'ธีรชัย'แนะไทยปรับปรุงการเก็บภาษี แก้ปัญหาฟอกเงิน

'ธีรชัย'แนะไทยปรับปรุงการเก็บภาษี แก้ปัญหาฟอกเงิน

“ธีรชัย” ชี้ปัญหาฟอกเงิน นับวันมีแต่จะใหญ่ขึ้น แนะไทยต้องปรับปรุงการเก็บภาษี บังคับคนไทยที่มีธุรกรรมในศูนย์การเงิน ต้องแจ้งข้อมูลต่อป.ป.ช.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีการจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “เอกสารลับปานามา เพื่อความโปร่งใส คุณธรรม และจริยธรรม” โดยมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน

นายวิชา กล่าวว่าหลังมีการเปิดตัวเอกสารลับ เราในฐานะเป็นองค์กรต่อต้านการทุจริต ต้องทำอะไรมากกว่าติดตามดู เราควรแสดงความกระตือรือร้นสนใจ มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองเราควรมีบทเรียนตรงนี้ นอกจากการตรวจสอบภาษี จริยธรรมควรมีอะไรเพิ่มอีกบ้าง

หลังจากนั้น มีการบรรยายพิเศษโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง เรื่อง “เอกสารลับปานามากับวิกฤติการเงินการคลังของไทย” ตอนหนึ่งว่าจุดเด่นของศูนย์การเงินอยู่ตรงที่ไม่ต้องมีการเสียภาษีให้แก่ศูนย์การเงินนั้น ไม่ว่ารายได้นั้นเกิดขึ้นที่ใดในโลก และโดยปกติศูนย์การเงินจะไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของบริษัท รวมทั้งจะไม่บังคับให้บริษัทต้องยื่นงบดุลบัญชีประจำปี จึงทำให้ศูนย์การเงินเหล่านี้มีภาพพจน์เป็นลบ บางคนเรียกเป็นแหล่งฟอกเงินหรือหนีภาษีจึงมีการตั้งคำถามว่าการใช้บริการศูนย์ให้บริการการเงินนี้ถูกต้องหรือไม่

นายธีระชัย กล่าวว่า การใช้ศูนย์การเงินที่ไม่เป็นทางค้าปกติ เป็นจุดบ่อนทำลายการเงินการคลังของทุกประเทศ รวมไปถึงปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรม เช่นการเลี่ยงภาษีการฟอกเงิน บางรายใช้บริษัทศูนย์การเงินเพื่อรับเงินผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ การก่อการร้าย การรับเงินสินบนใต้โต๊ะการตกแต่งบัญชี ซึ่งการตกแต่งบัญชีโดยใช้บริษัทศูนย์การเงินนั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐฯในกรณีของบริษัทEnronกับในประเทศอิตาลีในกรณีของบริษัทParmalatทั้งสองกรณีใช้บริษัทลูกในศูนย์การเงินหลอกว่าบริษัทแม่มีกำไรเพื่อปั่นราคาหุ้นการโกงเจ้าหนี้ กรณีของการโกงเจ้าหนี้นั้น อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการแยกและโอนทรัพย์สินที่มีค่า เอาไปเก็บไว้ในบริษัทศูนย์การเงิน เพื่อมิให้เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ยังไม่เคยเจอการโกงเจ้าหนี้โดยใช้บริษัทในศูนย์การเงินแบบนี้

“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเสียงเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบการเลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน และส่วนราชการก็แถลงข่าวว่าจะขอข้อมูลจากหน่วยงานเดียวกันในประเทศต่างๆ แต่ผมคาดว่าจะไม่ได้ข้อมูลมากนัก เพราะประเทศศูนย์การเงินจะไม่ให้ความร่วมมือ ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเปิดบัญชีแบงก์ในฮ่องกงหรือสิงค์โปร์ แต่ตามข้อตกลงระหว่างประเทศจะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อปรากฏหลักฐานเบื้องต้นแล้วว่ามีการกระทำความผิด แต่สำหรับการขอข้อมูลในลักษณะทอดแห เพื่อรวบรวมมาใช้วิเคราะห์วิจัยไปเรื่อยๆนั้น จะไม่ได้รับความร่วมมือ ท้ายสุดประเทศไทยจึงต้องมีการกำหนดนโยบายเรื่องนี้ใหม่ คือ ไม่ควรรอให้มีแรงกดดันในระดับนานาชาติก่อน เหตุผลคือ คนไทยส่วนใหญ่ ใช้ศูนย์การเงินไม่เป็นทางค้าปกติ เพราะ ธุรกิจไทยยังไม่มีบริษัทลูกที่เสี่ยงระดับโลกอย่างกรณีใยหิน ที่จำเป็นจะต้องไปใช้ศูนย์การเงิน โครงการในไทยที่คนไทยร่วมลงทุนกับต่างชาติก็สามารถจัดตั้งบริษัทในไทยได้สะดวก เพราะระบบกฎหมายไทยเป็นสากลมากพอธุรกิจกองทุนรวมที่เสนอขายนักลงทุนในต่างประเทศก็ยังไม่ค่อยมี และ คนไทยที่มีรายได้ที่เกิดในต่างประเทศแท้จริงนั้นมีน้อย ดังนั้น การทำธุรกิจทางค้าปกติของคนไทยส่วนใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องไปจัดตั้งบริษัทศูนย์การเงิน ยกเว้นเฉพาะการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ การรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ และการถืออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นส่วนน้อย”

นายธีระชัย กล่าวว่า หากพบคนไทยจัดตั้งบริษัทศูนย์การเงิน เพื่อเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยกันเอง เพื่อควบคุมกิจการธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ภายในประเทศไทย เพื่อถือกรรมสิทธิ์หลักทรัพย์ภายในประเทศไทย หรือ เพื่อถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศไทย วัตถุประสงค์เหล่านี้ ไม่ใช่ทางค้าปกติ เพราะใช้วิธีจัดตั้งบริษัทในประเทศได้อย่างสะดวกอยู่แล้ว จึงต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน

“ศูนย์การเงินเป็นหลุมดำทางข้อมูล ประเทศศูนย์การเงินจะไม่ยินยอมให้ข้อมูลแก่ทางการของประเทศอื่นโดยง่าย เพราะจุดขายของศูนย์การเงินคือการรักษาความลับ และส่วนใหญ่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ดังนั้น ทางการไทยจะไม่สามารถหาคำตอบที่จริงจังได้เพราะมีหลุมดำทางข้อมูล ในอนาคตเมื่อไทยค้าขายข้ามพรมแดนกับอาเซียนและประเทศอื่นๆ มากขึ้น การทำกิจกรรมในศูนย์การเงินจึงมีแนวโน้มจะมากขึ้นตามไปด้วย และปัญหาหลุมดำนี้นับวันมีแต่จะใหญ่ขึ้น และเป็นช่องโหว่ที่จะฟอกเงินหรือการทุจริตจะใหญ่ขึ้นเป็นเงาตามตัว ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะคิดปรับปรุงวิธีกำกับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องทำอย่างน้อยสองอย่าง 1. ต้องทบทวนปรัชญาการเก็บภาษี ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนกติกาให้เป็นไปตามประเทศพัฒนาแล้ว คือให้รัฐบาลเก็บภาษีบุคคลที่อาศัยอยู่ในไทย จากรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เว้นแต่ถ้าปีใดบุคคลนั้นพำนักอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่าเวลาที่กำหนด 2. ต้องแก้ปัญหาหลุมดำของข้อมูล ต้องใช้วิธีบังคับข้อมูลผ่านคนไทยกันเอง อย่างน้อย เช่น ข้อมูลสำหรับผู้ที่ยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. บุคคลที่อยู่ในข่ายต้องยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หากผู้ใดมีหุ้นอยู่ในบริษัทในศูนย์การเงิน ต่อไปต้องกำหนดให้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทนั้นต่อ ป.ป.ช.ทุกปี โดยให้แสดงข้อมูลเจ้าของที่แท้จริง การรับเงิน และการจ่ายเงินในบริษัทนั้นว่า รับจากใคร จ่ายให้ใคร เพื่อเหตุใด ส่วนบุคคลทั่วไปต้องมีการออกกฎหมายเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เพื่อบังคับให้คนไทยที่มีบัญชีแบงก์ในต่างประเทศต้องยื่นข้อมูลต่อทางการไทยทุกปีที่ศูนย์การปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินที่อาจจะจัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องครอบคลุมคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองหรือบุคคลที่อยู่ในข่ายของ ป.ป.ช.”นายธีระชัย กล่าว