'ไอลอว์' นำทีมร้อง กม.ประชามติ จำกัดสิทธิปชช.

'ไอลอว์' นำทีมร้อง กม.ประชามติ จำกัดสิทธิปชช.

“จอน อึ๊งภากรณ์” นำทีมนักวิชาการ ร้องผู้ตรวจฯ ให้ศาลรธน.ตีความ ม.61 พ.ร.บ.ประชามติ จำกัดสิทธิปชช.

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ร่วมเป็นตัวแทนนักวิชาการกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว และปลุกระดม" ซึ่งไม่เคยมีอยู่ในนิยามของกฎหมายใดมาก่อน

โดยนายจอน กล่าวว่า ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างไรจะผิดกฎหมาย การที่กำหนดห้ามใช้ถ้อยคำที่หยาบคายนั้น ก็เห็นว่าแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร อีกทั้งบทกำหนดโทษก็มีความรุนแรงจนเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี นั้นเทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 นอกจากนั้นในทางปฏิบัติยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายอย่างกว้าง มีการจับกุมโดยไม่ได้ระบุเหตุผลให้แน่ชัดว่าขัดต่อกฎหมายอย่างไร

ทั้งที่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ บรรยากาศของสังคมที่เปิดกว้างสำหรับการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในหมู่ประชาชน เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้เข้าใจข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก่อนร่วมกันลงเสียงประชามติ แต่การที่กฎหมายดังกล่าวมีบทกำหนดโทษสูงทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าสื่อสารข้อมูลฝ่ายเดียว การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้จะส่งผลให้การทำประชามมติสูญเสียความชอบธรรม

"การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาจะล้มการทำประชามติ แต่ตรงกันข้ามคือเราต้องการที่จะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ในการทำประชามติครั้งนี้ เพราะมองว่ามาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนเกร็งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขัดหลักการการความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ ที่ถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคีจึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย" นายจอน กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตนกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยขึ้นมาอีก ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้การทำประชามติจะเป็นเรื่องที่ดีในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป้าหมายการทำประชามติ ก็เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บรรยากาศของสังคมจึงต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่สังคมในความเงียบ ประชาชนไม่อยากพูดความจริง ทั้งที่กระบวนการทำประชามติคือการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงควรเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น เปิดกว้างให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล ทั้งนี้การที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่เกี่ยวกับตัวรัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)แต่เป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากไม่รับก็ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลและ คสช.มากกว่า รัฐธรรมนูญยังมีเนื้อหาที่จะต้องปรับแก้ อย่าไปติดกับดักคู่ตรงข้ามว่าหากรับแล้วเป็นพวกรัฐบาล หากไม่รับเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ขณะที่นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะหากสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ไม่มีการแสดงความคิดเห็น ไม่มีการรณรงค์ ประชาชนก็จะไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจภาษากฎหมาย