละเอียดเพื่อป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพบว่าสินค้าดังกล่าวยังไม่ผ่านการตรวจสอบโรคพืช ตามพ.ร.บ.กักพืช จึงต้องแจ้งข้อหาดังกล่าวด้วย

เบื้องต้นแจ้งข้อหาทั้ง 2 บริษัทเป็นการสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดและอากร ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร และสินค้าดังกล่าวเป็นของต้องห้ามในการนำเข้าตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และเป็นการฉ้อฉลการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ภายใต้ FTA (อาเซียน-จีน) ก่อนยึดของกลางส่งกรมศุลกากรดำเนินการตามกฎหมายต่อไป