อธิการบดีคนใหม่ ตั้งเป้าผลักดันจุฬาฯ สู่มหา'ลัยระดับโลก

อธิการบดีคนใหม่ ตั้งเป้าผลักดันจุฬาฯ สู่มหา'ลัยระดับโลก

“บัณฑิต” อธิการบดีคนใหม่ จุฬาฯ เผยวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าผลักดันจุฬาฯ สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก มุ่งผลิตองค์ความรู้-นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีอธิการปติประทานการ เนื่องในโอกาสที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีจุฬาฯ คนที่17โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยผู้แทนองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ รวมถึงบุคลากรจากคณะต่างๆ เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

ศ.กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาฯ กล่าวว่าพิธีการดังกล่าว เป็นการจัดขึ้นครั้งที่4ซึ่งเป็นการส่งมอบงานจาก ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ คนเก่าไปยัง ศ.ดร.บัณฑิต อธิการบดีคนใหม่ โดยหลังจากวันนี้ไป ศ.ดร.บัณฑิต จะต้องทำงานบริหารการจัดการศึกษาอย่างหนักมากขึ้น เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต โลกมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องไปหลบซ่อนอยู่ในมือถือ แต่ทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปหมด

 ขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ ยังเหมือนเดิม ยังเป็นคนรุ่นเก่า ดังนั้น จึงถือเป็นภาระความรับผิดชอบที่อธิการบดีคนใหม่ต้องเผชิญ และขับเคลื่อนงานของจุฬาฯ ไปให้ถูกทิศทางและอยู่รอดได้ไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตเป็นอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพลังของผู้บริหาร บุคลากรเจ้าหน้าที่ นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่า จะทำให้จุฬาฯขับเคลื่อน สนับสนุนงานอธิการบดีคนใหม่ได้ ทั้งนี้ ในวันที่26พ.ค.ซึ่งเป็นการประชุมสภามหาวิทยาลัย ที่มีศ.ดร.บัณฑิต อธิการบดีเข้าร่วมเป็นนัดแรก โดยอธิการบดีจะต้องนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน รวมถึงการแต่งตั้งทีมผู้บริหาร และนโยบายต่างๆ ที่มีความชัดเจนให้สภาจุฬาฯรับทราบ ก่อนนำไปสู่การดำเนินงานต่อไป

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่าสำหรับวิสัยทัศน์ นโยบายในการบริหารงานของตนนั้น จุฬาฯจะเป็นมหาวิทยาลัยในระดับโลกที่ผลิตองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ดังนั้น มิติของจุฬาฯจะมองสังคมไทยและภูมิภาคนี้เป็นตัวตั้งต้น ใช้เป็นจุดเชื่อมโยงสู่สังคมโลก ซึ่งการจะไปเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติได้นั้น ความเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับสังคมไทยต้องแข็งแกร่งก่อน สิ่งที่จะทำต่อจากไปนี้ นอกเหนือจากการเรียนการสอน และการวิจัยในภาวะปกติ ยังมุ่งเน้นและเสริทมในส่วนที่ทำให้จุฬาฯ ใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันส่วนที่จะใช้องค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และสร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่สังคมไทย ซึ่งทรัพย์สินที่จุฬาฯ มีอยู่จะไม่ได้ดูเฉพาะการค้าเพียงอย่างเดียว แต่จะนำทรัพย์สินเล่านั้นมาใช้เป็นจุดเชื่อม นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในจุฬาฯ ผสมกับความแข็งแกร่งของจุฬาฯและลูกศิษย์ นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ สิ่งของ และสิ่งต่างๆ ให้สังคมไทยได้ใช้ต่อไป

“หากมองดูในบริบทโลก วันนี้เป็นเรื่องของหลายชาติและหลายประเทศที่อยากมีมหาวิทยาลันที่ติดอันดับโลก ซึ่งการจะเป็นมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญ คือ การมีคนเก่งมีจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศแต่สามารถดึงคนเก่งมาจากทั่วโลกให้มาทำงานได้ รวมถึงการมีน้ำเลี้ยงเป็นสินทรัพย์หรือทรัพย์สินที่จะไปหล่อเลี้ยงให้คนเก่งได้ไปใช้ฝีมืออย่างเต็มที่ และสำคัญที่สุด การจะไปเป็นมหาวิทยาลัยในสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ต้องมีการขับเคลื่อนและตอบแทนให้กับสังคมไทยด้วย” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว